20 ม.ค. 2022 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
ครัวเก่าใช้มานานย่อมเสียหายหรือไม่สอดคล้องกับการใช้งานปัจจุบัน หลายคนอยากรีโนเวตห้องครัวแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ซึ่งนอกจากเรื่องสไตล์การตกแต่งแล้ว ยังมีหลายปัจจัยที่ควรพิจารณาเพื่อป้องกันปัญหาในภายหลัง เรามาดู 10 เรื่องต้องรู้ในการรีโนเวตและต่อเติมครัวกัน
1. เพิ่มตู้ติดผนัง ติดตั้งอย่างไร
ผนังที่ติดตั้งต้องมีความแข็งแรง จึงควรตรวจสอบประเภทผนังก่อนติดตั้ง
-ผนังโครงคร่าว ก่อนติดตั้งตู้ควรเสริมโครงคร่าวให้ตรงกับตำแหน่งติดตั้งตู้เพื่อรับน้ำหนัก ไม่ควรเจาะยึดกับวัสดุแผ่นอย่าง แผ่นยิปซัม แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เพราะจะรับน้ำหนักได้ชั่วคราว และพังลงมาในภายหลัง
-ผนังก่ออิฐมอญและอิฐมวลเบา สามารถเจาะยึดกับผนังได้เลย โดยใช้พุกให้ตรงตามประเภทผนัง
1
-ผนังก่ออิฐบล็อก ไม่แนะนำให้ติดตั้งตู้ที่มีน้ำหนักมาก เพราะภายในอิฐบล็อกมีลักษณะกลวง และเนื้ออิฐไม่แน่น แต่หากจำเป็นควรเจาะยึดตามแนวรอยต่ออิฐซึ่งเป็นส่วนปูนก่อที่มีเนื้อแน่น และหากเจาะเจอส่วนที่กลวง ให้ใช้พุกผีเสื้อเหล็กก็จะช่วยรับน้ำหนักได้ดีขึ้น
2. แสงสว่างและการเดินสายไฟใหม่
การจัดแสงสว่างให้ทำครัวได้ชัดเจน คือ การติดตั้งหลอดไฟเหนือเคาน์เตอร์ โดยติดตั้งไว้ใต้ตู้ติดผนัง หากอาศัยเฉพาะไฟเพดานจะเกิดเงาบังขณะทำอาหารได้ ส่วนการเดินสายไฟใหม่ถ้าไม่อยากกรีดผนังเพื่อฝังสายไฟ แนะนำให้เดินท่อร้อยสายจัดระเบียบให้เรียบร้อย หรือเดินสายซ่อนไว้ในตู้หรือเคาน์เตอร์ ก็ช่วยบังความไม่เรียบร้อยได้ แต่ถ้าสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าค่อนข้างเก่ามีอายุมากกว่า 10 ปี จะรีโนเวตทั้งทีก็ควรพิจารณาเปลี่ยนใหม่จะใช้ต่อได้อีกยาวๆ
3. หลักการวางแปลน
ก่อนรีโนเวตหรือต่อเติมครัว พิจารณาว่าแปลนเดิมใช้งานได้ดีหรือไม่ โดยฟังก์ชันหลักคือ ตู้เย็น อ่างล้างจาน และเตาไฟ ซึ่งเป็นส่วนเก็บ ส่วนล้าง และส่วนปรุงอาหารตามลำดับ ควรจัดวางเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือเป็นเส้นตรงสั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานในห้องครัวมีความคล่องตัว และเพื่อความสะดวกควรมีระยะช่องทางเดินอย่างน้อย 1.10 เมตร
1
4. พื้นที่ห้องและรูปแบบเคาน์เตอร์
-พื้นที่ 3-5 ตร.ม. ควรทำเคาน์เตอร์รูปตัวไอ (I) โดยชิดผนังด้านใดด้านหนึ่ง จัดพื้นที่ทั้ง 3 โซน อยู่ในแถวเดียวกัน ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะเป็นครัวในคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮ้าส์
-พื้นที่ 6 ตร.ม. ขึ้นไป สามารถทำเคาน์เตอร์รูปตัวแอล (L) ซึ่งช่วยให้การทำครัวสะดวกขึ้น ควรวางตู้เย็นให้ประตูตู้เย็นเปิดออกไปด้านเคาน์เตอร์ ก็จะทำให้มีพื้นที่การเปิดหยิบของมากกว่า และนำของออกมาวางที่เคาน์เตอร์ได้ง่าย
