20 ม.ค. 2022 เวลา 14:30 • ข่าวรอบโลก
ย้อน 3 ภัยพิบัติภูเขาไฟระเบิด ลาวาฝังกลบเมือง สึนามิถล่ม ไร้ฤดูร้อน
“ภูเขาไฟระเบิด” ถือเป็นภัยพิบัติรุนแรงและคร่าชีวิตมาหลายพันปีแล้ว การเสียชีวิตจากภูเขาไฟในอดีต ส่วนมากเป็นเพราะ “ขาดความรู้” และไม่รู้วิธีป้องกันและเอาตัวรอด แต่ขึ้นชื่อว่าเป็น “มนุษย์” ก็สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตได้
ในประวัติศาสตร์ มี “ภูเขาไฟ” หลายลูก ที่เกิดระเบิดขึ้น และคร่าชีวิตมนุษย์มากมาย แต่ที่รุนแรงที่สุด ที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ “มนุษยชาติ” นั้น เกิดขึ้นไม่ใกล้ ไม่ไกลจากบ้านเรา และครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อราว 200 ปีก่อน
❖ “แทมโบรา” การระเบิดของภูเขาไฟครั้งรุนแรงที่สุด
แทมโบรา หรือ ตัมโบรา (Tambora) คือ ภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศอินโดนีเซีย และเคยเกิดเป็นภูเขาไฟระเบิดแบบ Super Volcano
ครั้งที่รุนแรงที่สุด เมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1815 หรือ พ.ศ. 2358 หรือ 207 ปี ก่อน ถือเป็นความรุนแรงระดับ 7 จาก 8 ระดับ ในการวัดแรงระเบิดของภูเขาไฟระเบิด
แทมโบรา ส่งเสียงแรงระเบิดไปไกลว่า 850 กิโลเมตร ความรุนแรงเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 6,000 ลูก โดยเถ้าถ่านกระจายขึ้นบนท้องฟ้าครอบคลุมหลายร้อยกิโลเมตร
1
ส่งผลให้สภาพอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลงจากเขม่าการระเบิดที่ปกคลุมท้องฟ้าจนมืดฟ้ามัวดิน ปิดกั้นแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ราว 20% ทำให้อุณหภูมิของโลก ลดลงถึง 3 องศา จนปีต่อมา คือ ค.ศ. 1816 กลายเป็น “ปีที่ไร้ฤดูร้อน” ในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ
การระเบิดของภูเขาไฟ “แทมโบรา” คร่าชีวิตไปราว 71,000 คน หรือมากกว่านั้น จะผลกระทบที่ตามมา...
❖ “กรากะตัว” (Krakatoa)
อีก 1 ภัยพิบัติจากภูเขาไฟ ที่มีพื้นที่ในอินโดนีเซีย คือ ภูเขาไฟ “กรากะตัว”ในช่องแคบซุนดา การระเบิดครั้งรุนแรง (ระดับ 6) ของ กรากะตัว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 1883 (พ.ศ.2426) แรงระเบิดของภูเขาไฟลูกนี้มีการประมาณว่า อาจจะเทียบเท่ากับระเบิด TNT 200 เมกะตัน เรียกว่ารุนแรงกว่าระเบิด “นิวเคลียร์” ที่ถล่มเมือง “ฮิโรชิมา” ของญี่ปุ่นกว่า 13,000 เท่า
แรงระเบิดนอกจากแผ่นดินจะสะเทือนแล้ว ยังสร้างคลื่น “สึนามิ” ลูกใหญ่สูง 41 เมตร ด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่า คร่าชีวิตมนุษย์ไปราว 30,000 คน หรือมากกว่านั้น ที่อาจจะเสียชีวิตจากเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ร้อนระอุ
❖ บุตร แห่งกรากะตัว (Anak Krakatoa)
ภูเขาไฟ อนัก กรากะตัว (Anak Krakatau) มีความหมายว่า “บุตรแห่งกรากะตัว” ซึ่งอยู่บนเกาะเดียวกับ “กรากะตัว” เป็นเกาะที่มีแนวเส้นภูเขาไฟพาดผ่านใจกลางเกาะ ยอดปล่องภูเขาไฟที่สูงที่สุดบนเกาะ มีความสูง 820 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
