21 ม.ค. 2022 เวลา 12:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมครั้งหนึ่งเศรษฐศาสตร์ถึงเป็นวิชาต้องห้ามในประเทศไทย I โดย "วงเล่า"
เราอาจแปลกใจ ถ้าบอกว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ที่หลายคนเคยเรียนหรือกำลังเรียนกันอยู่ในวันนี้ ครั้งหนึ่งกลับเป็นวิชาต้องห้ามในประเทศไทย
รัฐบาลไทยในยุคหนึ่งถึงขนาดห้ามไม่ให้เผยแพร่หนังสือที่สอนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น จนทำให้วิชานี้เคยเป็นวิชาต้องห้ามสำหรับการเรียน การสอน วันนี้เราจะไปหาคำตอบพร้อมกัน
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับความหมายและที่มาที่ไปของวิชานี้กันก่อน
เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน โดยพื้นฐานแนวคิดของวิชานี้ คือ การนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ เพื่อสนองตอบความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัดของมนุษย์
5
จริงๆ แล้ววิชาเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นมาพร้อมกับการมีสังคมมนุษย์ตั้งแต่โบราณกาล แต่เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 13-16
เนื่องจากช่วงนั้น เป็นช่วงที่ธุรกิจการค้าของทวีปยุโรปเจริญก้าวหน้ามาก มีการซื้อขายสินค้ากันอย่างกว้างขวาง เพราะหลายประเทศเชื่อว่า การทำการค้าจะนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศของตน
แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่ลัทธิที่ชื่อว่า “ลัทธิพาณิชย์นิยม” ที่เติบโตอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 16-18
ขณะที่ในช่วงเวลานี้ Adam Smith นักเศรษฐศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" หรือ the wealth of Nations ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรี
the wealth of Nations
หนังสือเล่มดังกล่าวไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนังสือวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดเล่มหนึ่งของโลก แต่ยังทำให้ Adam Smith ได้รบการยกย่องให้เป็น "บิดาทางเศรษฐศาสตร์" อีกด้วย
Adam Smith
จากนั้นเป็นต้นมา วิชาเศรษฐศาสตร์ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการเรียนการสอนตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และแน่นอนว่าในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศที่มีการเปิดเป็นคณะเศรษฐศาสตร์กันหลายแห่ง
สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ว่าแนวคิดเรื่องหลักเศรษฐศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้ในด้านการค้า การเก็บภาษีอากร มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ก็ยังไม่ได้ถูกรวบรวมและมีศึกษาอย่างเป็นแบบแผนมากนัก
จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2454 พระยาสุริยานุวัตร์ (เกิด บุนนาค) ซึ่งเป็นสามัญชนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และผู้ลงนามในธนบัตร ทั้งยังมีผลงานด้านการเงินการคลังที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา การใช้สตางค์แทนอัฐ การเสนอแนวคิดให้ตั้งธนาคารชาติ และการปฏิรูประบบภาษีโดยให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง
ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศไทยด้วยเช่นกัน
พระยาสุริยานุวัตร์ (เกิด บุนนาค)
ซึ่งหนึ่งในผลงานสำคัญของตัวเขาก็คือ การเขียนหนังสือชื่อว่า “ทรัพยศาสตร์” (ต้นฉบับเดิมชื่อ ทรัพย์สาตร์ ชั้นต้น) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่นแรกของประเทศไทย แต่ยังถือเป็นหนึ่งในหนังสือดีติดอันดับ 100 เล่ม ที่คนไทยควรหามาอ่าน
หลักใหญ่ใจความของทรัพยศาสตร์คือ การกล่าวถึงสภาพความยากจนในสยาม แนวทางแก้ไขปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมไปถึงการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อลดการเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทย
ทรัพย์สาตร์ ชั้นต้น
โดยในสมัยนั้น ทางพระยาสุริยานุวัตร์ ได้แบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 3 ชนิด คือ
-ที่ดิน (Land)
-แรงงาน (Labour)
-ทุน (Capital)
ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนมองว่า ทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลงทุนจะทำให้เกิดผลตอบแทนที่งอกเงย
ทั้งนี้ พระยาสุริยานุวัตร์ยังชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสัดส่วนการถือครองทุนในระบบเศรษฐกิจ แรงงานได้ส่วนแบ่งจากการผลิตน้อย แต่นายทุนที่ผูกขาดปัจจัยการผลิตได้ส่วนแบ่งมาก
ทั้งยังมีการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาขั้นต่ำในชั้นประถมศึกษาโดยไม่เก็บเงินแก่ประชาชน
ซึ่งเมื่อหนังสือเล่มนี้มีการจัดพิมพ์ออกสู่สาธารณะปรากฏว่า ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปทันที
อย่างไรก็ตาม ก็มีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำของสังคม ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาหลายอย่างในหนังสือ ทั้งยังขอความร่วมมือจากรัฐบาลห้ามไม่ให้เผยแพร่หนังสือดังกล่าว
โดยมีการเสนอให้กระทรวงธรรมการว่า ไม่ควรใช้หนังสือเล่มนี้เป็นตำราเรียน แม้หนังสือเล่มนี้จะได้รับใบอนุญาตให้เป็นตำราเรียนแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 หนังสือทรัพยศาสตร์ได้รับการนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่ โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “เศรษฐวิทยาชั้นต้น”
โดยหลังจากถูกนำกลับมาตีพิมพ์ หนังสือเล่มดังกล่าวถูกนำมาสอนในลัทธิเศรษฐกิจในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นเอง
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
โฆษณา