22 ม.ค. 2022 เวลา 11:48 • ประวัติศาสตร์
Unseen “พิธีเบิกพรหมจรรย์” จากเขมรถึงอินเดีย พิธีกรรมลึกลับในบันทึกของโจว ต้า กวาน และรัชกาลที่ 5
ที่ปราสาทพนมรุ้งมีภาพสลักพิธีกรรมบนหน้าบันปีกนกของมณฑปด้านเดียวกับทับหลังนารายณ์บรรทมศิลป์ของปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ เคยตีความไว้ว่าเป็นพิธีเบิกพรหมจรรย์เด็กหญิงชาวเขมรสมัยเมืองพระนครที่กล่าวถึงในบันทึกของท่านราชทูตโจว ต้า กวาน หรือพิธีเจวิ้นถาน
ภาพสลักบนหน้าบันปีกนกของมณฑปปราสาทพนมรุ้ง ศิลปะนครวัด ที่ได้รับการตีความว่าเป็นพิธีเบิกพรหมจรรย์หรีอ "เจวิ้นถาน" ตามบันทึกของราชทูตจีน โจว ต้า กวาน
“ในคืนวันประกอบพิธีเจวิ้นถาน (พิธีเบิกพรหมจรรย์) ในตรอกในซอกเดียวกันนั้น อาจมีครอบครัวที่ทำพิธีเจวิ้นถานจำนวนสิบกว่าครอบครัว ในนครนั้นคนที่ไปรับพระภิกษุหรือดาบสเดินสวนกันขวักไขว่อยู่บนท้องถนน ไม่มีที่ไหนเลยที่จะไม่มีเสียงกลองและเสียงดนตรี”
บรรยากาศข้างต้นบรรยายถึงค่ำคืนวันหนึ่งในทุกเดือน 4 ตามปฏิทินของชาวจีน เด็กหญิงเขมรไม่ว่าจะยากดีมีจน ถ้าบ้านรวยหน่อยก็ตอนอายุ 7-9 ขวบ หรือบ้านจนไม่มีเงินจะทำพิธีต้องรอถึงอายุ 11 ขวบ ต่างก็ต้องเข้าพิธี “เจวิ้นถาน” หรือที่รู้จักกันในนาม “พิธีเบิกพรหมจรรย์” ด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อ “ให้พระภิกษุหรือดาบสทำพิธีทำลายพรหมจารี” พิธีกรรมอันแปลกประหลาดของชาวเขมรที่ตอนนั้นถูกชาวจีนเรียกว่า “เจินละ” ที่กล่าวถึงข้างต้น ได้รับการบันทึกไว้โดยราชทูตจีน โจว ต้า กวาน ผู้เคยไปเยือนเมืองพระนครของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 1839
โจว ต้า กวาน บันทึกว่าพิธีนี้ “ทางการ” ของเมืองพระนครเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เริ่มจากเจ้าหน้าที่ของทางการจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าและเลือกเอาวันใดวันหนึ่งซึ่งตรงกับเดือน 4 ของจีนเป็นวันประกอบพิธี ครอบครัวที่มีบุตรสาวจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าจะทำพิธี จากนั้นจะได้รับมอบเทียนไขใหญ่บากเป็นรอยไปให้ 1 เล่มให้จุดตอนค่ำของวันพิธี เมื่อเปลวเทียนลงมาถึงจุดที่บากไว้ก็ได้เวลาประกอบพิธี
ก่อนหน้าพิธี 1 เดือนผู้เป็นบิดามารดาจะเป็นผู้เลือกพระภิกษุหรือดาบสให้บุตรสาวของตน “พระภิกษุที่ดีมีคุณธรรมสูงนั้นบ้านขุนนางและคหบดีมักจองตัวไว้ล่วงหน้า ส่วนพวกที่ยากจนก็ไม่มีเวลาว่างจะไปเลือกได้” นักบวชที่ทำพิธีเหล่านี้ “รับเด็กหญิงเข้าพิธีได้เพียงคนเดียว เมื่อท่านยอมรับนิมนต์ผู้ใดไว้แล้ว ก็ไม่ยอมรับผู้อื่นอีก”
ท่านเหล่านี้ไม่ได้ทำพิธีให้ฟรีๆ ด้วยความกลัวไม่มีหน้าตาในสังคม ครอบครัวเด็กหญิงที่เป็นขุนนางและคนรวย ต้องถวายเหล้า ข้าวสาร ผ้า แพร หมาก เครื่องเงินหนักถึงร้อยหาบ คิดเป็นมูลค่ากว่าสองสามร้อยตำลึงจีน (ใครที่ดูหนังจีนก็จะทราบดีว่าแพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน) ต่ำกว่านั้นก็เงิน 10-40 หาบ ซึ่งก็มากโขอยู่ ครอบครัวยากจนที่ไม่มีเงินทำพิธี ก็ผู้ใจบุญเรี่ยไรกัน “ทำบุญ” ให้มีโอกาสได้ทำพิธี
ในคืนวันพิธี ที่บ้านของเด็กหญิงจะจัดงานเลี้ยงอย่างใหญ่เป็นวันรวมญาติ นอกบ้านตั้งร้านสูงเทียบได้กับศาลเพียงตา วางตุ๊กตาดินเผารูปคนและสัตว์ตั้งแต่ 3-4 ตัวจนถึงสิบกว่าตัวแล้วแต่ฐานะ ครบ 7 วันค่อยนำออก พลบค่ำจึงนำกลด คานหาม และดนตรีไปรับพระภิกษุ มานั่งในศาลาจึงผ้าหลากสีหลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งให้เด็กหญิงนั่งรอข้างใน
