18 ม.ค. 2022 เวลา 10:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จับตาความเสี่ยงโลกใน Global Risk Report 2022 ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum
ทุกปีในช่วงเวลานี้จะมีรายงานของ World Economic Forum (WEF) ออกมาบอกเล่าผลการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงของโลกในปีล่าสุด จากผลการสำรวจข้อมูลในรอบปีที่เพิ่งผ่านมา
รายงานของ World Economic Forum (WEF) ว่าด้วยความเสี่ยงโลกปี 2022
รายงานนี้ชื่อว่า Global Risk Report 2022 ปีนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นปีที่ 17 แล้ว
ทำไมถึงต้องสนใจความเสี่ยงของโลก? ตอบสั้นๆ ว่าเพราะหายนะของโลกคือหายนะของเราทุกคนครับ ถ้านึกภาพชีวิตของคุณเองก่อนและหลังโควิด-19 ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก มันได้แจกความหายนะไปถ้วนหน้า
1
ถ้ารายงานนี้เป็นเมนูอาหาร โควิด-19 ที่ผ่านมาก็เป็นหนึ่งในอาหารเรียกน้ำย่อยเท่านั้น แถมยังมีคนอื่นสั่งไปแล้ว แต่อาหารจานหลักยังมีให้เลือกอีกเยอะ
วันนี้ผมจึงจะมาสรุปให้ฟังครับว่า WEF เขาวิเคราะห์อะไรไว้บ้าง หลังจากทั่วโลกอยู่ภายใต้ภาวะโรคระบาดมาสองปีและก็ยังไม่หลุดพ้นจากโควิด-19 รวมทั้งเส้นทางอนาคตของระบบเศรษฐกิจสังคมโลกจะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร เมื่อมีความเสี่ยงใหม่ ๆ โถมเข้ามาตลอดเวลา
  • รู้จัก WEF
บอกเล่ากันก่อนว่า WEF เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศไม่แสวงกำไร ตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1971 ณ ประเทศที่เป็นกลางมาก ๆ คือสวิตเซอร์แลนด์ และที่ผ่านมาก็ได้ใช้ความเป็นกลางนี้ทำหน้าที่ทั้งเป็นทั้งสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย (think tank) และวางตัวเป็นสำนักประเมินและจัดอันดับความสามารถการแข่งขันของนานาประเทศทั่วโลก ฯลฯ
1
เป็นประเพณีไปแล้วว่า ทุกปีในช่วงปลายเดือนมกราคม WEF จะเชิญผู้นำและผู้กำหนดนโยบายจากทั่วโลกมาประชุมที่ดาวอส เมืองรีสอร์ทวิวสวยเหมาะแก่การเล่นสกีในเทือกเขาแอลปส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ปีนี้เป็นการประชุมออนไลน์) นี่ไม่ใช่เวทีการค้านะครับ แต่เป็นการสุมหัวกันแลกเปลี่ยนความคิดที่จะหาทางทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และเติบโตไปด้วยกัน ให้ทุก ๆ คนได้ประโยชน์ และโลกมีความสงบสุข
อ้อ และอยากขอพูดถึงผู้ก่อตั้ง WEF ด้วยสักเล็กน้อยครับ เขาคือศาสตราจารย์ Klaus Schwab วิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน เขามองว่าองค์กรธุรกิจควรต้องรับใช้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้นหรือบอร์ด และนี่คือปรัชญาถูกยึดถืออย่างสม่ำเสมอมาตลอด ทำให้ WEF กลายเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อโลกมากมาย ในชีวิตส่วนตัวศาสตราจารย์ Schwab ยังชอบว่ายน้ำ เดินเขาและเล่นสกีอย่างสม่ำเสมออีกด้วย นี่คือที่มาของการเลือกเมืองดาวอสเป็นที่จัดประชุมทุกปี
1
Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง WEF (photo credit: https://lithuaniatribune.com/davos-economic-forum-founder-visiting-lithuania/)
สำหรับข้อมูลที่รายงานนี้เขารวบรวมสรุปมา ต้องบอกก่อนว่าล้วนเป็น global risk perception หรืออีกนัยหนึ่ง ประเด็นความเสี่ยงพวกนี้ "รับรู้" มาจากการไปสำรวจความคิดเห็นแล้วมาประมวล แม้ว่าสำนักฯ จะพยายามวิเคราะห์หาความเสี่ยงที่หลบซ่อนอยู่ หรือเพิ่งจะโผล่ขี้นมารำไรด้วยก็ตาม
  • รายงานความเสี่ยงโลกพูดถึงอะไรบ้าง
คราวนี้ลองมาดูเนื้อหานะครับ ความเสี่ยงของโลกจากรายงานของ WEF ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของคน กรณีโรคระบาดถือว่าเป็นข้อยกเว้นก็จริงแต่ก็ยังเกี่ยวกับการขยายถิ่นฐานที่อยู่ของคนอยู่ดี รายงาน Global Risks Report 2022 ย้ำว่าปีนี้เป็นปีที่เราจะอยู่กับบาดแผลจากโควิด-19 และจะยิ่งถูกขยายแผลมากขึ้น เมื่อแผลใหญ่ขึ้นความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นด้วย
1
เสี่ยงอย่างไร? ข้อแรกคือโควิด-19 กำลังทำให้โลกของเราถูกแบ่งแยกมากขึ้นหลังเกิดโรคระบาด เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคของโลกอ่อนแอลง ขนาดเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง (ลงถึง 2.3% ในปี 2024) ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และที่สำคัญภาวะหนี้จะขึ้นสูงทั่วหน้า ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจนี้ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ จะหันมาใช้นโยบายปกป้องตัวเอง ยิ่งจะมีผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา ทักษะแรงงาน ฯลฯ และทำให้โลกแยกตัวจากกันในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ด้านหนึ่งในบางประเทศอาจถึงขั้นเกิดความล่มสลายของสังคมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19
ในอีกด้านหนึ่งเกิดเป็นการเผชิญหน้ากันมากขึ้นในด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ และการทำสงครามไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น (ความเปราะบางทางไซเบอร์ถูก WEF พูดถึงมาราวสิบปีแล้วและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง)
WEF บอกด้วยว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 จะเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ และความทรุดโทรมของสภาพจิตใจที่ขยายวงกว้าง ก็เป็นความเสี่ยงที่กระทบระบบเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของโลกอย่างสูง ถ้าเราหันมองรอบตัวก็จะเข้าใจความเสี่ยงนี้ได้ไม่ยากครับ
1
ส่วนความคึกคักในด้านการสำรวจอวกาศที่เราเห็นเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดอุบัติเหตุในอวกาศและในชั้นบรรยากาศ เมื่อมีการส่งยานสำรวจ อุปกรณ์ รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความกังวลที่อาจจะมีการขยายอำนาจทางอาวุธและทางทหารสู่อวกาศมากขึ้นด้วย
แล้วความเสี่ยงที่มีระดับความรุนแรงสูงที่สุดคืออะไร? รายงานนี้ให้ภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศครองแชมป์ครับ ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ก็มีข่าวอากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ที่ออสเตรเลีย โดยอุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 50 องศา และพบเห็นพายุรุนแรงขนาดใหญ่อยู่เรื่อย ๆ ถ้าเราดูจากระดับความรุนแรงของความเสี่ยง เรื่องผลกระทบจากความล้มเหลวในการจัดการกับภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่วิกฤต และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ล้วนเป็นสามความเสี่ยงที่ถูกจัดว่า "รุนแรง" สูงสุด
ความเสี่ยงโลก จัดอันดับตามความรุนแรงโดย WEF (credit https://www.weforum.org/reports/global-risks-report-2022/shareables#report-nav)
แม้ว่ารายงานจะแบ่งความเสี่ยงออกเป็นประเภทต่าง ๆ แต่คงเห็นแล้วนะครับว่ามันเชื่อมโยงกัน ดังนั้นเวลาบริหารจัดการต้องไม่คิดแยกจากกัน เพราะหลายปัจจัยเสี่ยงมีผลกระทบในทางสอดรับกัน เช่น การอพยพย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่อาจเกิดขึ้นจากเหตุผลทางเศรษฐกิจแต่มีที่มาจากภาวะวิกฤตของสิ่งแวดล้อมด้วยในเวลาเดียวกัน
ที่สรุปมานี้ยังไม่หมดนะครับ ใครที่อยากเข้าใจความเสี่ยงโลก หรือชื่นชอบโลกทัศน์ของศาสตราจารย์ Schwab แนะนำให้ไปหาดูเอาเพิ่มเติมได้ ผมให้ลิ๊งไว้ด้านล่างแล้ว
  • ความเสี่ยงอะไรที่ไม่ถูกพูดถึง
อ่านรายงานของ WEF เสร็จแล้ว ก็อยากจะยืมหลักการของ Johari Window Model มาใช้ไตร่ตรองตรงนี้สักหน่อยครับ คือถึงแม้ว่ารายงานนี้น่าจะครอบคลุมความเสี่ยงในทุก ๆ ประเด็น เพราะเกิดจากการสำรวจความคิดเห็นของนักคิดทั่วโลก ทำให้กระบวนการนี้ช่วยให้เห็นความเสี่ยงที่ทุกคนรับรู้ (open area) ได้ดี และเห็นความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ (hidden) และที่บางคนมองข้ามไป (blind spot) ได้ดีก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วก็จะยังมีส่วนที่เรายังไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร (unknown) ดังนั้นความเสี่ยงที่เรารู้จากรายงานนี้ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด อาจจะเพียงครึ่งเดียวของความเสี่ยงที่รอมนุษยชาติอยู่ก็เป็นได้ ไม่มีใครรู้ รวมทั้งเหตุการณ์ที่นักอนาคตศาสตร์เรียกว่า Black Swan Event นั่นก็คือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันด้วย
โมเดลด้านจิตวิทยา The Johari Window (https://www.skillpacks.com/johari-window-model/)
ถ้ามองแบบนี้จะพบว่า มีอีกหลายประเด็นที่ไม่ถูกแตะในรายงานแต่อาจจะสำคัญและควรจับตาไว้ด้วย เช่น ความเสี่ยงของสงครามขนาดใหญ่ที่อาจถูกจุดชนวนขึ้นมาจากเรื่องเล็ก ๆ จนเป็นสงครามโลก (เราเห็นมาตลอดประวัติศาสตร์) โดยเฉพาะเมื่อสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องเดียวกันสำหรับสหรัฐและจีนในวันนี้
คำพูดของโธมัส ฟรีดแมน ที่ว่า "ไม่มีสงครามระหว่างประเทศที่มีร้านแมคโดนัลด์ตั้งอยู่" ดูจากเหตุการณ์โลกวันนี้ก็ไม่เป็นจริงอีกแล้ว
หรือแม้แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่ติดต่อจากคนสู่คนชนิดใหม่ที่ต้นตอยังซ่อนตัวอยู่ ดังเช่นเมื่อตอนที่โควิด-19 ปรากฏตัวใหม่ ๆ คงจำกันได้ว่าโลกของเรารู้จักไวรัสนี้น้อยมาก แต่รายงานนี้กลับพูดถึงแต่เฉพาะความเสี่ยงที่ต่อเนื่องจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
  • เราอยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง
ในโลกนี้มีบางสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นข่าว หรือสิ่งที่ควรลงมือทำแต่ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เลยไม่ค่อยถูกพูดถึง แต่การเพิกเฉยนั่นอาจจะนำความเสี่ยงระดับสูงสุดมาให้ ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ควรทำร่วมกันตั้งแต่เมื่อวานแต่ยังไม่ได้ทำ นอกจากเรื่อง climate change เรายังต้องดูแลเรื่องการกำกับเทคโนโลยีด้าน AI และการป้องกันมหาอำนาจยึดครองทรัพยากรในอวกาศ การโจมตีทางไซเบอร์ และเรื่องการอพยพขนานใหญ่ของผู้ลี้ภัย เป็นต้น เรื่องพวกนี้ล้วนแต่ท้าทายในทางนโยบายและควรจะต้องถกเถียงหาทางออกกันอีกเยอะ
ผู้อ่านรายงานนี้จึงต้องใช้วิจารณญาณและไม่ลืมว่า เหตุการณ์ในโลกนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและเฉียบพลัน แนะนำให้มองว่า นี่เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง อย่าลืมที่จะมองหาสิ่งที่อยู่ใต้น้ำด้วย
เพจนี้จึงขอตั้งชื่อว่า "สัตว์ประหลาดที่ชื่อว่าอนาคต" เพราะมีเรื่องที่เรายังไม่รู้ หรือยังไม่ได้หยิบมาคุยกันอีกเยอะ เราจะมากวาดตามองดูอนาคตกันต่อไปครับว่า มีสัตว์ประหลาดอะไรบ้างรอเราอยู่ข้างหน้า และเราจะรับมือกับอนาคตกันอย่างไรดี
  • อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา