17 ม.ค. 2022 เวลา 22:40 • การศึกษา
ศาลารอยพระบาท ศูนย์รวมใจ ความรัก ความสามัคคีของคนไทย ณ ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย
พื้นที่ดอยยาว – ดอยผาหม่น ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2510 เป็นต้นมา เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตภาคเหนือ มีการเปิดยุทธการในการรบจำนวนหลายครั้ง สูญเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จำนวนมาก
ในปีพุทธศักราช 2524 พันโท วิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 473 ในขณะนั้น ได้นำกำลังพล ซึ่งจัดจากค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย, ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ และค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง ในนามค่ายเม็งกาโต สับเปลี่ยนกำลังเข้าปฏิบัติการในพื้นที่บนดอยยาว - ดอยผาหม่น
ปีพุทธศักราช 2525 ด้วยนโยบายการเมืองนำการทหารของรัฐบาล ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ เขตงาน 8 และเขตงาน 52 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ดอยยาว – ดอยผาหม่น ยอมวางอาวุธ นำกองกำลัง และอาวุธ เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเยี่ยมข้าราชการ พสกนิกร และผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์ อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ซึ่งฝ่ายทหารจัดเตรียมถวาย นับเป็นการยุติการต่อสู้ระหว่างคนไทย และเริ่มต้นความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาประเทศ ตราบจนทุกวันนี้
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ ศาลารอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ณ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 ได้มี พิธีอัญเชิญรอยพระบาท ประดิษฐาน ณ ศาลารอยพระบาทฯแห่งใหม่ บนดอยโหยด กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย จนถึงทุกวันนี้
การดำเนินการก่อสร้าง กองทัพบกได้อนุมัติแผนงานการก่อสร้างศาลารอยพระบาทฯ ตามโครงการของกองทัพบก เทิดพระเกียรติ 80 พรรษา ประกอบด้วย
(1) ศาลารอยพระบาทฯ ศาลาทรงไทยจตุรมุข (ศาลาหลัก ซึ่งภายในประดิษฐานรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9)
(2) ศาลารอยพระบาทฯ ศาลาโถงทรงไทย 2 หลัง (ศาลาประกอบด้านซ้าย – ด้านขวา)
(3) ถนนทางขึ้นศาลารอยพระบาทฯ
ต่อมาปี 2557 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมสนับสนุนดำเนินการก่อสร้าง และปรับปรุงเพิ่มเติม ประกอบด้วย
(1) อาคารหอนิทรรศการ (สำหรับใช้บรรยายประวัติความเป็นมา)
(2) ซุ้มประตูทางเข้า ศาลารอยพระบาทฯ
(3) จุดชมวิว สะพานโค้ง
นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ได้จัดทำประติมากรรม “มหาราชจักรีวงศ์” ประดับไว้ ณ สวนหย่อม ทางขึ้นศาลารอยพระบาทฯ เพื่อร่วมถวายพระเกียรติด้วย
กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยได้เยี่ยมชม และสักการะรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยสามารถเดินทาง ไปสัมผัสกลิ่นไอแห่งความทรงจำ อันมีค่าแห่งความรัก ความสามัคคีของคนไทย ได้ ณ ศาลารอยพระบาทฯ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ค่ายเม็งรายมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ในเวลา 08.00 – 17.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (ประสานรายละเอียดเพิ่มเติมการนำทัศนศึกษาได้ที่ กองบังคับการ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 หมายเลขโทรศัพท์ 053–711205)
#วันกองทัพไทย
#430ปีวันยุทธหัตถี
#วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
โฆษณา