ขั้นตอนสำคัญของพิธีซึ่งโจว ต้า กวาน ออกตัวทำนอง “ฟังเขาเล่ามาอีกที” เพราะชาวเขมรไม่ให้ชาวจีนเข้าไปสังเกตการณ์ จึงมีหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่ “พระภิกษุและเด็กหญิงก็เข้าไปในห้อง พระภิกษุใช้มือทำลายพรหมจารีด้วยตนเอง แล้วนำเยื่อพรหมจารีนั้นใส่ลงในเหล้า” ว่ากันว่าพ่อแม่พี่น้องของเด็กเอาเหล้านั้นมาแต้มหน้าผากหรือไม่ก็ใช้ปากชิมกันทุกคน หนักที่สุดก็คือ “พระภิกษุประกอบเมถุนกรรมกับเด็กหญิง” แต่บางคนก็ว่า “ไม่ใช่เรื่องจริงเลย”
พอเสร็จพิธีรุ่งเช้าจึงพากันส่งพระภิกษุดาบสนั้นกลับวัด พ่อแม่เด็กหญิงยังต้องเอาผ้าขาวไป “ไถ่ตัว” ลูกสาวจากพระ ไม่อย่างนั้นเด็กจะแต่งงานกับใครไม่ได้อีกต่อไป เพราะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของพระ ทั้งนี้ ก่อนทำพิธีเด็กหญิงจะต้องไปนอนกับพ่อแม่ พอผ่านพิธีไปแล้วพ่อแม่ “จะเฉดออกนอกห้อง จะไปไหนมาไหนก็ได้ตามใจชอบ ไม่ต้องบังคับคอยระวังกันแล้ว”
พิธีนี้สำหรับเราในปัจจุบันจึงคงเห็นว่าเป็นเรื่องพิสดารหรือออกเกินจริง (แถมล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์อีกต่างหากซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันโทษร้ายแรงมาก) แถมดูไม่ดีที่ให้พระภิกษุในพุทธศาสนา ผู้ไม่ควรข้องเกี่ยวกับโลกียวิสัยมาเป็นผู้เบิกพรหมจารีด้วยตนเอง จนทำให้ท่านราชทูตโจว ต้า กวาน ถูกมองว่าเล่าเรื่องเกินจริง (อย่างที่บอกท่านก็ออกตัวว่าฟังเขาเล่ามา)
ถ้าใจเบาลงหน่อยก็อาจมองในทางมานุษยวิทยาได้ว่าเป็น “พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน” ตามช่วงวัยต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำขึ้นต่างกันในหลายวัฒนธรรม จากการเป็นเด็กหญิงไปสู่วัยรุ่นสาวทำนองเดียวกับพิธีโกนจุกของไทยเมื่อเริ่มแตกเนื้อหนุ่มสาว
แล้วหลักฐานของกัมพูชาที่จะมาสอบทานความน่าเชื่อถือของ “พิธีเบิกพรหมจรรย์” พอมีบ้างมั้ย ?
เอาเข้าจริงแล้วในตอนนี้ก็ไม่พบจารึกหรือหลักฐานร่วมสมัยใดๆ ที่จะมาพิสูจน์ความมีอยู่ของพิธีเบิกพรหมจรรย์หรือที่ใกล้เคียงแบบนั้นได้เลย นอกเสียจากคำบอกเล่าของโจว ต้า กวาน เอง เลยทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับบันทึกของท่านมาโดยตลอด ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติมากทำนองเดียวกับเวลาเราอ่านบันทึกชาวต่างชาติที่กล่าวถึงบ้านเมืองเราในอดีตแบบที่เราไม่คุ้นเคย ก็จะถูกมองว่าชาวต่างด้าวกำลังสร้างคอนเทนต์เกินเลยจากความจริงไปมาก เพราะเรามักเอาแว่นมองปัจจุบันไปส่องอดีตและมักมองอดีตผ่านมโนทัศน์แบบดีงาม จน “รู้สึก” กันไปเองว่าเรื่องแบบนั้น “คนโบราณ” ไม่ทำหรอก
ทว่าหลังจากบันทึกของท่านราชทูตนับต่อมาอีกราว 600 ปี กลับมีหลักฐานที่อาจยืนยันเค้ามูลของความเป็นไปได้ของพิธีดังกล่าวซ่อนอยู่ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตอนพระราชพิธีเดือนสิบ ซึ่งทรงเกริ่นนำเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นไปของพราหมณ์ในอินเดีย มีตอนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ถึงพราหมณ์มหาศาลท่านหนึ่งที่ทรงประสบพบเจอเมื่อเสด็จประพาสอินเดีย พ.ศ. 2414 (น่าแปลกที่ไม่มีใครหยิบยกมาเปรียบเทียบ) ขอยกข้อความตอนนั้นมาทั้งหมดโดยไม่ตัดตอน ดังนี้
“ข้าพเจ้าได้ไปพบเองในเวลาไปอินเดีย เมื่ออยู่ที่เมืองบอมเบย์ มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นมหาศาลตระกูลใหญ่ได้มาหาข้าพเจ้าว่าเป็นโอกาสดีที่ได้พบท่าน พราหมณ์ผู้นี้มีบริวารบ่าวไพร่มาก เที่ยวจาริกไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อจะโปรดสัตว์ การที่โปรดสัตว์นั้นอย่างไรหรือ คือ ผู้ใดมีบุตรสาวซึ่งยังมิได้มีสามี ก็เชิญท่านพราหมณ์ผู้นี้ไปอยู่ด้วยวันหนึ่ง แล้วท่านพราหมณ์ก็ละไปที่อื่น ลูกสาวซึ่งเสียตัวกับพราหมณ์นั้นถือว่าเป็นได้รับความสวัสดิมงคลอย่างยิ่ง แล้วทำการอาวะหะวิวาหะกับผู้อื่นต่อไป ผู้ซึ่งได้รับหญิงที่ท่านพราหมณ์ได้เยี่ยมเยียนแล้วนั้น เป็นผู้มีหน้ามีตาได้เมียดี กลับเป็นเช่นนี้ไปได้”
แม้ว่าพระราชนิพนธ์จะไม่ได้บรรยายการ “โปรดสัตว์” ของพราหมณ์ข้างต้นในลักษณะของพิธีกรรม แต่ก็จะเห็นว่าการเชิญพราหมณ์มาเสพสังวาสกับหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน พ้องกันอย่างมากกับพิธีเจวิ้นถานของเขมรสมัยเมืองพระนครที่กล่าวถึงโดยโจว ต้า กวาา จะเป็นได้หรือไม่ว่าพิธีกรรมดังกล่าวอาจเป็นที่รู้จักและเคยทำขึ้นในอินเดียมาก่อน แล้วเขมรจึงรับมาปฏิบัติต่อมา หรืออาจเป็นพิธีกรรมที่มีลักษณะร่วมกันในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งยากจะสืบสาวราวเรื่องว่าใครเป็นต้นตอ ในทีนี้ไม่ถนัดด้านมานุษยวิทยา พิธีกรรม จึงขอให้ผู้สนใจค้นคว้าศึกษาในเชิงลึกต่อไป
ส่วนภาพแนว “ฮินดูตันตระ” บนหน้าบันปีกนกของปราสาทพนมรุ้งที่ได้รับการตีความว่าอาจจะหมายถึง “พิธีเบิกพรหมจรรย์” เพราะปรากฏรูปนักบวชกำลังใช้วัตถุทรงกระบอกซึ่งอาจเป็น “ศิวลึงค์ขนาดเล็กเป็นเครื่องมือ” มุ่งไปที่สตรีนางหนึ่งที่กำลังนอนทอดกายกึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่ ในที่นี้เห็นว่าเนื่องจาดอยู่ในสภาพค่อนข้างชำรุด องค์ประกอบภาพไม่ครบและไม่ชัดเจนว่าบุคคลในภาพกำลังทำอะไรกัน โดยเฉพาะภาพสตรีที่นอนอยู่ก็กะเทาะแตกหักจนเกือบหมดเหลือเพียงเท้าทั้งสองข้าง ประกอบกับโจว ต้า กวาน เอง ก็ออกตัวว่าได้รับคำบอกเล่ามาอีกทีหนึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะประจักษ์พยานของเหตุการณ์ รวมทั้งพิธีกรรมดังกล่าวถึงแม้จะเอิกเริกกันที่ขบวนแห่ แต่พอถึงขั้นตอนอย่างว่าก็ประกอบกันอยู่ในที่ลับตาคน และดูเหมือนเป็นการเสพสังวาสกันตามปกติมากกว่าการใช้ “เครื่องมือ”
ดังนั้น ถ้าจะให้ตีความในขณะที่หลักฐานทั้งตัวศิลปะและเอกสารดเวยจำกัดเพียงนี้ อนุมานจากคีย์เวิร์ดของบรรดา “เครื่องสูง” ที่อยู่ตอนบนของหน้าบันและภาพเครื่องประโคมที่หน้าบันปีกนกฝั่งตรงข้าม ก็คงบอกได้แต่เพียงว่าภาพสลักหน้าบันเป็นกระบวนแห่หรือพิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่อาจทราบว่าเป็นพิธีใดเท่านั้น
อ้างอิงจาก
เฉลิม ยงบุญเกิด, บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), หน้า 19-21.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน, พิมพ์ครั้งที่ 18 (กรุงเทพฯ: )หน้า 485.
ม.ร.ว. สุรยิวุฒิ สุขสวัสดิ์, ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนพบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5 (สมุทรปราการ: เรือนบุญ) หน้า 328-330.
โฆษณา