18 ม.ค. 2022 เวลา 04:36 • การศึกษา
ครูกับลูกศิษย์ (2)
มองย้อนกลับไป หลังจากเรียนจบชั้น มศ.3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนแล้ว ก็ต้องออกไปเรียนต่อที่อื่นซึ่งมีทางให้เลือกอยู่ 2 ทางคือสายสามัญและสายอาชีวศึกษา สายสามัญต้องเรียนอีก 2 ปี ก็จะจบ มศ.5 (ปัจจุบันคือ ม.6) จากนั้นก็เข้าสู่เส้นทางเอ็นทร้านซ์ที่เราชอบไปเรียกอีกชื่อว่า “เอ็นสะท้าน” เพราะการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นต้องสอบแข่งขันและยังไงก็มีที่นั่งที่จำกัด ใครผิดหวังก็ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยของเอกชนหรือมหาวิทยาลัยเปิดสมัยนั้นมีแค่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใครมีทุนเดิมมากหน่อยก็อาจไปเรียนต่อต่างประเทศ
อีกเส้นทางหนึ่งคือสายอาชีวะศึกษาที่เรียนเพียง 3ปี ก็จะจบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สามารถออกไปทำงานได้ทันทีหรือถ้าอยากเรียนต่อก็ไปเพิ่มอีก 2 ปี จะได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หากยังไม่พอใจ ยังไปสอบเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยก็ยังได้อีก
แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือเราจะต้องแยกย้ายกับเพื่อนๆและครู สมัยก่อน สมุดเฟรนด์ชิพคือสิ่งเตือนใจให้รู้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยเรียนอยู่ด้วยกัน การที่ได้เห็นเพื่อนๆเขียนอำลา อวยพร ด้วยลายมือของตัวเองนั้น มันคือความทรงจำที่ล้ำค่า มากไปกว่านั้น คือการที่เราได้ให้คุณครูเขียน เท่าที่ได้เห็นครูส่วนใหญ่เขียนอวยพรสั้นๆแต่ลึกซึ้งด้วยความหมายดีๆทั้งนั้น ครูมักจะเขียนสั้นๆแต่ได้เนื้อหา ในขณะที่เพื่อนจะเขียนเอาสนุกประสาคนคุ้นเคย
จำได้ว่าตอนที่ออกไปเรียนต่อในปีแรกนั้น เรายังกลับไปเยี่ยมเยียนคุณครูอยู่หลายครั้ง ด้วยความที่เราไปเรียนสายอาชีวะศึกษา ซึ่งแบ่งการเรียนเป็นภาคเช้ากับภาคบ่าย เราเรียนอยู่ภาคเช้า เลิกเรียนเวลาเที่ยงครึ่ง ช่วงบ่ายจึงมีเวลาที่จะกลับไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนเก่าได้ แต่พอถึงปีการศึกษาถัดไป ด้วยความที่การเรียนที่หนักขึ้นประกอบกับมีเพื่อนใหม่ จึงห่างกับการไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าโดยปริยาย และในที่สุดก็เปลี่ยนไปเป็นความทรงจำสีจางๆ
วันเวลาที่ผ่านไป ทำให้แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น เริ่มต้นทำงาน ก้าวไปถึงการมีครอบครัวใหม่ ไม่น่าเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้การค้นหาเพื่อนเก่าง่ายขึ้น โดยเฉพาะเฟสบุ๊คและไลน์ ในที่สุดเราก็ได้มีโอกาสร่วมกลุ่มกันใหม่อีกครั้ง แน่นอนว่าคงไม่ได้เจอกันครบทั้งหมด เพราะวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี เราได้พบปะพูดคุยกันคุยถึงเรื่องราวเก่าๆรวมถึงคุณครูด้วย และมีความปรารถนาที่จะตั้งกองทุนเล็กๆขึ้นมาสำหรับคุณครูของพวกเรา สืบเสาะกันว่ามีครูท่านไหนที่ป่วยอยู่บ้าง ด้วยความที่ครูของพวกเราล้วนเกษียณในโรงเรียนเอกชน ไม่ได้มีเงินบำนาญ จึงหวังว่ากองทุนเล็กๆของเราอาจจะแบ่งเบาภาระส่วนตัวได้บ้าง เมื่อได้ไปเยี่ยมจึงได้รู้ว่ามีลูกศิษย์รุ่นอื่นๆก็คิดแบบเดียวกับกลุ่มเราเช่นกัน
กิจกรรมเยี่ยมเยียนครูต้องหยุดไปเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ย่างกรายเข้ามา นับจนถึงวันนี้ก็ครบสองปีพอดี เพื่อนคนหนึ่งเปิดประเด็นในไลน์ว่าเงินกองทุนของเราแช่นิ่งๆมาสองปีแล้ว เราน่าจะนำไปให้ครูเนื่องในโอกาสวันครู ว่าแล้วก็จัดแจงติดต่อครู สอบถามเรื่องสุขภาพ ได้รับทราบว่ามีบางท่านที่สุขภาพแย่ลง แต่ก็มีครูหลายท่านสุขภาพแข็งแรงดี ตอนนี้แหละที่กองทุนของเราน่าจะได้ใช้ประโยชน์อีกครั้ง
เราโทรไปหาครูทุกท่านเพื่อขอเลขบัญชี แจ้งวัตถุประสงค์ว่าทางกลุ่มอยากมอบปัจจัยเป็นของขวัญวันเกิด เชื่อหรือไม่ว่าครูเกือบทุกท่านตอบกลับมาว่าไม่อยากรบกวน เพราะรู้ว่าช่วงนี้เศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว นี่คือคุณธรรมของครูที่ไม่อยากรบกวนลูกศิษย์ แต่เรายืนยันว่านี่เป็นของวันวันครูที่ลูกศิษย์อยากมอบให้ ครูทุกท่านอวยพรให้กับลูกศิษย์ประสาผู้ใหญ่ที่เอ็นดู
วันถัดมา ...เราได้รับไลน์จากครูท่านหนึ่งชื่อว่าครูเกษร ท่านขอบคุณปัจจัยที่โอนไปให้ และมีข้อความทำทำให้รู้สึกชื่นใจเป็นพิเศษ
“ครูได้ไปทำบุญถวายสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ 2 รูป และถวายปัจจัย 3รูป ที่วัดวังจันทร์ จ.สมุทรสงคราม อยู่เลยทางเข้าค่ายลูกเสือทีปังกร อยู่ใกล้ชายทะเล หมู่บ้านชาวประมง ครูขอตั้งจิตอนุโมทนาบุญให้ลูก ก ล ว และทุก ๆท่านในครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุเภทภัยใดๆ คิดดีทำดีขอให้สำเร็จสมความปรารถนาทุกประการนะคะ”
สิ่งดีเรื่องหนึ่งของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่ในอดีตคือความกตัญญูรู้คุณ ครูกับลูกศิษย์ย่อมมีความผูกพันกันระดับหนึ่ง เราต้องเห็นหน้ากันในโรงเรียนตลอดปีการศึกษา เมื่อลูกศิษย์เติบโตเป็นผู้ใหญ่และระลึกถึงครูที่เคยสอนและอยากช่วยเหลือ แสดงให้เห็นว่าความมีน้ำใจของคนในสังคมไทยนั้น เป็นสิ่งที่ดีงามที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีตที่ควรสืบสานกันต่อไป
โฆษณา