16 ม.ค. 2022 เวลา 04:59 • ปรัชญา
ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อชา สุภัทโท
วันนี้วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๕ เป็นวันครู และตรงกับวันคล้ายวันมรณภาพของพระโพธิญาณเถร หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี รำลึก ๓๐ ปี อาจาริยบูชาคุณ “พระอริยสงฆ์ผู้เป็นดั่งครูผู้ให้ร่มเงาแก่ศิษย์” แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ก้าวล่วงความสงสัยในนิกาย คือ ท่านไม่ได้ญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต ปี พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงพ่อชา เดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่สำนักหนองผือนาใน จ.สกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่น เทศน์สั้น ๆ ว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง" ในคืนที่ ๒ ท่านพระอาจารย์มั่น ได้แสดงปกิณกธรรมต่าง ๆ จนจึงท่านคลายความสงสัย มีความรู้ลึกซึ้ง จิตหยั่งสู่สมาธิ เกิดปีติ เหมือนตัวลอยอยู่บนอาสนะ นั่งฟังจนเที่ยงคืน
หลวงพ่อชา ท่านพักสำนักท่านพระอาจารย์มั่น ได้ไม่นานนัก แต่ท่านพอใจในรสพระธรรมที่ได้ดื่มด่ำเป็นอย่างยิ่ง ท่านเทียบว่า"คนตาดีพบดวงไฟก็มองเห็นแสงสว่าง ส่วนคนตาบอดถึงจะนั่งเฝ้าดวงไฟ ก็ไม่เห็นอะไร หลังกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น และศรัทธาท่านแกร่งกล้าขึ้น พร้อมเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร เพราะแนวปฏิบัติชัดเจนขึ้น จากนั้น ท่านธุดงค์รอนแรมภาวนาตามป่าเขา ไม่ว่าอยู่ที่ใด มีความรู้สึกว่าท่านพระอาจารย์มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำอยู่เสมอ ท่านออกธุดงค์ผจญภัยอันตรายต่าง ๆ เป็นไข้ป่ามาลาเรีย ไม่มียารักษาโรค ต้องอาศัยธรรมโอสถช่วยเหลือตนเอง ยอมเป็น ยอมตาย จนจิตใจของท่านกล้าแกร่ง จิตมีธรรมเป็นที่พึ่ง
เหตุการณ์ การบรรลุคุณธรรม ครั้งนึงหลวงพ่อชา ท่านพาลูกศิษย์เดินธุดงค์ไป อ.บ้านแพง จ.นครพนม ได้ขึ้นภูลังกาเพื่อกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร หลังสนทนาแล้ว หลวงพ่อชา ท่านเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น ท่านพักอยู่ภูลังกา ๓ วัน จึงลงมาถึงวัดหนึ่งที่เชิงเขา ขณะนั้นฝนตก จึงได้หลบฝนเข้าไปนั่งใต้ถุนศาลา จิตกำลังพิจารณาธรรมอยู่ ทันใดนั้น จิตก็ตั้งมั่นขึ้นแล้วเปลี่ยนไปเหมือนอยู่คนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมด เหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบัง แสงแดดก็วาบหายไป เปลี่ยนขณะจิตไปวาบ ๆ ตั้งขึ้นมาก็เปลี่ยนวาบ เห็นขวด ก็ไม่ใช่ขวด ดูแล้วไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่ขวดแท้ ไม่ใช่กระโถนแท้ ท่านน้อมเข้ามาหาตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายไม่ใช่ของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างมันล้วนแต่ของสมมุติเท่านั้น
หลวงพ่อชา ท่านเป็นผู้ทรงธรรม เก่งเทศนาโวหาร และการเปรียบเปรย ข้อธรรมของท่านชวนให้คนได้คิดเสมอ มีสติปัญญาว่องไว ดัดนิสัยสานุศิษย์ได้ฉับพลัน มีบุญบารมีมาก หลวงพ่อชา ท่านมีความสามารถในการสอนธรรมให้ชาวต่างชาติ มีศิษย์ต่างชาติจำนวนมาก มีวัดสาขาทั้งในและต่างประเทศ มีกฎระเบียบจากวัดหนองป่าพง เป็นต้นแบบทุกสาขาทั่วโลก
ประวัติหลวงพ่อชา สุภัทโทนั้น เป็นที่น่าศึกษาค้นคว้าเอาเป็นแบบอย่างยิ่งนัก และมีอยู่หลาย ๆ เรื่องมากมาย ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “อุปลมณี” แต่จะขอเล่าย่นย่อยกมาเฉพาะช่วงที่หลวงพ่อชา ท่านได้ไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ดังนี้ครับ
หลวงพ่อชา ถือกำเนิด ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ณ บ้านก่อ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีท่านมีนิสัยโน้มเอียงในทางธรรมตั้งแต่วัยเด็ก กลัวบาป เป็นคนซื่อสัตย์ ไม่โกหก รักความยุติธรรม เกลียดความอยุติธรรม ชอบเล่นแต่งตัวเป็นพระ พอใจภูมิใจที่ได้แสดงเป็นพระ ยินดีในผ้ากาสาวพัสตร์ และเพศพรหมจรรย์ ท่านบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ ท่านปฏิบัติครูอาจารย์อยู่ ๓ ปี และได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา
ท่านได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. ณ วัดก่อใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พรรษาที่ ๑-๒ สอบนักธรรมชั้นตรีได้ โยมพ่อมักจะบอกว่า "อย่าลาสิกขานะลูก อยู่เป็นพระอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้" หลัง
อุปสมบทแล้ว ท่านได้ออกวิเวกแสวงหาครูบาอาจารย์ จนปี พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงพ่อชา ท่านได้มาศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ใหญ่ สายพระกัมมัฏฐาน หลวงพ่อชา สุภัทโท พบท่านพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้ฝากเป็นศิษย์ท่าน และได้แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรมวินัย ดังเรื่องราวที่หลวงปู่ชาได้เล่าถ่ายทอดให้พระเณรได้ฟังต่อไปนี้...
ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อชาได้ฟังเรื่องราวของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จาก โยมคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปนมัสการหลวงปู่มั่นที่สำนักวัดป่าหนองผือนาใน ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และได้เกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่น และตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาแนวทางการปฏิบัติจากท่านหลวงปู่มั่น
เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อชากับคณะพระภาคกลางรวมกันสี่รูป จึงออกเดินทางย้อนกลับมาที่อุบลราชธานี พักอยู่ที่วัดก่อนอกระยะหนึ่ง แล้วจาริกธุดงค์มุ่งหน้าไปจังหวัดสกลนครเพื่อไปยังเสนาสนะวัดป่าหนองผือนาใน จังหวัดสกลนคร เพื่อรับการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่น
ระหว่างการเดินทางไปสำนักหลวงปู่มั่น ได้แวะสนทนาและศึกษาตามสำนักต่าง ๆ ที่ จาริกผ่านไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ และเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติของแต่ละสำนัก การเดินทางครั้งนั้น ผู้ร่วมทางบางคนในคณะเกิดท้อถอย เพราะมีความเหน็ดเหนื่อย และยากลำบากมาก ต้องเดินลัดเลาะป่าเขา เดินตามทางเกวียนประกอบกับเป็นผู้ไม่คุ้นเคยต่อการเดินทางไกลนัก พระบางรูปจึงขอแยกทางกลับคืนถิ่นเดิม หลวงพ่อกับพระอีกสองรูปที่ไม่เลิกล้มความตั้งใจ ได้ออกเดินทางต่อ ในที่สุดก็ถึงสำนักของ หลวงปู่มั่น เสนาสนะวัดป่าหนองผือนาใน
ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่สำนักป่าหนองผือนาใน หลวงพ่อรู้สึกประทับใจในบรรยากาศอันสงบ ร่มรื่นของสำนัก มองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน กิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิตในวัดป่านี้เป็นที่น่าเลื่อมใส จึงเกิดความพึงพอใจยิ่งกว่าสำนักใด ๆ ที่เคยเห็นเคยสัมผัสมา ยามเย็นวันแรกที่ไปถึง ได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมศิษย์ของท่านเพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นท่านได้ปฏิสันถาร สอบถามเกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยได้ศึกษาปฏิบัติ
แปลกมากเมื่อมาถึงวัดป่าหนองผือนาใน หลวงปู่มั่นท่านเทศน์อบรมเรื่องนิกายธรรมยุติกับมหานิกาย บังเอิญเป็นเรื่องที่หลวงพ่อชา สงสัยมานานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดการเดินทางมาที่นี่หลวงพ่อชา ก็กะว่าจะเรียนถามถึงเรื่องสองนิกายนี้ แต่ยังไม่ได้ทันถามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เรื่องสองนิกายก่อนเลย ทำให้หลวงพ่อชาขนลุกขนพองปลื้มปีติแปลกใจมาก เพราะท่านเพียงแต่คิดในใจท่านเท่านั้นเอง หลวงปู่มั่นท่านทำไมถึงทราบได้ ทำให้หลวงพ่อชามั่นใจในคุณธรรมปฏิบัติของหลวงปู่มั่นมากเป็นลำดับ จากนั้นท่านก็ให้โอวาทและปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสอง คือ ธรรมยุติและมหานิกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยอยู่มาก
หลวงปู่มั่นกล่าวว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง" เมื่อคลายความสงสัยในเรื่องนิกายแล้ว หลวงพ่อ
ได้กราบเรียน ถามปัญหากับหลวงปู่มั่น ซึ่งหลวงพ่อถ่ายทอดบทสนทนาของท่านกับหลวงปู่มั่นให้ศิษย์ฟังว่า
"เกล้ากระผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่... ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร... มีความสงสัยมาก ยังไม่มีหลัก ในการปฏิบัติเลยครับ" หลวงพ่อชาถาม
"มันเป็นยังไง" หลวงปู่มั่นถาม
"ผมหาทางปฏิบัติ... ก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่า มันจะไปไม่ไหว เสียแล้ว เนื้อความในสีลานิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทสนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของ มนุษย์จะทำได้ ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้ มันจะทำตามไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก มันเหลือวิสัยจริง ๆ ..." หลวงพ่อชาตอบ
หลวงปู่มั่นจึงกล่าวให้ฟังว่า... "ท่าน... ของนี้มันมากก็จริงอยู่ ถ้าเราจะกำหนดทุก ๆ สิกขาบทในสีลานิทเทสนั้น นะมันก็ลำบาก แต่ความจริงแล้ว สีลานิทเทสก็คือสิ่ง
ที่บรรยายออกมาจากใจของ คนเรานั่นเอง ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อ ความผิดทั้งหมด เราก็จะเป็นคนที่สำรวมสังวรระวัง เพราะมีความละอายและ เกรงกลัวต่อความผิด...
เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเป็นคนมักน้อย และสติก็จะกล้าขึ้น จะยืนเดิน นั่ง นอนอยู่ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวัง มันก็เกิดขึ้น...
อะไรทั้งหมดที่ท่านศึกษาในหนังสือน่ะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่ อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความสะอาดแล้ว ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป...
ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่เกิดขึ้นมา ถ้าสงสัย... ถ้ายังไม่รู้แจ้งแล้วอย่าไปทำ... อย่าไปพูด... อย่าไป ละเมิดมัน" หลวงปู่มั่นแนะนำ
คืนนั้น.. หลวงพ่อนั่งฟังธรรมร่วมกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น เช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มหาบัว หลวงปู่ผาง หลวงปู่แหวน จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน จิตใจเกิด ความสงบระงับเป็นสมาธิ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางได้อันตรธานไปสิ้น...
คืนที่สอง... หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณกธรรมต่าง ๆ ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนหลวงพ่อคลายความลังเลสงสัยในวิถีทางการปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ในวันที่สาม...หลวงพ่อได้กราบลาหลวงปู่มั่น แล้วเดินธุดงค์ลงมาทางอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม จากการได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในครั้งนั้น เป็นประสบการณ์สำคัญที่นำวิถีชีวิตของหลวงพ่อเข้าสู่กระแสธรรมปฏิบัติอย่างถูกต้องและมั่นคง
หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศของการได้ สัมผัสหลวงปู่มั่น และสำนักป่าหนองผือนาใน แก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า... "ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น... ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็ สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบขณะฟังการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่น ทุกรูป เงียบ! กริบไม่มีการไอการจาม นั่งโยกเยกไม่มีเลยขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกล ๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน...
