29 ม.ค. 2022 เวลา 03:23 • ประวัติศาสตร์
จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณต้องใช้ชีวิตในโลกที่ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีข้าวกินอิ่มท้องหรือไม่ คุณจะโดนทุบตีสาหัสแค่ไหน เพื่อนสนิทจะโดนลากตัวไปตอนไหน หรือคุณจะรอดชีวิตไปได้จนถึงเมื่อไหร่ ?
คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของเชลยศึกแห่งค่ายกักกันเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดแง่บวกคือสิ่งที่ควรมีแต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนจะไม่มีอยู่จริง
เพราะมันถูกสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายทุบทำลายไปจนหมดสิ้นจนไม่เหลือแม้แต่เศษตะกอนความคิด
รูปภาพใบนี้ถูกถ่ายโดยช่างภาพทหาร โดยจะเป็นภาพของกลุ่มนักโทษหญิงที่กำลังยิ้มอย่างมีความสุข พวกเธอกำลังสนุกสนานกับการรับส่วนแบ่งอาหารในกองเสบียง
หลังจากกองทัพอังกฤษได้ยกพลมาปลดปล่อยเชลยในค่ายกักกันนรก " เบอร์เกน - เบลเซ่น ( Bergen - Belsen ) " เมื่อเดือนเมษายน 1945
ในปัจจุบันค่ายกักกันดังกล่าวตั้งอยู่ในรัฐนีเดอร์ซัคเซิน ทางภาคเหนือของเยอรมนี โดยตลอดระยะเวลาห้าปีที่เปิดทำการ ( นับตั้งแต่ปี 1940 -1945 ) ได้กักขังเชลยมากกว่า 120,000 ราย และมีตัวเลขผู้สังเวยชีวิตรวมทั้งสิ้นกว่า 50,000 ราย
Bergen - Belsen
โดยนอกจากการทารุณกรรม สาเหตุของการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นเพราะจำนวนนักโทษที่มากเกินไปจนแออัด อาหารเริ่มมีไม่เพียงพอกับความต้องการจนกลายเป็นภาวะ " อดอยาก " ขั้นรุนแรง
ตามมาด้วยการขาดสารอาหารจนส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอเปิดช่องให้เชื้อโรคบุกโจมตีง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคไข้รากสาดใหญ่ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ วัณโรค และอื่นๆ
ประกอบกับวิธีการจัดการศพที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตามรายงานระบุว่าครั้งแรกที่ทหารอังกฤษยกพลไปถึงพวกเขาพบร่างไร้วิญญาณของเชลยผู้น่าสงสารนอนเกลื่อนอยู่รอบค่ายโดยไม่ได้รับการเผาหรือฝังดินอย่างถูกวิธียิ่งเป็นการกระตุ้นให้เชื้อโรคระบาดหนักมากขึ้น
Bergen - Belsen ในปัจจุบัน
จากเรื่องนี้เราจะพบว่าในอดีตเชลยทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างลำเข็นทั้งร่างกายและจิตใจจนพวกเราจินตนาการไม่ออก
โดยเฉพาะการถูกพรากจากครอบครัวที่รัก แต่ความหวังยังคงมีเสมอเพราะพวกเธอกำลังจะเป็นอิสระอีกครั้ง และมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในแบบที่ควรเป็นเสียที
ถึงแม้จะไม่ได้สบายเหมือนเดิมเพราะหลายคนต้องตกเป็นทาสถูกใช้แรงงาน แต่อย่างน้อยผมมองว่ามันต้องดีกว่าชีวิตในค่ายกักกันนรกอย่างแน่นอน
● รูปภาพโดย
Sergeant H. Oakes, British Army/Imperial War Museum via Wikimedia Commons
โฆษณา