18 ม.ค. 2022 เวลา 05:00 • ปรัชญา
อย่าให้คำพูดของคุณทำร้ายความรู้สึกคนอื่น
❝ หลายคนไม่ตระหนักว่า คำพูดหรือการกระทำของตนเองในหลายๆครั้ง เป็นการทำร้ายจิตใจผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากยังขาดความรู้และความเข้าใจ ❞
Case Study : ณ สถานโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พยาบาลจำเป็นต้องเจาะเลือดเด็กเพื่อนำไปตรวจ ซึ่งเด็กคนนี้ป่วยเป็นโรคตั้งแต่เด็กจนทำให้ตาของเขาบอดสนิทมองไม่เห็นตั้งแต่แรกเกิด ด้วยความที่มองไม่เห็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เด็กจึงดิ้นเพราะกลัวเจ็บ พยาบาลช่วยกันกดล๊อคเพื่อไม่ให้เด็กดิ้น พร้อมพูดขู่ว่า ❝ อย่าดิ้นนะ ถ้าดิ้นเดี๋ยวจับตัดแขนเลย ❞
คำถามคือ..คุณคิดว่าเด็กจะยิ่งกลัวไหม ?
เด็กกลับยิ่งดิ้นมากขึ้นเพราะความหวาดกลัว คำพูดที่ทำร้ายความไว้ใจมันพังทลายลงอย่างไม่เหลือชิ้นดี
เราจึงตั้งคำถาม เพื่อหาจรรยาบรรณในวิชาชีพอยู่บ่อยครั้งไป
เราจะสร้างสัมพันธภาพอย่างไร เพื่อให้เด็กเกิดความไว้ใจ ในขณะที่เด็กตัวเล็กๆที่มองไม่เห็นและกลัวเข็มฉีดยา
พูดอย่างไรให้คนฟังรู้สึกดี
1. ระวังการใช้คำพูดในเชิงเปรียบเทียบ (เทียบว่าคนนี้หน้าตาแย่กว่าคนอื่นอย่างไร) ควรหลีกเลี่ยงคำพูดในเชิงวิจารณ์
2. พูดหรือพิมพ์อย่างมีสติ คิดก่อนพูด พึงระวังไว้เสมอว่าคำพูดที่ออกจากปากเราไปแล้ว ไม่สามารถย้อนหวนกลับคืนมาได้ คำพูดที่ทำร้ายความรู้สึก มันบั่นทอนสภาพจิตใจต่อผู้ฟังแค่ไหน
3. การใช้คำพูดในเชิงตัดสิน เช่น ตัดสินว่าเขาทำถูกหรือผิด แล้วรีบแนะนำหาหนทางแก้ไขปัญหาให้ โดยบางครั้งการที่เราด่วนตัดสินจนเกินไป อาจทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะรับฟังเขา
4. ระหว่างพูด ต้องระวัง Non Verbal Language ของตนเองอยู่เสมอ บางครั้งการพูดประโยคเดียวกันแต่น้ำเสียงและสีหน้าแตกต่างกัน อาจทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดว่าเราประชดตำหนิหรือเป็นการดุด่ากล่าวหา
5. พูดแบบ เอาใจเขา มาใส่ใจเรา (Empathy)คือ คิดอยู่เสมอว่าหากเราพูดแบบนี้ออกไป ผู้ฟังน่าจะรู้สึกอย่างไร
คุณไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่บนโลกนี้เพียงคนเดียว เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา พูดอย่างไรให้ได้รับความช่วยเหลือ พูดอย่างไรเพื่อให้คนฟังรู้สึกดีมีชีวิตอยู่ต่อไป พูดอย่างไรให้คนฟังรู้สึกดี หรือพูดอย่างไรไม่ให้เป็นการนำภัยมาสู่ตน คำพูดสำคัญและสิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณควรเรียนรู้ในสิ่งที่จะพูด
โฆษณา