23 ม.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมนักลงทุนต่างชาติถึงขายหุ้นกว่า 6 แสนล้านในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา I โดย "วงเล่า"
สิ้นปี 2017 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดไปที่ 1,753.71 จุด
สิ้นปี 2021 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดไปที่ 1,657.62 จุด
หรือตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นลดลง 5.5% หรือติดลบประมาณปีละ 1.1%
​อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับอัตราเงินปันผลเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยตลอดช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 3% ต่อปี หมายความว่า ถ้าเราลงทุนถือหุ้นมาตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เราได้ผลตอบแทนปีละประมาณ 2% ต่อปี
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ตลาดหุ้นในหลายประเทศกลับตัวปรับตัวเพิ่มอย่างโดดเด่น เช่น
ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา
- Nasdaq +127%
- S&P 500 +78%
- Dow Jones +47%
ตลาดหุ้นเอเชีย
- BSE (อินเดีย) +71%
- VN (เวียดนาม) +62%
- China A 50 (จีน) +19%
ตลาดหุ้นยุโรป
- CAC40 (ฝรั่งเศส) +35%
- DAX (เยอรมัน) +23%
Cr: usatoday
คำถามที่สำคัญก็คือ เกิดอะไรขึ้น ทำไมตลาดหุ้นของไทยนั้นดูเหมือนจะปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่อื่นเขา วันนี้เราไปหาคำตอบกัน
1. นักลงทุนต่างชาติยังขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติยังถือว่ามีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยพอสมควร
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงระหว่างปี 2017-2021 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปกว่า 671,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยปีละกว่า 134,000 ล้านบาท
ปีสุดท้ายที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยเกิดขึ้นในปี 2016 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
การที่นักลงทุนต่างชาตินั้นมีตัวเลือกในการลงทุนที่เยอะกว่า หลากหลายกว่า ทำให้ถ้าพวกเขาพบว่า เมื่อตลาดหุ้นของประเทศอื่นมีมูลค่าที่น่าสนใจกว่า ตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมที่จะขายหุ้นออกมา
2. สัดส่วนหุ้น Old Economy หรือ เศรษฐกิจยุคเก่ายังมีมาก
ถ้าเราสังเกตให้ดีบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นของเรานั้นมักเป็นบริษัทที่อยู่ Old Economy หรือ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจยุคเก่า เช่น หุ้นในกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มขนส่ง ที่อยู่มาอย่างยาวนาน ซึ่งในอดีตถือเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว
แต่ปัจจุบัน ธุรกิจเหล่านี้เติบโตค่อนข้างเติบโตช้า ทำให้นักลงทุนต่างชาตินั้นลดความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ในประเทศไทย
เทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ New Economy อย่างของสหรัฐอเมริกา ที่มี หุ้นอย่าง Facebook, Apple, Amazon, Netflix, Google, Microsoft, Apple และ Nvidia
หรือแม้แต่ของจีนที่มีหุ้นอย่าง Baidu, Alibaba, Tencent, Meituan และ Xiaomi ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ยังศักยภาพและการเติบโตอีกมากในอนาคต
Cr: campaignasia
3. การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดลง
ถ้าย้อนหลังไปประมาณ 40 ปีก่อนหน้าที่ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐไทยเติบโตอย่างโดดเด่นคือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (ปี 1982-1986) ภายใต้แผนดังกล่าว รัฐบาลมีการพัฒนาโครงการพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard เกิดขึ้น
โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือ การเปลี่ยนอุตสาหกรรมเบามาเป็นอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในระยะยาว
Cr: shutterstock
ทำให้ในช่วงระหว่างปี 1981-1996 เศรษฐกิจไทยนั้นเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 7.9% จนเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 -2007 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยลดลงต่อปีเหลือแค่ 3.3%
แต่ที่น่าตกใจคือ ตั้งแต่ปี 2008-2020 เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตเฉลี่ยลดลงต่อปีเหลือแค่ 2.4% เท่านั้น
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capital) ของคนไทยในช่วงปี 2000-2020 นั้น เพิ่มขึ้นไม่ถึง 4 เท่าจากประมาณ 66,000 บาท มาอยู่ที่ 237,000 บาท ทำให้ประเทศไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลางได้ (Middle income trap) อยู่
เมื่อศักยภาพทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง ไม่ใช่เพียงแต่นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นจะขายหุ้นออกอย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนต่างชาติประเภทที่ต้องการมาลงทุนโดยตรง (Foreign direct investment) ก็ทะยอยลดการลงทุนเช่นเดียวกัน
ในช่วงระหว่างปี 2001-2005 FDI ที่เข้ามาในแถบประเทศอาเซียนนั้น เข้าสู่ประเทศไทยที่เดียวสูงถึง 44.2% แต่ยิ่งเวลาผ่านไป market share ของ FDI ที่เข้ามายังประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนนั้นกลับค่อยๆ ลดลง จนเหลือเพียง 14.2% ในช่วงระหว่างปี 2016-2018
Cr: media.kkpfg.com
ซึ่ง FDI นั้นถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เนื่องจากมีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรโลก จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศต่างๆ พยายามผลักดันนโยบายดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศไหนที่ จำนวน FDI มีแนวโน้มที่เข้าไปน้อยลง จะมีส่วนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มีแนวโน้มชะลอตัวลงได้เช่นกัน
ซึ่งเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาโดยตลอด
4. โครงสร้างประชากรที่กำลังแก่ตัวลง
แม้ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะประชากรสูงอายุของไทยนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ปี 2020 สัดส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปต่อประชากรทั้งหมดของไทยอยู่ที่ 13% และตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็น 30% ในปี 2050
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจนำไปสู่นัยสำคัญ 2 เรื่อง คือ
-ประชากรที่แก่ตัวลงทำให้มีการบริโภคและกำลังซื้อในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มลดลง
-ตลาดแรงงานที่เล็กลง อาจนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนแรงงาน จนทำให้ต้นทุนค่าแรงงานนั้นแพงขึ้น
ขณะที่ทักษะของแรงงานไม่ได้ปรับขึ้นทันกับค่าแรง ซึ่งจะทำให้ผลิตภาพการผลิตนั้นลดลงแต่ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น จนกำไรลดลง และต้องลดลงการลงทุนและการจ้างงาน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่าและมีตลาดแรงงานที่ใหญ่กว่า
Cr: The Bangkok post
ซึ่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมหลายอย่างในประเทศไทยนั้น จัดเป็น Labor-intensive คือ อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การค้าส่ง ค้าปลีก การผลิต ก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งหลายอุตสาหกรรมเหล่านี้ ในปัจจุบันก็ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานกันอยู่แล้ว
ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ อาจเป็นเพียงบางส่วนของเรื่องราวที่ว่า ทำไมนักลงทุนต่างชาติถึงขายหุ้นไทยมาตลอดหลายแสนล้านบาท จนทำให้ตลาดหุ้นไทย เป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
โฆษณา