19 ม.ค. 2022 เวลา 13:34 • ธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่
Industrial Paradigm Shifts
6
โลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน มีการแข่งขันอย่างดุเดือดและรุนแรง คู่แข่งในตลาดต่างงัดกลยุทธ์ และเทคโนโลยีที่มีมาใช้สร้างความได้เปรียบ เพื่อเอาชนะคู่แข่งในทุกมิติของสนามประลองทางธุรกิจ
"ในแวดวงอุตสาหกรรม ต่างก็มีการพัฒนา
รุดหน้าไปในด้านต่างๆ มากมาย
ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และบุคลากร
ในแวดวงอุตสาหกรรม ต่างก็ตระหนัก
ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และรับรู้
ถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์ขององค์กร
ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ"
ในบทความนี้ จะขอหยิบยก กรอบความคิดในการบริหารอุตสาหกรรม
ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (Industrial Paradigm Shift)
สี่ประเด็น ด้วยกัน กล่าวคือ Mass Customiztion, Speed (to market) with Accuracy, Connectivity & Digitization, และ Zero Incident is Attainable
เพื่อให้ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรม ได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
1
1. Mass Customization
นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17
เป็นต้นมา จนถึงก่อนราวปี ค.ศ. 2000 แนวคิดในการบริหารอุตสาหกรรม
ล้วนพัฒนามุ่งสู่ระบบ Mass Production เพื่อ ตอบสนองระบบที่สามารถ
จะนำทรัพยากร วัตถุดิบ มาแปรรูป ให้เป็นผลผลิต สินค้าสำเร็จรูปให้ได้
มากที่สุด อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบันที่ธุรกิจให้ความสำคัญ ต่อการตอบสนอง
ความต้องการของลูกค้า (Customer Oriented) และอีกทั้งความต้องการ
ของลูกค้า ก็มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น ระบบ Mass
Production ในหลายกรณีจึงไม่อาจตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ อย่างมี
ประสิทธิภาพอีกต่อไป
ตั้งแต่หลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา จะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ว่าระบบอุตสาหกรรมในหลายแขนง เริ่มมุ่งสู่แนวคิดที่เรียกว่า Mass
Customization ซึ่งสะท้อนถึงคุณสมบัติบางประการที่สำคัญในระบบ
การผลิต และโลจิสติคส์ กล่าวคือ
  • 1.
    ความยืดหยุ่นในระบบ (Flexibility & Resilience)
  • 2.
    ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะราย (Ability to serve custom-made requirements)
ขอยกตัวอย่างของ Mass Customization ที่เห็นในธุรกิจปัจจุบัน
เช่น บริษัทเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปชั้นนำ ที่เริ่มนำเสนอทางเลือกให้ลูกค้า
สามารถสั่งเฟอร์นิเจอร์ แบบกึ่ง Built-in เข้ากับแบบบ้าน ที่ต้องการได้
มากขึ้น
ภาพจาก ikea.com
การปรับระบบซัพพลายเชน ทั้งด้านการผลิต และโลจิสติคส์ จาก Mass
Production ไปสู่ Mass Customization นี้ นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง
สำหรับผู้ประกอบการ และผู้บริหารในวงการอุตสาหกรรม
1
2. Speed (to market) with Accuracy
มีสำนวนที่เราคุ้นเคยมายาวนาน คือคำกล่าวที่ว่า “Slow but Sure - ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” ซึ่ง ในโลกธุรกิจปัจจุบันที่ก้าวสู่ยุค 5G คำกล่าวที่ว่า อาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว
ด้วยเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ด้วยความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย
และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ความฉับไวต่อการตอบสนองลูกค้า
ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ความฉับไวเพียงประการเดียว ยังไม่เพียงพอ
จะต้องมีความแม่นยำถูกต้อง เป็นองค์ประกอบด้วย
ตัวอย่าง ที่เป็นรูปธรรมสะท้อนเรื่อง Speed (to market) with
Accuracy ได้แก่ 3D Printer ที่สามารถผลิตชิ้นงานตัวอย่างให้แก่ลูกค้า
ได้อย่างรวดเร็ว และได้สัดส่วนแม่นยำตามแบบที่ลูกค้าต้องการ
ภาพจาก makerbot.gr
3. Connectivity & Digitization
เรื่องนี้ฟังโดยผิวเผินอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะขอปูพื้นแนวคิดการจัดการบริหารองค์กรที่มีมาแต่เดิม ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กล่าวคือ ในยุคแรก มีความพยายามที่จะจัด แยกแยะองค์ประกอบในธุรกิจให้เป็นส่วนๆ เช่น ซัพพลายเออร์ ลูกค้า คู่แข่ง และ ภาคส่วนธุรกิจอื่นๆ และภายในองค์กรเอง ก็แยกแยะเป็นแผนกต่างๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้จัดระบบระเบียบ และมุ่งเน้นพัฒนาเชิงลึกในแต่ละภาคส่วน เช่น ด้านการบริหารการผลิต ด้านการบริหารโลจิสติคส์ ด้านการ
บริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
ต่อมาในทศวรรษ 1980 เริ่มมีการพัฒนาแนวคิดด้านการบูรณาการ (Integration) ที่จะมองภาพเชิงธุรกิจในองค์รวม เห็นความเชื่อมต่อ (Connectivity) ระหว่างองค์ประกอบในหน่วยงานต่างๆ
รวมไปถึงลูกค้า และซัพพลายเออร์ เช่น ระบบ Total Quality Management, Total Preventive Maintenance, ISO9000, ISO14001 เป็นต้น ส่วนในด้านการบริหารและวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจ ก็เริ่มมีการใช้ Enterprise Resource Planning (ERP) tools ต่างๆ เช่น SAP มาใช้ในองค์กร
มาสู่ยุคปัจจุบันที่โลกก้าวเข้าสู่ยุค 5G Digitization ต่างๆ รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว Cloud Technology, Industrial Internet of Things (Iot), GPS, QR code ต่างๆ ล้วนถูกนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่สะท้อนแนวคิดเรื่อง Connectivity & Digitization ได้อย่างชัดเจน เพราะองค์ประกอบทางธุรกิจนั้น แท้ที่จริงแล้วล้วนเชื่อมโยง ผูกพันถึงกันหมด
ตัวอย่างเรื่อง Connectivity & Digitization ที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ระบบ MII (Manufacturing Integration and Intelligence) ที่เชื่อมโยงระบบข้อมูลการผลิตทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน (เช่น Man, Material, Method, Machine) และสามารถ Interface เข้ากับระบบ DCS (Distributed Control System) ที่ใช้ควบคุมระบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. Zero Incident is Attainable
แนวคิดเรื่องของเสียเป็นศูนย์ มีมาตั้งแต่ยุคสี่สิบถึงห้าสิบปีที่แล้ว ในขณะที่ทฤษฎีการบริหารอุตสาหกรรมทางซีกโลกตะวันตก ในยุคนั้นมุ่งเน้นที่หลัก Optimization เช่นการวิเคราะห์ Safety Stock แต่ทางค่ายอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกลับคิดไปถึงขั้น Minimization เช่น Zero stock, JIT เป็นต้น
ในโลกอุตสาหกรรมยุคปัจจุบัน ทั้งซีกโลกตะวันตก และเอเชีย ต่างมุ่งไปในแนวทางคล้ายกัน คือผสมผสานทั้ง Minimization และ Optimization
อีกทั้งแนวคิดเรื่องการขจัดการสูญเสีย ได้ขยายขอบเขต จาก Operational
Loss เป็นการขจัด และป้องกัน Entire Business & Operational Loss
ซึ่งคลอบคลุมถึงเรื่อง Safety ด้วย
ขอยกตัวอย่างในธุรกิจพลังงาน (อุตสาหกรรมปิโตรเลียม) เมื่อ
สิบกว่าปีที่แล้วได้ มีการนำระบบ Loss Prevention System ซึ่งมุ่งเน้น
ที่การบริหาร Personnel Safety และ Process Safety เพื่อลดการสูญเสีย
ต่อมาในปัจจุบัน ได้วิวัฒนาการมาถึงแนวคิดแบบ Human Performance
ที่มีแนวคิดว่า มนุษย์สามารถผิดพลาดได้ และเป็นหน้าที่ขององค์กร ที่จะ
ต้องพัฒนาเกราะป้องกัน (Safeguards) ในกระบวนการทางธุรกิจ และ
การผลิต เพื่อที่ว่า เมื่อเกิดความผิดพลาด บุคลากรและธุรกิจจะได้รับการ
ปกป้องให้ปลอดภัย และตัวระบบจะต้องยืดหยุ่น (Resilience) มากพอที่
จะกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว
อนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า กรอบความคิดในการ
บริหารอุตสาหกรรม ที่หยิบยกมาบรรยายทั้งสี่ประการข้างต้น ล้วน
แล้วแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง และมีส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกัน ใน
ปัจจุบันมีบริษัทด้านอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ได้ นำกรอบความคิดเหล่านี้
ไปประยุกต์ใช้ทางปฏิบัติ เพื่อเพิ่มผลผลิต และยกระดับความสามารถใน
การแข่งขันได้อย่างเป็นรูปธรรม
โมเดล การนำกระบวนทัศน์ทางอุตสาหกรรมยุคใหม่ ไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ (สงวนลิขสิทธ์ โดยผู้เขียนบทความ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา