24 ม.ค. 2022 เวลา 02:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 1
บิ๊กเดต้า (ตอน 1)
โลกเราทุกวันนี้มีข้อมูลเกิดขึ้นตลอดเวลามากมายมหาศาลจริงๆ นะครับ
พวก "โซเชียลมีเดีย" นี่ ข้อมูลใน ค.ศ. 2014 ระบุว่า ทุกๆ นาทีมีคนอัปโหลดคลิปวิดีโอใหม่ๆ ขึ้นเว็บยูทูบความยาวเท่ากับ 72 ชั่วโมง ทวีตกันในทวิตเตอร์เกือบ 2.8 แสนครั้ง โพสต์บนเฟซบุ๊คมากกว่า 2.4 ล้านครั้ง ค้นหาในกูเกิลกัน 4 ล้านครั้ง และส่งอีเมล 204 ล้านฉบับ
ย้ำ...ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นใน 1 นาทีเท่านั้น !
คำถามสำคัญของคนในแวดวงไอทีก็คือ จะจัดการกับข้อมูลมหาศาลแบบนี้อย่างไร
บริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นต่างก็เก่งที่ยังจัดการกันได้ดี ซึ่งก่อให้เกิดรายได้มหาศาลตามไปด้วย แต่ที่นักการตลาดสนใจมากกว่าคือ จะเอาข้อมูลเหล่านี้มาทำกำไรได้อย่างไร และโชคดีว่ายังมีคนสนใจว่าจะเอา "บิ๊กเดต้า" เหล่านี้ มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับมนุษยชาติได้อย่างไรด้วย
ข้อมูลต้องมากแค่ไหนจึงเป็นบิ๊กเดต้า?
เวลาพูดถึง "บิ๊กเดต้า (Big data)" คนในวงการจำกัดความกันไว้แค่หลวมๆ ว่าเป็น "ชุดฐานข้อมูลขนาดใหญ่เกินกว่าจะใช้ซอฟแวร์ทั่วๆ ไปในการคัดเลือก เก็บรักษา วิเคราะห์ และจัดการได้"
สาเหตุที่ไม่กำหนดตายตัวว่าต้องใหญ่เท่าใดแน่ ก็เพราะคาดหมายได้ไม่ยากว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นมากไปกว่านี้ ขนาดของ "บิ๊กเดต้า" ก็จะเปลี่ยนไปด้วยแน่
ในอีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้า สิ่งที่ถือเป็นบิ๊กเดต้าบางอย่างในทุกวันนี้ ก็อาจไม่ใช่บิ๊กเดต้าอีกต่อไปแล้ว
แต่ลักษณะเด่นของบิ๊กเดต้าที่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลง มีสามอย่างคือ
[1] ต้องเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (ก็แหงละครับ)
[2] อัตราเร็วการเกิดข้อมูลเหล่านี้ก็ต้องเร็วมากๆ ไม่ได้ค่อยเป็นค่อยไปแบบสมัยก่อน
และสุดท้ายคือ [3] มีความหลากหลายของเนื้อหาสูงมาก
เรียกกันในวงการว่าต้องมี 3V คือ มี volume, velocity และ variety เข้าข่าย จึงจะใช่บิ๊กเดต้าแน่
เรื่องบิ๊กเดต้านี่ใกล้ตัวเรามากๆ นะครับ ในประเทศพัฒนาแล้วเห็นความสำคัญเรื่องนี้มาก เช่น รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ให้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ด้านนี้จำนวนมาก ตัวประธานาธิบดีเองถึงกับออกปากว่า
อยากให้มีการสอนเรื่องการเขียนรหัสคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเลยทีเดียว
มีต่อตอน 2
ต้องเยอะแค่ไหนถึงจะเป็นบิ๊กเดต้า?

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา