17 ม.ค. 2022 เวลา 02:41 • ประวัติศาสตร์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
พระมหากษัตริย์นั้นในคติของชาวไทยถือว่าเป็นผู้ที่ค่อนข้างสูงส่ง ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศเพื่อส่งเสริมความชอบธรรมของพระองค์ คำว่า "กกุธ" เเสดงความเป็นพระราชา ส่วนคำว่า "ภณฺฑ" เเปลความว่าเครื่องใช้ เมื่อรวมกันเเล้วจึงเเปลว่าเครื่องใช้ที่เเสดงความเป็นพระราชา ในพระราชสำนักสยาม (ไทย) มีสิ่งของอยู่ ๕ สิ่งที่เเสดงถึงความเป็นพระราชา เรียกว่า "เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์"
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในคติทางบริเวณนี้สำคัญมาก ปรากฏในพระสูตรสมัยพุทธกาล เมื่อพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันทรงประสูติ) ก็มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหลายมาปรากฏโดยปราศจากผู้ถือ
"สมฺมุขา เมตํ ภนฺเต ภควโต สุตํ สมฺมุขา ปฏิคฺคหิตํ
สมฺปติชาโต อานนฺท โพธิสตฺโต สเมหิ ปาเทหิ ปฐวิยํ ๒ ปติฏฺฐหิตฺวา
อุตฺตราภิมุโข สตฺตปทวีติหาเรน คจฺฉติ เสตมฺหิ ฉตฺเต อนุหีรมาเน ๓
สพฺพา จ ทิสา วิโลเกติ อาสภิญฺจ วาจํ ภาสติ อคฺโคหมสฺมิ
โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา
ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ ฯ ยมฺปิ ภนฺเต ฯเปฯ อิทมฺปหํ
ภนฺเต ภควโต อจฺฉริยํ อพฺภูตธมฺมํ ธาเรมิ ฯ"
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ พระโพธิสัตว์ในบัดดลที่ประสูติ ก็ประทับพระยุคลบาทอันเสมอบนแผ่นดิน
แล้วบ่ายพระพักตร์สู่ทิศอุดร เสด็จดำเนินไปด้วยย่างพระบาท ๗ ก้าว เมื่อเทพบุตรกั้นเศวตฉัตร
ตามไป พระองค์จะทรงเหลียว ดูทิศทั้งปวง และทรงเปล่งพระวาจาอย่างผู้องอาจว่า เราเป็นผู้เลิศ
ในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้
ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ ข้าพระองค์ก็ทรงจำไว้ว่า เป็นธรรม
ไม่น่าเป็นไปได้ น่าอัศจรรย์ ของพระผู้มีพระภาค ฯ
ในสมัยสุโขทัยมีการจารึก (จารึกวัดป่ามะม่วง) เกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้เเล้ว ในคราวราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท)
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในคำให้การของขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ว่า
"ข้าราชการทั้งปวงจึ่งเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศขึ้นครองราชสมบัติ ก่อนที่เจ้าฟ้าเอกทัศจะขึ้นครองราชสมบัตินั้น เกิดนิมิตรอัศจรรย์ ลมพายุพัดต้นมะเดื่อซึ่งอยู่ทางทิศตวันออกแห่งพระราชวังหัก ยอดมะเดื่อที่หักนั้นหันมาทางพระราชมณเฑียร ข้าราชการทั้งปวงเห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูล เจ้าฟ้าเอกทัศจึ่งรับสั่งว่า นิมิตรซึ่งเกิดขึ้นนี้เปนมงคล พวกเจ้าทั้งหลายจงนำไม้มะเดื่อนั้นมาทำเปนแท่นเถิด ข้าราชการทั้งปวงก็ไปตั้งพิธีบวงสรวง มีมหรศพสมโภช แล้วตัดไม้มะเดื่อนั้นมาทำเปนพระแท่น เมื่อสำเร็จแล้วจึ่งจัดการราชาภิเศก ให้เจ้าฟ้าเอกทัศทรงเครื่องสำหรับกษัตรเสร็จแล้วเชิญขึ้นประทับเหนือพระแท่นไม้มะเดื่อ ครั้นได้ฤกษ์แล้วปโรหิตอาจารย์ก็โอมอ่านคาถาไชยมงคล พวกพราหมณ์ก็เป่าสังข์ทักษิณาวั
ชาวประโคมก็ประโคมเครื่องดุริยางคดนตรี ​พระอาลักษณ์จึ่งเชิญพระสุพรรณบัตรประดับพลอยรอบ ๓ ชั้น ซึ่งจาฤกพระนามอ่านถวาย มีใจความว่า อาเปกขศรีสุรเดชบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศิริขัง ปัจจังมหาจักรวรรดิ สรทยาธิบดี ศิริสัจติรัสหังสจักรวาฬธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดี ทะหะริมายะนะทะปธานาธิบดี ศิริวิบุลย์คุณอกนิฐถจิตรุจีตรีภูวนารถ ตรังคติพรหมเทวา เทพภูมินทราธิราช รัตนากาศสมมุติวงษ์ องค์เอกาทศรฐ วิสูตรโสตรบรมติโลกนารถ อาทิวิไชยสมทรทโรมันท อนันตคุณวิบุลย์สุนทรธรรมมิกราชเดโชชาติ โลกนารถวริสสาธิราชชาติพิเชษฐ เดชทศพลญาณสมันตมหันตพิชิตมาร วสุริยาธิบดีขัตติยวงษ์องค์รามาธิบดี ตรีภูวนารถธิปัจจโลกเชษฐวิสุทธิ์ มกุฎรัตนโลกเมาฬี ศรีประทุมาสุริยวงษ์ องค์ปัจจุพุทธางกูร"....
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เเละกรุงธนบุรีก็มีการสืบต่อมาจากสมัยของกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน ในทางความจริงถึงเเม้จะบอกว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์มี ๕ อย่าง เเต่บางยุคเครื่องราชกกุธภัณฑ์กลับไม่เหมือนกัน ทางหม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล ได้เเบ่งไว้เป็น ๒ เเบบ คือ
๑. เเบบ ก. (ประกอบด้วย)
(๑) พระมหาเศวตฉัตร
(๒) พระมหามงกุฎ
(๓) พระเเสงขรรค์
(๔) พัดหรือพระเเส้ (วาลวิชนี)
(๕) ฉลองพระบาท
๒. เเบบ ข. (ประกอบด้วย)
(๑) พระมหามงกุฎ
(๒) พระเเสงขรรค์
(๓) ธารพระกร
(๔) พัดหรือพระเเส้ (วาลวิชนี)
(๕) ฉลองพระบาท
หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป.มาลากุล เองได้วิเคราะห์ไว้ว่าทั้งเเบบ ก. เเละเเบบ ข. นั้นถูกทั้งสองเเบบ เเต่ถ้าหากว่าใช้เเบบ ก. จะไม่มีเเบบ ข. หรือถ้าใช้เเบบ ข. ก็จะไม่มีเเบบ ก.
ใช้เเบบ ก. จะไม่มีเเบบ ข.
หมายความว่าเเบบ ก. นั้นมีเศวตฉัตรฉัตรไม่มีธารพระกร เเบบ ข. มีธารพระกรเเต่ไม่มีเศวตฉัตร การที่จะให้ร่ม (ฉัตร,กลด) กางขณะที่ถือไม้ไม้เท้า (ธารพระกร) ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้ เเบบ ก. เเละเเบบ ข. ซึ่งถูกทั้งสองเเบบเเต่ๆม่สามารถใช้ร่วมกันได้อาจจะเป็นเพราะความไม่สุภาพด้วย.
เครื่องราชกกุธภัณฑ์โดยหลักมีอยู่ ๕ สิ่งตามที่กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งในปัจจุบันมีการยึดถือโดยหลักคือ
๑. พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเครื่องราชสิราภรณ์ สร้างในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี ประดับนวรัตน์ ๙ ประการ มีเพชรเม็ดใหญ่ประดับไว้บนยอดชื่อ "มหาวิเชียรมณี" ซึ่งได้มาจากเมืองโกลกาตาร์ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ในอินเดียซึ่งขณะนั้นตกเป็นเมืองขึ้นสหราช "พระมหามงกุฎ" หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ ผู้เป็นเทวราชของสวรรค์ชั้นสอง คือ ชั้นดาวดึงสาภูมิหรือสวรรค์ชั้นไตรยตรึงษ์ ในสมัยโบราณถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎมีความสำคัญพอๆ กับเครื่องกกุธภัณฑ์ชุดอื่นเเละเมื่อราชาภิเษกพระมหากษัตริย์จะไม่นำพระมหามงกุฎสวมบนพระเศียร เพียงเเต่จะนำไว้ข้างๆ พระเเท่นเเทน เมื่อถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ในรัชสมัยของพระองค์นั้นเป็นยุคล่าอาณานิคมและพระองค์ต้องการปรับราชสำนักให้มีคติคล้ายกับราชสำนักยุโรป
เเละทางราชสำนักยุโรปนั้นมีความเชื่อว่าการที่จะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์จะต้องได้รับการสวมพระมหามงกุฎลงบนพระเศียร เมื่อจัดการราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๔ พระองค์จึงนำพระมหาพิชัยมงกุฎสวมลงบนพระเศียรเพื่อให้คล้ายกับการปฏิบัติในราชสำนักยุโรปเเทนที่จะวางไว้ข้างพระองค์เเบบราชสำนักสยาม เเละทรงให้ความสำคัญต่อพระมหามงกุฎเหนือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นอื่น.
๒. พระเเสงขรรค์ชัยศรี
เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเเละเป็นการเเสดงถึงพระราชอำนาจอันสูงศักดิ์ หรือพระราชอาญาสิทธิ์อันล้นพ้นในพระราชอาณาจักร มีเรื่องเล่าว่าพระเเสงนี้เป็นของเก่า ทางเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (เเบน) เจ้าเมืองเสียมราฐ ได้นำดาบซึ่งชาวประมงทอดเเหเก็บได้ไปถวายพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสุนทรบรมมหาจักรพรรดิ (รัชกาลที่ ๑) ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๗ ในวันที่พระเเสงนั้นมาถึงพระนครได้เกิดอสุนีบาตตกลงมาในพระนครถึง ๗ เเห่ง (ผู้เขียนเองเคยอ่านเจอว่าตกที่ไหนบ้าง เเต่หนังสือเล่มนั้นหายไปเเล้ว) เช่นที่ประตูพิมานไชยศรีกับประตูวิเศษไชยศรี เมื่อพระเเสงองค์นี้ผ่านจึงทำให้ประตูเหล่านี้มีนามต่อท้ายว่า "ไชยศรี" เช่นเดียวกับพระเเสงขรรค์ เป็นพระแสงศาตราวุธที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีที่สำคัญคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
๓. ธารพระกร
ธารพระกรนี้เดิมชื่อว่าธารพระกรชัยพฤกษ์ ทำจากไม้ชัยพฤกษ์หุ้มทองคำ เป็นสัญลักษณ์ถึงการมีพระชนมายุยืนนานเเละพระปัญญาอันยิ่ง
๔. วาลวิชนีเเละพระเเส้
ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา ใช้คำว่า จามร ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี ส่วนวาลวิชนีเดิมเป็นพัดใบตาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ชื่อ วาลวิชนีนั้น คำว่าวาล เป็นขนวัวที่เรียกว่า จามรี จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว และให้ใช้คู่กันไปกับพัดวาลวิชนี ซึ่งทำด้วยใบตาล ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยาราชาวดี หมายถึงทรงปกครองให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขเเละปัดเป่าผองภัยให้สิ้นไปจากพสกนิกรของพระองค์
๕. ฉลองพระบาทเชิงงอน
เป็นฉลองพระบาทที่หมายถึงเกือกเเก้ว เเละเป็นเเผ่นดินที่รองรับในเขาพระสุเมรุ หากเสด็จไปที่ใดที่นั่นก็จะอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยทั้งปวง กับทั้งเป็นการไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพอันสูงส่งเเละดำรงไว้ซึ่งพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ต้องเเบกรับภาระอันหนักหน่วงของประเทศชาติ
โฆษณา