18 ม.ค. 2022 เวลา 02:00 • ข่าวรอบโลก
จีนเลิก Soft Tech เปลี่ยนสู่ Hard Tech
8
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
7
ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนจัดการบริษัท Big Tech รายแล้วรายเล่าชนิดสะเทือนขวัญ ตั้งแต่การใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดเล่นงาน Alibaba, Tencent, Meituan ซึ่งล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจแพลตฟอร์มของจีน ตามด้วยการใช้กฎหมายข้อมูลเล่นงาน Didi แอปเรียกรถที่ใหญ่ที่สุด การห้าม Ant Financial ยักษ์ใหญ่ฟินเทคเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงการจัดการธุรกิจเกมออนไลน์และติวเตอร์ออนไลน์
11
หลายคนตั้งคำถามว่า รัฐบาลจีนกำลังหันหลังให้กับภาคเทคโนโลยีหรือไม่ และจะสิ้นสุดยุครุ่งเรืองของบริษัทเทคโนโลยีจีนหรือเปล่า
3
แต่มีนักวิเคราะห์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ที่รัฐบาลจีนเล่นงานทั้งหมดนั้นล้วนเป็นธุรกิจ Soft Tech ได้แก่ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมริ์ซ ฟินเทค เกมออนไลน์ ติวเตอร์ออนไลน์ แต่รัฐบาลจีนกลับไม่ได้เล่นงานธุรกิจ Hard Tech เลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ไบโอเทค หุ่นยนต์ ควอนตัม
11
เสมือนหนึ่งรัฐบาลจีนต้องการส่งสัญญาณเปลี่ยนจุดเน้นจาก Soft Tech ไปสู่ Hard Tech และต้องการดันให้เม็ดเงินลงทุนไหลจากภาค Soft Tech ไปสู่ภาค Hard Tech แทน
17
เฉินหลี่ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจชื่อดังของจีน อธิบายว่า รัฐบาลจีนต้องการพัฒนาประเทศตามโมเดลเยอรมนี แทนที่โมเดลสหรัฐฯ
16
สองโมเดลนี้ต่างกันอย่างไร?
1
โมเดลสหรัฐฯ นั้น หัวใจอยู่ที่ Silicon Valley และ Wall Street กล่าวคืออยู่ที่ ภาค Soft Tech ใน Silicon Valley ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Amazon, Google กับภาคการเงินใน Wall Street ที่เต็มไปด้วยการเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง
8
แต่สหรัฐฯ แทบไม่มีภาคการผลิตหลงเหลืออยู่อีกต่อไป เพราะภาคการผลิตของสหรัฐฯ ย้ายโรงงานมาจีนตลอดช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ตรงกันข้ามกับโมเดลของเยอรมนีที่ยังคงความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาค Hard Tech ดังที่รัฐบาลเยอรมนีกำลังยกระดับประเทศสู่ Industry 4.0 และ 5.0
13
ปีเตอร์ ธีล อดีตผู้ก่อตั้ง Paypal เคยกล่าววิพากษ์วงการเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทำนองว่า “สังคมต้องการรถยนต์รุ่นใหม่ที่บินได้ แต่เรากลับได้โซเชียลมีเดีย 140 คำ” (เขาประชดถึง Twitter)
21
เหอฟาน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีน อธิบายว่า รัฐบาลจีนต้องการส่งเสริมภาคเทคโนโลยีที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ประเทศแข็งแกร่ง ภาคเทคโนโลยีและภาคธุรกิจใดตอบโจทย์การช่วยให้ประเทศแข็งแกร่งย่อมได้รับการสนับสนุน
13
เซี่ยกั๋วจง นักเศรษฐศาสตร์จีนอีกคน ให้ความเห็นว่ารัฐบาลจีนมองว่าภาค Soft Tech และภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ต่อรัฐบาลจีนอีกต่อไป ภาค Soft Tech กลายมาเป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่ผูกขาด จนร่ำรวยจากการผูกขาดมากกว่าการสร้างนวัตกรรม
26
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็ดันค่าครองชีพของคนจีนในเมืองให้สูงทะลุเพดาน จนทำให้คนชนบทไม่สามารถย้ายเข้าเมืองเพื่อยกระดับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง และทำให้คนรุ่นใหม่ของจีนไม่ยอมมีลูก
15
สถิติตัวเลขการลงทุนด้านเทคโนโลยีของปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสนับสนุนคำอธิบายเหล่านี้ Bloomberg รายงานว่าการลงทุนของ Venture Capital ในภาคเทคโนโลยีของจีนในปี ค.ศ. 2021 มีมูลค่าสูงถึง 130,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากปี ค.ศ. 2020 ถึงร้อยละ 50 และสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
10
ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าเงินหยุดไหลเข้าภาคเทคโนโลยีของจีน แต่เงินกำลังไหลจากภาค Soft Tech ไปสู่ Hard Tech ต่างหาก ในเม็ดเงินลงทุนมหาศาลของ Venture Capital ของจีนนั้น สองภาคเทคโนโลยีที่กำลังร้อนแรงคือ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมไบโอเทค
6
สตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนได้เม็ดเงินลงทุนถึง 8,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าภาคธุรกิจเดียวกันทางฝั่งสหรัฐฯ ถึง 6 เท่าตัว ส่วนภาคไบโอเทคของจีน ก็มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไปในอุตสาหกรรมดังกล่าวสูงถึง 14,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นจากปี ค.ศ. 2016 ถึง 10 เท่าตัว
14
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะที่ผ่านมา จีนถูกสหรัฐฯ ตัดแข้งตัดขาไม่ให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัทสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ดังนั้น ในแผนเศรษฐกิจ 5 ปี ของจีน จึงเน้นชัดถึงการพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยี และการสร้างความมั่นคงของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
9
นักวิเคราะห์บางคนไม่ได้เรียกอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่าเป็น Hard Tech แต่เรียกว่าเป็น Deep Tech คือเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีศักยภาพจะปฏิวัตินวัตกรรมและโครงสร้างการผลิต แทนที่จะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีประยุกต์หรือเทคโนโลยีแพลตฟอร์มแบบที่บริษัทเทคโนโลยีจีนประสบความสำเร็จมาในอดีต
12
กลุ่มวิพากษ์รัฐบาลจีนยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางจัดการ Big Tech ที่ผ่านมา มีคนชี้ว่าทำให้บรรยาการการสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการดูไม่สดใสเช่นในอดีต บางคนชี้ว่าเม็ดเงินลงทุน Venture Investing ของสหรัฐฯ โดยรวมแล้วยังสูงกว่าจีนถึงเท่าตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเม็ดเงินของสหรัฐฯ จำนวนมากไหลไปในสตาร์ทอัพ Soft Tech ที่เป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดีย แทนที่จะเป็น Hard Tech และ Deep Tech อย่างฝั่งจีน
9
หลายคนยังตั้งคำถามเกี่ยวกับศักยภาพการสร้างสรรค์ของบริษัทเทคโนโลยีจีนในภาค Hard Tech เพราะในปี ค.ศ. 2021 ก็มียักษ์ใหญ่หลายตัวในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้มครืน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่รัฐบาลจีนเคยสนับสนุนอย่าง Tsinghua Unigroup หรือสตาร์ทอัพที่เคยระดมทุนได้มหาศาลอย่าง Wuhan Hongxin Semiconductor Manufacturing Corp. และ Quanxin Integrated Circuit Manufacturing (Jinan) Co. ทั้งหมดล้วนไปต่อไม่ได้ในปีที่ผ่านมา
15
แต่นี่เป็นเกมที่รัฐบาลจีนพร้อมเดิมพันและส่งสัญญาณสนับสนุนว่าไม่กลัวพัง ขอแค่ให้มีเจ้าที่สำเร็จออกมาได้เป็นพอ และหัวใจของเดิมพันนี้ที่สำคัญอาจไม่ใช่เรื่องเม็ดเงิน เท่ากับเรื่องทรัพยากรมนุษย์ จากการสำรวจพบว่า ในปีที่ผ่านมา ทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของจีน ทั้งเด็กจบใหม่และทั้งการเปลี่ยนงาน ต่างเลือกไหลเข้าไปในอุตสาหกรรม Hard Tech มากกว่า Soft Tech อย่างชัดเจน
10
นี่เป็นภาพเดียวกับคลื่นคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์บริษัท Big Tech ของจีนเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนมาที่ภาค Hard Tech และ Deep Tech แทนเท่านั้นเอง
7
โฆษณา