16 ม.ค. 2022 เวลา 05:01 • การตลาด
“กล่องสุ่ม” เป็นการพนันหรือไม่? 📦✨
ตามที่กรมการปกครองได้มีเอกสารเผยแพร่ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องกล่องสุ่มสินค้ากับกฎหมายว่าด้วยการพนัน ทางนิติฮับขอสรุปใจความในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. กล่องสุ่มสินค้าจะเข้าข่ายเป็นการพนันหรือไม่ พิจารณาจากมูลค่าของสินค้าที่ลูกค้าได้รับ หากมูลค่าตามราคาตลาดของสินค้าโดยรวม ไม่ต่ำกว่าราคาของกล่องสุ่มที่ตั้งขายไว้ ไม่ถือเป็นการพนัน ดังนั้น ผู้ที่จัดให้มีการขายกล่องสุ่มแบบนี้ จึงไม่ผิดมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478
2. แม้จะไม่เป็นการพนัน แต่การขายกล่องสุ่มมีลักษณะเป็นการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค เพราะผู้ซื้อต้องลุ้นว่าตนเองจะได้รับสินค้ามูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าราคาที่สั่งซื้อมา ในส่วนนี้กรมการปกครองมองว่า แม้สินค้าที่แถมมาจะเป็นประเภทเดียวกัน ก็ไม่เหมือนการซื้อขายแบบเหมาตามปกติ เช่น ขายกล่องสุ่ม โดยมีเครื่องสำอางราคาแพงชิ้นหนึ่งบรรจุลงอยู่ในกล่องด้วย ทำให้มูลค่าโดยรวมของสินค้ามากกว่าราคาที่สั่งซื้อถึง 10,000 บาท “มูลค่า” ของสินค้าที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ “แถม” มาด้วย ดังนั้น ต้องขออนุญาตตามมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ. การพนันฯ ก่อนจึงจะทำได้
1
3. การแถมรางวัลชิ้นใหญ่ประเภทอื่น แม้จะไม่ได้มีการทำประกาศอย่างชัดแจ้ง แต่เมื่อมีการทำในทางปฏิบัติจนเป็นที่รับรู้ ถือเป็นการทำกิจกรรม “แถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค” เหมือนกัน ดังนั้น ผู้ขายจะบอกว่าเป็นการให้เฉย ๆ ไม่ได้ เพราะเข้าลักษณะการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคไปแล้ว
4. การทำกิจกรรมตามมาตรา 8 โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 14 ในพ.ร.บ. เดียวกัน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 50-2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ถ้ามูลค่าของสินค้าที่ได้รับน้อยกว่าราคากล่องสุ่มที่ตั้งขาย ทำให้ผู้ซื้อเกิดโอกาสที่จะได้หรือเสีย แบบนี้ไม่ใช่การซื้อขายปกติและไม่ใช่การแถมพกตามมาตรา 8 แต่ถือเป็นการพนัน และเมื่อเป็นการพนันที่กฎหมายการพนันไม่ได้รู้จักและไม่เคยบรรจุไว้ในกฎหมายมาก่อน จะกลายเป็นการพนันที่ห้ามเล่นเด็ดขาดและขออนุญาตไม่ได้ ตามมาตรา 4 ทวิ หากฝ่าฝืน จะมีโทษตามมาตรา 12(2) พ.ร.บ. เดียวกัน
- - - - - - - - - -
คราวนี้ นิติฮับขอเชิญชวนคิดต่อในประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกซักนิด
1. การที่กรมการปกครองมองว่าลักษณะของการพนันที่มีการได้-เสียขึ้นอยู่กับ “ส่วนต่าง” ของมูลค่าสินค้ากับราคาที่สั่งซื้อในกรณีของกล่องสุ่ม อาจทำให้การซื้อเสื้อผ้ายกโหลแบบสุ่มกลายเป็นการพนันได้เหมือนกัน เพราะว่าการซื้อเสื้อผ้ายกโหลนั้น ผู้ซื้อก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามูลค่าของสินค้าที่จะได้รับจะมากน้อยกว่าราคาที่ตนสั่งซื้อไปหรือไม่ แต่ในทางประเพณีการซื้อขาย คงไม่มีใครมานั่งคำนวณราคามูลค่ากัน ครั้นจะคำนวณก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะราคาสินค้าถ้าเทียบในตลาดคงจะมี range ที่กว้างมาก และประเพณีซื้อขายก็ถือกันว่ามูลค่าคงถูกเฉลี่ย ๆ มาแล้ว กรณีนี้ถ้าเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน คงมองว่าเป็นการซื้อขายแบบยกโหลได้ง่ายกว่าการแถมสินค้าคนละประเภทอย่างแน่นอน เช่น ถ้าซื้อเครื่องสำอางแต่แถมสมาร์ทโฟน แบบนี้จะกล่าวว่าเป็นการซื้อยกโหลคงไม่ได้ แต่เป็นการแถมพกสินค้าอย่างอื่นไปด้วยนั่นเอง
2. การที่กรมการปกครองมุ่งพิจารณาที่ “มูลค่า” ของสินค้า สมมติว่าถ้าราคากล่องสุ่ม 10,000 บาท แต่ใส่เครื่องสำอางราคาถูกมาหลาย ๆ ชิ้นจนรวมเป็นราคา 10,000 บาท อาจจะไม่ผิดเป็นการพนัน อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้อาจผิดกฎหมายคุ้มครองบริโภคได้ เพราะเป็นการแสดงโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค รายละเอียดตามมาตรา 22 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
3. น่าสังเกตว่า ถ้าเป็นกรณีแถมพกรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคตามกฎหมายการพนัน กฎหมายอนุญาตให้เล่นได้แค่ 2 วิธีเท่านั้น คือ 1) การส่งชิ้นส่วนบัตรมาจับสลาก หรือ 2) การส่งข้อความผ่านระบบมาลุ้นรางวัล จากตรงนี้หมายความว่า ถ้าเป็นกล่องสุ่มแบบที่ขายอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ก็จะไม่เข้า 2 วิธีตามที่กฎหมายกำหนดเลย กฎหมายจึงอนุญาตไม่ได้ และแม้ขออนุญาตไปก็คงจะไม่ได้รับอนุญาตอยู่ดี จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมวิธีการอื่นเข้ามา หรือจนกว่าจะมีกฎเกณฑ์ควบคุมกล่องสุ่มออกมาเป็นการเฉพาะ
- - - - - - - - - -
จากที่กล่าวไปข้างต้น นิติฮับขอสรุปแนวทางการทำกล่องสุ่มอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ดังนี้
1. ควรตั้งราคากล่องสุ่ม โดยที่ไม่มีส่วนต่างกับมูลค่าของสินค้าในกล่องมากเกินไป และอย่างน้อยมูลค่าของสินค้าควรเท่ากับราคาที่ตั้งขาย เพื่อทำให้ใกล้เคียงกับการซื้อขายยกโหล แบบนี้จะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีปัญหากับผู้ซื้อได้ ทั้งนี้ นิติฮับมองว่าเรื่องราคาตลาดเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันได้ เพราะผู้ขายแต่ละรายก็อาจหาสินค้ามาได้ในต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการตีความของกรมการปกครองและสคบ.ด้วย
2. หากจะมีการแถมสินค้าเพิ่มเติมซึ่งเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ หรือสินค้าที่เริ่มทำให้มูลค่าสินค้าในกล่องมีความต่างกับราคาที่ตั้งขายมากขึ้น ให้ขออนุญาตกับกรมการปกครอง โดยไม่ทำการแถมไปในทันที แต่จะต้องจัดให้มีการจับสลากในภายหลังเพื่อความโปร่งใส เช่น หากขายกล่องสุ่มเครื่องสำอาง แต่อยากจะแถมรถยนต์หรือเครื่องสำอางราคาแพง ก็ไม่ควรแถมลูกค้าไปในทันที แต่ให้ใส่สลากหรือรหัสไปในกล่อง เพื่อให้ลูกค้าส่งกลับมาเพื่อยืนยันการเสี่ยงโชคอีกครั้ง หากถามว่า แล้วมันจะต่างกับการชิงโชครูปแบบเดิม ๆ อย่างไร ก็คงตอบว่าไม่มีความต่างมาก อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำวิธีอื่นนอกจากนี้แล้ว
3. ระมัดระวังการโฆษณากิจกรรมส่งเสริมการขายให้มากขึ้น เพราะเมื่อเข้าเป็นกรณีแถมพกด้วยการเสี่ยงโชคแล้ว กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคควบคุมข้อความที่จะต้องแสดง เช่น หลักเกณฑ์วิธีการเล่น ลักษณะและราคาของสินค้าที่จะแถม วันเวลาสถานที่ที่จับรางวัล ฯลฯ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 ซึ่งออกตามความในพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฯ
4. การขายกล่องสุ่มมักจะไม่มีการแจ้งข้อมูลสินค้าข้างในกล่องให้ลูกค้าได้ทราบมากนัก ทำให้ไม่เป็นไปตามสิทธิของผู้บริโภคที่จะต้องทราบรายละเอียดของสินค้า ดังนั้น อย่างน้อยควรระบุไปว่าเป็นสินค้ามูลค่า 300-500 บาท จำนวน 1-4 ชิ้น และ สินค้ามูลค่า 1,000-2,000 จำนวน 1-2 ชิ้น เป็นต้น โดยอาจระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ทั้งนี้ได้คำนวณราคามาแล้วว่า ไม่น้อยกว่าราคาที่ตั้งขาย เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจในความเสี่ยงก่อนตกลงซื้อและลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ทั้งนี้ หากสินค้าที่ลูกค้าได้รับไปไม่ตรงกับคำโฆษณาแล้ว ย่อมมีความผิดที่จะเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงหรือลวงขายตามประมวลกฎหมายอาญา การโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฯ และอาจเป็นความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดีการระบุข้อความแค่นี้จะเพียงพอหรือไม่ ยังไม่เคยมีการประกาศจากสคบ.อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงควรติดตามประกาศจากสคบ.ต่อไป
โฆษณา