21 ม.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
วิธีแก้การถูกเอาเปรียบที่ได้ผลที่สุด
1
ก่อนอื่นลองสังเกตดูคำว่า “เอาเปรียบ” นั้นมีคำว่า ‘เอา’ อยู่ด้วย
หรือถ้าในภาษาอังกฤษ คือคำว่า “take advantage” ก็มีคำว่า take ที่แปลว่าเอาอยู่ด้วยเช่นกัน
การเอาเปรียบ จึงเป็นการเอาอะไรสักอย่างจากใครสักคนหนึ่งไป เช่น เอาประโยชน์จากเรา เอาเวลาของเรา เอาสิ่งของเราไป
และการที่ใครจะอยากมาเอาอะไรสักอย่างจากเรา นั่นก็เพราะเรามีอะไรที่เขาอยากได้อยู่
ไม่ว่าเราจะดีกว่า หรือด้อยกว่าก็ตาม
แต่ถ้ามีอะไรสักอย่างอยู่กับเราที่อีกฝ่ายต้องการ เขาก็เอาเปรียบเราได้ทั้งนั้น
ดังนั้น หากจะแก้เรื่องการถูกเอาเปรียบให้ตรงจุดที่สุด
คือต้อง “ไม่มีอะไรให้คนอื่นมาเอา”
พูดในเชิงเหตุผล "ถ้าไม่อยากถูกเอาเปรียบ ก็ไม่ต้องมีอะไรให้เขาเอา" ดูจะตรงไปตรงมาและสมเหตุสมผลอยู่
2
ทีนี้ทำยังไงถึงจะไม่มีอะไรให้คนอื่นมาเอาได้
จากคำที่ว่า คนอื่นมาเอาของ‘ของเรา’
คำว่า ‘ของเรา’ ถ้าเปรียบกับคำพูดของพระพุทธทาสก็คือ ‘ตัวกู ของกู’
เราไปยึดเข้ามา นี่ตัวกู และนี่ของกู
3
สาเหตุหลักที่คนคิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเรา มันก็เกิดมาจากการมีตัวมีตนนี่เอง หรือทางพุทธจะเรียกว่า อุปาทาน
คือไปยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตน และตัวตนนี้ก็เป็นของเรา
1
พอมีตัวตนแล้ว ก็เริ่มยึดว่านี่ของตน นั่นของตน ทีนี้ก็มีอะไรให้คนอื่นมาพราก มาเอาไปได้แล้ว
นี่แหล่ะคือสาเหตุที่แท้จริงของการถูกเอาเปรียบ ถ้าจะมองว่าเราอ่อนแอเกินไป เรานุ่มนวลเกินไป นั่นไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงเสียทีเดียว เพราะคนที่แม้เข้มแข็งหรือฉลาดก็ยังมีคนมาเอาเปรียบเข้าจนได้
พระพุทธเจ้าสอนให้เราฝึกการละวางตัวตน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา
อะไรบ้างที่ไม่ใช่ของเรา... คำตอบคือ ทุกอย่างนั่นแหละ
ตั้งแต่ข้าวของ เพื่อนรัก คนรัก ครอบครัว ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือแม้แต่ตัวของเราเอง ลึกกว่านั้น แม้จิตที่อยู่กับเราตอนนี้ก็ไม่ใช่ของเราเช่นกัน
หลายคนตั้งคำถาม ก็มันอยู่กับเราตอนนี้ก็ต้องเป็นของ ๆ เราสิ
ก็ตอบได้ว่า ถ้าเป็นของเราจริง มันต้องอยู่กับเราไปได้ตลอด แต่ในเมื่อทุกอย่างมันไม่เที่ยง มันถูกพัดพรากได้ ไม่มันจากเรา เราก็จากมันในวันใดวันหนึ่ง และอีกข้อคือ ถ้าสิ่งนั้นเป็นของเรา เราต้องมีอำนาจควบคุมสั่งการมันได้ แต่แม้ร่างกายหรือจิตใจของเรา เรายังควบคุมสั่งการมันไม่ได้ตามต้องการอย่างเบ็ดเสร็จ
ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา - ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
เมื่อไหร่เราไปยึดเอาของที่ไม่ใช่ของเรามาตีความว่าเป็นของเรา เมื่อนั้นทุกข์เกิดทันที
เมื่อมีคนมาเอาไปจากเราก็ทุกข์ มีอยู่ก็ทุกข์ กลัวว่าจะหายไป อยากจะรักษาไว้ สูญเสียไปก็ทุกข์อีกเหมือนกัน
ในเมื่อไม่มีอะไรอยู่กับเราไปตลอดกาล ทุกอย่างมันมีขึ้นมา ดำรงอยู่ และดับไป
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ดำเนินไปตามธรรมชาติ แม้พระพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ มันก็ดำรงอยู่อย่างนั้นเช่นเดิม
อีกคำหนึ่งที่พระพุทธทาสกล่าวไว้คือ “ตถตา” คือความเป็นอย่างนั้น ความเป็นเช่นนั้น
หรือพูดให้คุ้นหูคือคำว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”
มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือมันเป็นอย่างนี้เอง
หรือว่ามันเป็น "อิทัปปัจจยตา" คือ เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะไม่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงดับลง
ทุกสิ่งแสดงความเป็น "เช่นนั้นเอง" อยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าใจไปบ้างก็เท่านั้น
ทีนี้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น หรือใครมาเอาเปรียบ หรือพรากอะไรไปจากเรา ก็ให้คิดตามด้วยคำว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง
ฝึกคิดตามนี้บ่อย ๆ แล้วเราจะทุกข์น้อยลง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้รักและดูแลอะไรเลย
คำว่า ปล่อยวาง กับ ปล่อยปละละเลย ก็มีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่
เรารักษาดูแลสิ่งนั้น เท่าที่เรามีความสามารถที่จะทำได้
2
แต่ถ้าวันนึงต้องสูญเสียไป ต้องถูกเอาไป ก็ให้รู้ไว้ว่า..
สิ่งที่เราถืออยู่ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วทีนี้ใครเขาจะเอาอะไรไปจากเราได้ แม้แต่จะเอาเปรียบก็ตาม
2
ข้อคิดในการเขียนบทความจาก คุณบี เสกสันน์ ทรัพย์สืบสกุล
อ่านและรับฟังเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบทความ:
Podcast: เข้าใจอิทัปปัจจยตา หัวใจของธรรมทั้งปวง
บทความ: ปฏิจจสมุปบาท - เหตุเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไป (แบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้โดยง่าย)
Podcast: ถ้าเข้าใจตามนี้ได้ ทุกข์จะหายไปทันที
โฆษณา