ค่ำวันที่ 22 ธันวาคม 2018 (พ.ศ. 2561) ถือเป็นวันที่ ชาวอินโดนีเซีย ต้องเศร้าใจอีก 1 วัน เพราะจู่ๆ ก็มีคลื่น “สึนามิ” สูงราว 6 เมตร เข้าถล่มชายฝั่งช่องแคบซุนดา ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตมากกว่า 222 ศพ บาดเจ็บกว่า 800 และสูญหายเกือบ 30 คน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีการแจ้งเตือนภัยสึนามิ เพราะไม่ได้เกิดจาก “แผ่นดินไหว” แต่ศูนย์ข้อมูลคลื่นยักษ์สึนามิระหว่างประเทศ ระบุว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เป็นการปะทุใต้น้ำของภูเขาไฟ “อนัก กรากะตัว” อาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้
❖ ภูเขาไฟ “วิสุเวียส” (Mount Vesuvius) ณ เมือง “ปอมเออี”
ภูเขาไฟ “วิสุเวียส” (Mount Vesuvius) ณ เมือง “ปอมเออี” อาจจะเป็นภูเขาไฟที่ชื่อคุ้นที่สุดลูกหนึ่ง เพราะมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วย...
เมืองปอมเปอี ถูกก่อตั้งขึ้นก่อนคริสตกาลหลายร้อยปี เป็นเมืองในอาณาจักรโรมัน และกลายเป็นบ้านพักตากอากาศของเหล่าเศรษฐีโรมัน โดยตั้งอยู่บริเวณ “ภูเขาไฟวิสุเวียส” ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ราว 2 หมื่นคน ส่วนใหญ่ยึดอาชีพพ่อค้า เกษตรกร และทำสวนไร่ และเมื่อการค้ารุ่งเรือง บ้านเมืองเจริญเติบโต จนกระทั่ง...
วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.79 เวลา 13.30 น. ภูเขาที่เคยสงบเงียบ ที่อาจมีลางบอกเหตุ ก็เกิดปะทุขึ้นและระเบิดอย่างรุนแรง หมอกควัน เถ้าถ่านพวยพุ่งไปหลายสิบไมค์ หลังจากนั้น หลายชั่วโมง ห่าฝนหิน จากภูเขาไฟ ก็สาดใส่มหานคร “ปอมเปอี” จนชาวเมืองต้องหนีตายกันอย่างอลหม่าน แต่ประชากรจำนวนมากก็ถูกเถ้าลาวาฝังกลบทั้งเป็น
➮ หายนะครั้งนั้นใช่ว่าไม่มี “ลางบอกเหตุ” แต่คนในยุคนั้น ไม่สนใจมันต่างหาก!
จากบันทึกของ “พลีนี” ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันระบุว่า “ผู้คนไม่ได้สนใจที่จะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น “พลีนี” ทำอาชีพเป็นทหาร ประจำอยู่เมืองท่าทางตะวันออกเฉียงเหนือของ “เนเปิลส์” นอกจากอาชีพหลักที่เป็นทหารแล้ว เขายังเป็นครูวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย..
สิ่งที่บันทึกระบุว่า ก่อนที่ภูเขาไฟ “วิสุเวียส” จะเริ่มปะทุรุนแรง ได้พ่นกลุ่มควันคล้ายร่มขนาดมหึมา ผนวกกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
ซึ่งลางบอกเหตุดังกล่าว หากเป็นนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ก็จะทราบว่า อีกไม่เกิน 1 เดือน ก็จะเกิดภูเขาไฟระเบิด และผู้คนอาจจะไม่เสียชีวิตมากมายขนาดนั้น
มหันตภัย “ปอมเปอี” มีผู้เสียชีวิต กว่า 15,000 คน ถูกฝังกลบกว่า 1,500 ปี ก่อนจะมีการค้นพบซาก และหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รายงาน
โฆษณา