-พื้นที่ 9 ตร.ม. ขึ้นไป เหมาะกับเคาน์เตอร์รูปตัวยู (U) หรือจะวางเคาน์เตอร์ตัว i สองแถวขนานกันก็ได้
-พื้นที่ 12 ตร.ม. ขึ้นไป สามารถจัดเคาน์เตอร์แบบไอส์แลนด์ ซึ่งเข้าได้กับเคาน์เตอร์ทุกรูปแบบ ทั้งเคาน์เตอร์รูปตัวไอ (I) รูปตัวยู (U) หรือรูปตัวแอล (L) สามารถทำได้ทั้งครัวไทยและครัวฝรั่งแบบ Open Space ซึ่งสามารถออกแบบเป็นเคาน์เตอร์บาร์ได้ด้วย
5. เปลี่ยนอ่างล้างจาน ย้ายเตาไฟ รู้ไหมควรห่างกันเท่าไร
พื้นที่ข้างเตาไฟทั้งสองข้างควรเว้นที่ว่างไว้ข้างละอย่างน้อย 45 เซนติเมตร เพื่อเป็นที่วางหม้อ กระทะและอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว อีกทั้งระหว่างตู้เย็นและอ่างล้างจานก็ควรมีพื้นที่ว่างสำหรับ วางของที่หยิบออกจากตู้เย็นและวางจานชามที่เตรียมล้างหรือล้างเสร็จแล้ว โดยมีระยะอย่างน้อย 30 – 45 เซนติเมตร
6. ความสูงตู้ เตาอบ และเครื่องดูดควัน
-ตู้ติดผนัง ควรสูงจากท็อปเคาน์เตอร์ครัวประมาณ 40 – 70 เซนติเมตร หรือไม่น้อยกว่า 1.35 เมตร จากพื้นห้อง และลึกประมาณ 30 – 35 เซนติเมตร เพื่อป้องกันศีรษะของผู้ใช้งานชนหรือกระแทก
-เครื่องดูดควันและเตาปรุงอาหาร เตาไฟควรสูงเท่ากับท็อปเคาน์เตอร์ ส่วนเครื่องดูดควันควรสูงจากเตาประมาณ 50 – 70 เซนติเมตร
-เตาอบ ควรสูงระดับเดียวกับเคาน์เตอร์จะใช้งานสะดวกที่สุด หรือติดตั้งสูงจากพื้นถึงฐานเตาอบที่ 45 – 70 เซนติเมตร ก็ยังใช้งานสะดวก
7. ควรทำเคาน์เตอร์สูงเท่าไร
ความสูงของเคาน์เตอร์จะสัมพันธ์กับความสูงของผู้ใช้งาน
-ผู้ใช้สูงไม่เกิน 159 เซนติเมตร เคาน์เตอร์ควรสูง 83 เซนติเมตร
-ผู้ใช้สูง 160-167 เซนติเมตร เคาน์เตอร์ควรสูง 85 เซนติเมตร
-ผู้ใช้สูง 168-174เซนติเมตร เคาน์เตอร์ควรสูง 90 เซนติเมตร
-ผู้ใช้สูงตั้งแต่ 175 เซนติเมตร เคาน์เตอร์ควรสูง 92 เซนติเมตร
แต่โดยปกติมักมีผู้ใช้เคาน์เตอร์ครัวหลายคน จึงนิยมทำเคาน์เตอร์ครัวที่ความสูง 85 หรือ 90 เซนติเมตร แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน ใครถนัดแบบไหนก็ทำตามถนัดกันได้
8. การเปลี่ยน-เพิ่มอุปกรณ์ครัว
หากมีการเปลี่ยนหรือเพิ่มอุปกรณ์ครัว ควรตรวจสอบขนาดและวิธีการติดตั้ง เพื่อให้สามารถติดตั้งกับพื้นที่เดิมได้
-อ่างล้างจาน เช็กขนาดหลุมที่เจาะ (ก้มดูใต้เคาน์เตอร์) ความลึกอ่าง ตำแหน่งก๊อกน้ำ และระยะท่อระบายน้ำ
-เตาไฟ มีทั้งประเภทตั้งบนเคาน์เตอร์และฝังเคาน์เตอร์ จึงต้องเช็กขนาดเตากับช่องของเคาน์เตอร์ให้ตรงกัน
-เครื่องดูดควัน การติดตั้งใหม่ ให้พิจารณาแนวการเดินท่อและจุดที่จะระบายควันออก ซึ่งระบายออกได้ทางผนังและหลังคา แต่ถ้าไม่สามารถเดินท่อได้ มีรุ่นที่ใช้ระบบกรองอากาศโดยไม่ต้องเดินท่อ แต่ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า
-เตาอบ มีทั้งแบบลอยตัวและบิลท์อิน การติดตั้งมีข้อควรระวัง 2 เรื่อง คือ ควรทำปลั๊กแยกสำหรับเตาอบและมีเบรกเกอร์เฉพาะ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไฟมากและใช้ต่อเนื่องนาน ไม่ควรใช้ปลั๊กร่วมกันอุปกรณ์อื่น และเรื่องการระบายความร้อนของเตาอบ ซึ่งมีทั้งการระบายความร้อนด้านหน้า ด้านบน และด้านหลัง จึงต้องเลือกให้เหมาะกับพื้นที่ติดตั้ง หากเป็นเตาแบบลอยตัว ต้องเว้นระยะการวางตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ ส่วนเตาอบแบบบิลท์อิน อย่าลืมทำช่องระบายความร้อนด้วย
9. เปลี่ยนวัสดุท๊อปเคาน์เตอร์ใหม่ เลือกอะไรดี
ก่อนจะเปลี่ยนท๊อปเคาน์เตอร์ใหม่ ต้องรู้โครงสร้างเคาน์เตอร์ก่อนว่าเป็นแบบโครงคร่าวหรือเคาน์เตอร์ปูน หากเป็นเคาน์เตอร์ปูนจะสามารถติดตั้งวัสดุท๊อปเคาน์เตอร์ได้ทุกชนิด ส่วนเคาน์เตอร์โครงคร่าวจะติดตั้งได้เฉพาะท๊อปเคาน์เตอร์ที่เป็นวัสดุแผ่น มาดูท๊อปเคาน์เตอร์ยอดนิยมกัน
-หินแกรนิต มีความแข็งแรงทนทาน พื้นผิวลื่นเป็นมัน เช็ดทำความสะอาดง่าย มีหินหลายสีให้เลือก
-หินสังเคราะห์/หินเทียม มีทั้งที่ผลิตจากอะคริลิกและเรซิ่น สามารถสั่งผลิตชิ้นเดียวได้แบบไม่มีรอยต่อ ไม่เป็นที่สะสมของสิ่งสกปรก แต่ไม่เหมาะกับครัวไทยซึ่งมีการกระแทกบ่อย
-ซีเมนต์ขัดมัน เหมาะสำหรับครัวไทยและแพนทรี่สไตล์ลอฟต์ สามารถก่อขึ้นรูปได้ตามต้องการ เมื่อเคลือบพื้นผิวแล้วจะช่วยป้องกันน้ำและความชื้นได้ดี แต่หากฉาบไม่ดีอาจเกิดรอยร้าวได้
–สเตนเลส เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่เน้นความทนทาน และพื้นผิวทำความสะอาดง่ายไม่มีการดูดซึมน้ำและสิ่งสกปรก แต่จะเกิดรอยขีดข่วนได้หากขัดหรือถูแรงๆ ที่เนื้อวัสดุโดยตรง
10. ทำผนังกันเปื้อนและพื้นกันลื่น
ครัวที่ใช้งานจริงมักเปียกชื้นและเปื้อนคราบอาหารไปทั่วห้อง ผนังครัวโดยเฉพาะผนังหน้าเตาไฟและหน้าอ่างล้างจาน ควรใช้วัสดุที่พื้นผิวทนความชื้น ไม่กักเก็บสิ่งสกปรก และเช็ดทำความสะอาดง่าย ใช้ได้ทั้งกระเบื้องเซรามิก หินแกรนิต สเตนเลส แต่ไม่แนะนำการกรุกระจก ซึ่งแม้จะเช็ดง่าย แต่ก็เห็นคราบเปื้อนง่ายด้วย
ส่วนการเลือกพื้นห้องครัวที่มักเปียกน้ำบ่อย ควรใช้วัดสุกันลื่นที่พื้นผิวไม่หยาบเกินไป เพื่อให้เช็ดทำความสะอาดได้ง่ายด้วย แนะนำให้ใช้กระเบื้องหรือหินแบบขอบตัด (ขอบตรง) ซึ่งปูชิดได้ ก็จะลดคราบสกปรกที่มักสะสมในร่องยาแนวที่ทำให้ห้องครัวดูเก่าเร็ว แต่ถ้าใครอยากปูทับพื้นเดิมโดยไม่รื้อ อย่างลืมเช็กความสูงเคาน์เตอร์และประตูห้องซึ่งสัมพันธ์กับระดับความสูงพื้นด้วย
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และนิตยสาร room
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://cutt.ly/qnVRmXD
คลังสาระความรู้เรื่องบ้าน ช่าง และพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา