18 ม.ค. 2022 เวลา 15:43 • ประวัติศาสตร์
มหาภูเขาไฟระเบิด เมืองพระนครล่มสลาย และการสถาปนาอำนาจใหม่ของเผ่า “ไท” เกี่ยวข้องกันอย่างไร ? (ตอนที่ 1)
การระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลขนาดใหญ่ฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮาอาปาย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา จนทำให้ดินแดนแปซิฟิกเล็กๆ อย่างตองก้าต้องเผชิญกับคลื่อนสึนามิและเถ้าภูเขาไฟปกคลุม อินเทอร์เนตตัดขาด อยู่ในสภาพโดดเดี่ยวจากโลกไปโดยปริยาย ซึ่งนักภูเขาไฟวิทยาระบุว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การระเบิดของภูเขาไฟพินาตูโบในฟิลิปินส์เมื่อ 30 ปีก่อนในปี 2534 (อ้างอิง: https://www.bbc.com/thai/international-60022172)
ภาพการระเบิดใหญ่ของภูเขาไฟใต้ทะเลฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮาอาปาย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาซึ่งยังเห็นได้จากชั้นบรรยากาศ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ตั้งแต่การระเบิดของภูเขาไฟพินาตูโบในฟิลิปินส์เมื่อปี 2534 (ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-60040044)
การระเบิดของมหาภูเขาไฟ (Supervolcano) เป็นมหันตภัยทางธรรมชาติที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบ "ทางตรง" เกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ใกล้กับภูเขาไฟ ทั้งจากฝุ่นไพโรคลาสติก (Pyroclastic) อันประกอบด้วยเศษเถ้าธุลีหินร้อนที่ผลิตและพุ่งออกมาจากแรงระเบิด มีอุณหภูมิสูงมากจนคร่าชีวิตได้ภายในพริบตาอย่างน่าขนลุก เพราะสามารถทำให้ของเหลวในร่างกายเดือดพล่านจนกะโหลกระเบิดได้ หรือร่างกายเกิดการระเหิดหายไป อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับประชากรในเมืองปอมเปอิ เบากว่านั้นหน่อยทว่าก็ยังคงรุนแรงก็คือธารลาวาที่ไหลทะลักทำลายบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา แบบไม่มีอะไรกั้น
ขณะที่ผลกระทบ "ทางอ้อม" กลับส่งผลกระทบไปทั่วโลก จากฝุ่นและเถ้าถ่านที่มหาภูเขาไฟพ่นออกมาปกคลุมชั้นบรรยากาศโลก ส่งผลทำให้สภาพอากาศ "ทั่วโลก" เย็นลงอย่างฉับพลัน บางครั้งกินเวลายาวนานนับปีจนถึงหลายร้อยปีหากมีมหาภูเขาไฟหลายลูกระเบิดติดๆ กัน
ผลกระทบ "ทางตรง" จากการระเบิดของภูเขาไฟวิซูเวียสที่ระเบิดในปี 622 ฝังกลบชีวิตผู้คนและทำลายเมืองปอมเปอิทั้งเมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง (ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Mount_Vesuvius)
นักวิทยาศาสตร์ทราบได้อย่างไรว่า มหาภูเขาไฟระเบิดขึ้นเมื่อไร ?
นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาสภาพภูมิอากาศโลกจากแกนน้ำแข็งขั้วโลกที่บันทึกความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไว้ คล้ายกับวงปีของต้นไม้ที่บันทึกการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแต่ละรอบปี ด้วยการใช้เครื่องมือทรงกระบอกเจาะเข้าไปในแผ่นน้ำแข็งบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา เพื่อนำแกนวัสดุที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งซึ่งมาจากหิมะที่ตกสะสมในทวีปนี้ในช่วงหลายพันหรือหลายล้านปีที่ผ่านมา เมื่อน้ำแข็งถูกกดทับ ทำให้เกิดฟองอากาศขึ้น ถุงอากาศขนาดเล็กเหล่านี้ถือเป็นการเก็บบันทึกชั้นดีของบรรยากาศในแต่ละช่วงเวลา
แกนน้ำแข็งเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถอ่านระดับคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเก็บความร้อนอื่น ๆ เช่น มีเทน หรือซัลเฟตที่พ่นออกมาจากภูเขาไฟได้ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์อะตอมในโมเลกุลน้ำแข็งที่อยู่ล้อมรอบก๊าซซึ่งช่วยบ่งบอกถึงอุณหภูมิในช่วงนั้นได้ด้วย (ชวนอ่าน: ขั้วโลกใต้ : ทำไมนักวิทยาศาสตร์ต้องการขุดเจาะ 'น้ำแข็งที่เก่าแก่ที่สุด' ในแอนตาร์กติกา https://www.bbc.com/thai/international-47866841) ซึ่งการสะสมของกำมะถันในรูปของซัลเฟตที่พบในโมเลกุลน้ำแข็งปริมาณมากกว่าปกติ ทำให้ทราบว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวน่าจะมีมหาภูเขาไฟระเบิดนั่นเอง
ภาพ The Scream ของเอ็ดวาร์ด มุนช์ ศิลปินชาวนอร์เวย์ เชื่อกันว่ากลุ่มเมฆพื้นหลังของภาพที่เป็นท้องฟ้าสีสันสดใสและแถบคล้ายคลื่นเป็นผลกระทบ "ทางอ้อม" ที่แผ่กระจายไปทั่วโลก จากการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซีย แต่ก็มีผู้เสนอว่าดูคล้ายปรากฏการณ์กลุ่มเมฆโคตรไข่มุก (Mother of Pearl Clouds) ที่พบได้ยากมากกว่า (ดูเพิ่มเติมใน https://www.bbc.com/thai/international-39755749)
มหาภูเขาไฟระเบิดเกี่ยวข้องกับการล่มสลายของราชวงศ์หรืออาณาจักรใหญ่ๆ อย่างไร ?
อุณหภูมิที่ลดลงอย่างฮวบฮาบจากเหตุมหาภูเขาไฟระเบิด ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน ส่งผลสะเทือนกับการเกษตรและปศุสัตว์ไปทั่วโลก ตามมาด้วยภาวะข้าวยากหมากแพง บ้านเมืองระส่ำระสาย เกิดกบฏภายใน และการรุกรานจากภายนอก ในอดีตความล่มสลายของเมืองใหญ่หรืออารยธรรมต่างๆ ได้รับการอธิบายว่าเป็นวัฏจักรหรือธรรมดาโลกต้องมีอันล่มสลายไปเมื่อเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เพราะความใหญ่โตสลับซับซ้อนหรือประชากรที่มีมากเกินขีดจำกัดของทรัพยากรภายในอาณาจักรจะหล่อเลี้ยง กลายเป็นความเทอะทะที่ทำให้อาณาจักรเหล่านั้นไม่อาจประคองตัวอยู่ได้
ทว่าล่าสุดตัวแปรสำคัญแห่งความล่มสลายนี้อาจทำให้ต้องคิดกันใหม่ว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากมหาภูเขาไฟระเบิด !!!
เมื่อเร็วๆ นี้ BBC ได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจอย่างมาก เรื่อง "ราชวงศ์จีนโบราณส่วนใหญ่ต้องล่มสลาย เหตุเพราะภูมิอากาศเปลี่ยนหลังภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่" (อ้างอิง: https://www.bbc.com/thai/thailand-59359787) อ้างอิงจากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth & Environment วารสารวิชาการน้องใหม่ของเครือ Nature วารสารวิทยาศาสตร์สหวิทยาการที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก เรื่อง "Volcanic climate impacts can act as ultimate and proximate causes of Chinese dynastic collapse" (อ้างอิง: https://www.nature.com/articles/s43247-021-00284-7)
1
ผลการวิจัยโดยสรุปแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์จีนมีอันต้องล่มสลายลง 62 ใน 68 ครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากการที่โลกเผชิญเหตุ "มหาภูเขาไฟ" ระเบิดปะทุครั้งใหญ่ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นบริเวณกว้างทำให้อากาศหนาวเย็นลงอย่างฉับพลัน เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงขึ้น อาณาจักรต่าง ๆ สูญเสียประชากรจำนวนมากและมักเกิดการอพยพครั้งใหญ่ การวิจัยยืนยันด้วยว่าอิทธิพลจากการระเบิดของมหาภูเขาไฟต่อความอยู่รอดของราชวงศ์ในจีนไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือเกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่มีผลต่อการอุบัติและล่มสลายของระบอบการปกครองอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องเป็นวงจร
การล่มสลายของราชวงศ์ถังในปี 1450 การล่มสลายของราชวงศ์หยวนในปี 1911 และการล่มสลายของราชวงศ์หมิงในปี 2187 ซึ่งในกรณีเหล่านี้ ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกถือเป็นปัจจัยหลักที่เพิ่มแรงกดดันให้ระบอบการปกครองถูกโค่นล้มง่ายขึ้น
"การล่มสลายของราชวงศ์ผู้ปกครองจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น แม้คนส่วนใหญ่จะกล่าวโทษผู้นำที่ไร้ศีลธรรมจรรยาและด้อยความสามารถ แต่อันที่จริงสถานการณ์ดังกล่าวมักอยู่ในบริบทของความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความเสียหายขนาดใหญ่ของงระบบนิเวศ ระบบเกษตรกรรม รวมทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม"
ข้อความจากหัวหน้าทีมวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเสื่อมสลายของราชวงศ์หรืออาณาจักรต่างๆ ในโลก ที่นักประวัติศาสตร์มักวิเคราะห์กันว่าเป็น "ปัจจัยภายใน" เช่น ผู้ปกครองหรือระบบการปกครองเสื่อมประสิทธิภาพ แต่กลายเป็น "ปัจจัยภายนอก" คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เหนือความรู้และความคาดหมายของคนในยุคนั้นในระดับที่แผ่ความเสียหายไปทั่วโลกอย่างมหาภูเขาไฟระเบิด เป็นตัวก่อให้เกิดปัจจัยภายในหลายต่อหลายปัจจัย เร่งปฏิกิริยาที่นำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรต่างๆ ในที่สุด
แผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการล่มสลายของราชวงศ์ในจีนทั้ง 68 ราชวงศ์ (เส้นประสีฟ้าแนวตั้ง) กับร่องรอยของเหตุมหาภูเขาไฟระเบิด (วงกลมสีแดง) ซึ่งทราบได้จากการวัดปริมาณกำมะถันในรูปของซัลเฟตที่ตกค้างอยู่ในชั้นน้ำแข็งโบราณ (ที่มา: https://www.nature.com/articles/s43247-021-00284-7 )
มหาภูเขาไฟระเบิด อาจเป็นเหตุเมืองพระนครล่มสลาย
แผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการล่มสลายของราชวงศ์ในจีนช่วงระหว่างปี 1650-1950 ได้แก่ราชวงศ์เหลียว ซ่ง หยวน ช่วงเดียวกับที่เมืองพระนครรุ่งเรืองและล่มสลาย เห็นได้ชัดว่ามีภูเขาไฟขนาดใหญ่รวมกันถึง 9 ครั้ง ขนาดเล็ก 8 ครั้ง รวมทั้งสิ้นถึง 17 ครั้ง มากที่สุดในรอบ 2,000 ปี  (ปรับปรุงจาก: https://www.nature.com/articles/s43247-021-00284-7 )
ถึงจะยังไม่มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมหาภูเขาไฟระเบิดกับการล่มสลายของเมืองพระนคร เช่นที่ศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าวกับการล่มสลายของราชวงศ์ในจีน แต่ถ้าลองนำแผนภูมิข้างต้นมาเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาที่เมืองพระนครเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (1724-1757) หรือในสมัยบายน จนถึงกาลล่มสลายเมื่อราวปี 1974 ช่วงหลังสมัยบายน ก็จะพบว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ตั้งแต่ประมาณปี 1650-1950 ตั้งแต่ช่วงการสร้างปราสาทนครวัดในรัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ถึงช่วงหลังสถาปนาอยุธยาแล้วครึ่งศตวรรษ มีหลักฐานการระเบิดของมหาภูเขาไฟขนาดใหญ่รวมกันถึง 9 ครั้ง ขนาดเล็ก 8 ครั้ง รวมทั้งสิ้นถึง 17 ครั้ง !!! มากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติรอบ 2,000 ปีเลยทีเดียว
ก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่เข้าไปศึกษาเมืองพระนคร ได้สังเกตถึงความผิดปกติหลายอย่าง ซึ่ง National Geographic ฉบับสิงหาคม 2552 ได้รวบรวมไว้แต่ในตอนนั้นยังไม่มีการศึกษาโดยเชื่อมโยงกับอุบัติการณ์ของมหาภูเขาไฟ แต่ให้น้ำหนักไปยังปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเอลนีโญที่รุนแรงเรื้อรังยาวนานมากกว่า
พวกเขาสังเกตว่ายุคที่เมืองพระนครรุ่งเรืองอย่างถึงที่สุด กลับพบละอองเรณูของพืชพรรณจำพวกเฟิร์นที่ชอบขึ้นในบึงหรือที่แห้งๆ มากกว่า อ่างเก็บน้ำในเมืองพระนครแห้งขอดเป็นช่วงๆ เร็วกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ที่น่าจะเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากกว่าความล้มเหลวของวิศวกรชลประทานในขณะนั้น ในช่วงประมาณปี 1850 เป็นต้นไป ยุโรปเองก็ต้องเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนกินเวลายาวนานกว่า 200-300 ปี ซึ่งภายหลังก็ชัดเจนว่าเป็นเวลาเดียวกับที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเช่นเหมือนกัน
การศึกษาวงปีของต้นโพมูเก่าแก่อายุกว่า 900 ปีที่เติบโตในช่วงรุ่งเรืองและล่มสลายของเมืองพระนคร แสดงให้เห็นการเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างหนักติดต่อกันหลายช่วง คือ ในระหว่างปี 1905-1935 (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น) และอีกครั้งในปี 1958-1983 (ตรงกับช่วงเมืองพระนครกำลังล่มสลาย) คณะสงฆ์นำโดยพระมหาธัมมคัมภีร์ที่ต่อมาได้สถาปนานิกายวัดป่าแดงในเชียงใหม่ซึ่งเดินทางไปยังศรีลังกาในปี 1969 ต้องรีบเดินทางกลับมาเพราะเกิดภัยพิบัติในลังกา
แผนผังแสดงตำแหน่งของระบบชลประทานและแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในเมืองพระนคร (ที่มา: https://www.pnas.org/content/116/25/12226)
มรสุมแปรปรวน มีทั้งเบาบาง ไม่มี หรือมีมากกว่าปกติ ช่วยกระหน่ำซ้ำเติมให้ "ราชธานีแห่งนี้จึงล่อแหลมและเปราะบางต่อภัยแล้งมากกว่าช่วงใดในประวัติศาสตร์...ความแห้งแล้งที่ยาวนานและรุนแรง...อาจทำลายระบบชลประทานทั้งระบบลงได้" น่าสังเกตว่าการรุกรานของอยุธยาและการเนรเทศกษัตริย์กัมพูชาก็เกิดขึ้นในช่วงแห้งแล้งระลอกหลัง
ใช่แต่เฉพาะเมืองพระนครที่ต้องประสบภัยพิบัติเท่านั้น นักวิชาการเมื่อกลางศตวรรษก่อนก็เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างการล่มสลายของกัมพูชาและมายาอาณาจักรมายาในเม็กซิโกและอเมริกากลาง ซึ่งในตอนนั้นเชื่อกันว่าเป็นเพราะประชากรมากเกินไป แต่ผลการศึกษาล่าสุดจากแกนน้ำแข็งเห็นว่าสภาวะอากาศแห้งแล้งผิดปกติที่กินเวลายาวนานหลายศตวรรษจนส่งผลให้เมืองพระนครกระทั่งอาณาจักรมายาล่มสลาย เช่นเดียวกับที่ราชวงศ์ใหญ่ของจีนอย่างเหลียว ซ่ง หยวน ในช่วงเวลาเดียวกันต้องสิ้นสุด สัมพันธ์กับเหตุการณ์มหาภูเขาไฟระเบิดหลายลูกต่อเนื่องกันอย่างไม่เคยอุบัติมาก่อนตั้งแต่ปี 1650-1950 นั่นเอง
โปรดติดตาม ตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้า
โฆษณา