21 ม.ค. 2022 เวลา 10:57 • ไลฟ์สไตล์
"สินสอด" ค่านิยมของความรักในยุคปัจจุบัน
sanook.com
การให้สินสอดกับการแต่งงานเป็นประเพณีแบบไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ บ้างก็ว่าเพื่อเลี้ยงดูฝ่ายพ่อแม่เจ้าสาว บ้างก็ว่าเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมของฝ่ายพ่อแม่เจ้าสาวและขอบคุณที่ยอมยกลูกสาวให้ แต่ในปัจจุบันนี้บ่าวสาวสมัยใหม่ก็มีข้อโต้แย้งและมีปัญหาเรื่องสินสอดมากมายจนกลายเป็นข้อถกเถียงไม่จบสิ้น
ปัจจุบันแม้หลายครอบครัวจะไม่รับสินสอด หรือคืนสินสอดให้คู่บ่าวสาว แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมและค่านิยมของคนไทยคือ “ต้องมี” สินสอด เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับทางผู้ใหญ่ เรียกว่าการแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน จนขนาดที่ว่ามีธุรกิจการเช่าสินสอดขึ้นมาเลยทีเดียว
การแต่งงานที่ต้องใช้สินสอด บางคนที่บอกว่าไม่ควรมีแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องล้าหลังเสียเหลือเกิน แต่อีกฝ่ายกลับรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา และมีคุณค่าทางจิตใจ ตามประเพณีที่สืบทอดกันมา ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของสินสอดที่ฝ่ายชายมักจะต้องปวดหัวเสียมากกว่าสำหรับวัฒนธรรมของคนไทย
การปรับตัวเพื่อเข้าใจสินสอดในนิยามใหม่
pexels.com
ตกลงเรื่องสินสอดกันให้ชัดเจน
พอคบหากันไปได้สักพักให้เริ่มวางแผนชีวิตคู่ การแต่งงาน และแน่นอนว่าต้อง "ตกลงกันให้ชัดเจน" ไปเลย จะได้รู้ว่าตรงกลางที่เหมาะสมคือตรงไหน ถ้าจะมีสินสอด จะเรียกเท่าไหร่ หรือถ้าไม่ให้เป็นเงินทอง แล้วให้เป็นอย่างอื่นแทนได้ไหม เป็นต้น
อย่าให้ทุกอย่างพังเพราะสินสอด
รักพัง ไปต่อไม่ได้ ก็ส่วนใหญ่มักเกิดจากครอบครัวฝ่ายหญิงที่ต้องการสินสอดมาเป็นเครื่องการันตีความรัก ซึ่งเป็นค่านิยมกันมาตั้งแต่โบราณ บางทีฝ่ายเจ้าบ่าวก็จำเป็นที่จะต้องบอกออกไปตรง ๆ ว่าตัวเองไม่พร้อมสำหรับค่าสินสอดที่แพงจนต้องขายบ้าน ขายรถ เพื่อเอามาสู่ขอ ถ้าให้ได้เท่าไหร่ก็ลองพูดคุยกับครอบครัวฝ่ายหญิงดู ห้ามไปกู้หนี้ยืมสินมาให้ปวดหัวทีหลัง
ยังไงก็ยังคงสรุปไม่ได้อยู่ดีว่ายุคนี้ควรมีหรือไม่มีสินสอด เพราะค่านิยมนี้ฝังรากอยู่ในวิถีคนไทยมานานมากแล้ว ดังนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคู่ว่าจะมองสินสอดว่ามันสำคัญแค่ไหน ถ้าใครไม่มีปัญหาก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าใครอยากใช้ชีวิตคู่กันแล้ว แต่ติดแค่เรื่องสินสอดเรื่องเดียว อันนี้อาจจะต้องหาทางออกแบบช่วยกันทั้งสองฝ่าย จะได้ไม่เอาความรักผูกไว้กับแค่เรื่องเดียว จนบ่อนทำลายความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้กันนั่นเองค่ะ
โฆษณา