พระเณรที่นั่นพอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงคุยกันอะไร อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านหลวงปู่มั่น เพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอ สมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก็กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณาปฏิบัติดูเมื่อได้ฟังเทศน์ท่านหลวงปู่มั่นแล้ว ไม่รู้เป็นไง มันอิ่มใจ เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..." นี่แหละการได้อยู่ศึกษากับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรมสามารถบอกสอนอบรมแนะนำให้เราปฏิบัติถูกทางตามอรรถตามธรรมเมื่อมรรคผลนิพพาน
หลังจากกราบลาท่านหลวงปู่มั่นออกจากสำนักหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าหนองผือนาในแล้ว หลวงพ่อกับคณะเดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อย ๆ ตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่น ในขณะนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใดก็ตามจิตของหลวงพ่อมีความรู้สึก ราวกับว่า หลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา...เพื่อมิให้ประมาทในธรรมปฏิบัติ
คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบน กุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า... "ชา ... เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมี สว่างไสวมากนะ" ในนิมิตนั้น ปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจาก หลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจ เกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปีติตลอดพรรษา
หลวงพ่อชา กล่าวว่าหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงมีภูมิจิตภูมิธรรมท่านสูง สามารถสั่งสอนศิษย์ทุกรูปทุกองค์ให้เข้านิพพานได้ ด้วยบารมีสติปัญญาท่านเฉียบแหลมคมยิ่งนักยากที่จะหาท่านผู้ใดเสมอเหมือนในปัจจุบัน
นอกจากหลวงปู่มั่น แล้ว หลวงพ่อชา สุภัทโท ยังได้มีโอกาสศึกษาธรรม และร่วมบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกับหลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล และหลวงปู่กินรี จันทิโย เป็นต้น ท่านได้เป็นแบบอย่างของศิษย์ผู้อ่อนน้อม ปฏิบัติข้อวัตร อาจาริยวัตรอย่างไม่มีตกบกพร่อง ท่านได้ศึกษาธรรมของพระบรมศาสดา จนบรรลุถึงคุณธรรมขั้นสูงสุด มีปัญญาแตกฉานในธรรม สามารถเข้าใจในหลักธรรม และธรรมชาติ อุปมา อุปมัย ขยายความ และสรุปย่นย่อข้อธรรมให้เข้าใจได้ง่าย จนมีพระภิกษุสงฆ์ ฆราวาส ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติทั่วโลก มาปวารณาตนเป็น
ศิษย์ ขอศึกษาธรรมอย่างล้นหลาม ทั้งที่ท่านเอง ก็พูดภาษาต่างชาติของเขาเหล่านั้นไม่ได้ แต่ด้วยปฏิปทาที่ท่าน ทำตนเป็นแบบอย่าง ฝึกสอนอบรมบ่มธรรมกันอย่างจริงจัง จนได้มาเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของเหล่าศิษยานุศิษย์ เหตุไฉนบุคคลผู้มีความรู้ทางโลกเพียงแค่ชั้น ป.๑ อย่างหลวงพ่อชา จึงมีลูกศิษย์ชาวต่างประเทศที่ได้อุทิศตนเป็นพุทธสาวกอย่างจริงจังจำนวนมากแล้ว ในอีกมุมหนึ่งคือทางธรรมยังเป็นการสะท้อนให้เราทราบถึงความจริงที่ว่า... “ธรรมไม่เคยแบ่งชนชั้น ไม่เคยแบ่งประเทศ ไม่เคยแบ่งภาษา และไม่เคยแบ่งเพศวัย”
เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ถึงจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาและสามารถสัมผัสได้ด้วยการกระทำ ดังคำสอนของหลวงพ่อที่มักบอกลูกศิษย์เสมอๆ ว่า... “คำสอนของผมนอกตำรา แต่อยู่ในขอบเขต อาจไม่ถูกคัมภีร์แต่มันถูกสัจธรรม”
หลวงพ่อชา สุภัทโท จึงเป็นดั่งร่มโพธิธรรมผู้ที่ได้ให้ร่มเงาแก่ศิษย์ เป็นดั่งร่มโพธิญาณ ที่ให้ศิษย์ได้อยู่ใต้ร่มเงานั้น
หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ เวลา ๕.๒๐ น. ณ กุฏิท่านภายในวัดหนองป่าพง สิริอายุ ๗๓ ปี ๗ เดือน พรรษา ๕๒
“..พระพุทธศาสนาไม่มีอำนาจอะไรเลย แม้ก้อนทองคำก็ไม่มีราคา ถ้าเราไม่มารวมกันว่ามันเป็นโลหะที่ดีมีราคา ทองคำมันก็ถูกทิ้งเหมือนก้อนตะกั่วเท่านั้นแหละ พระพุทธศาสนาตั้งไว้มีอยู่ แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ จะไปมีอำนาจอะไรเล่า อย่างธรรมะเรื่องขันติมีอยู่ แต่เราไม่อดทนกัน มันจะมีอำนาจอะไรไหม..” โอวาทธรรมคำสอนหลวงพ่อชา สุภัทโท “พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งครูผู้ให้ร่มเงาแก่ศิษย์”
โฆษณา