21 ม.ค. 2022 เวลา 12:49 • ไลฟ์สไตล์
เยียวยาภาวะ "หัวใจสลาย" และใช้ชีวิตต่อไปแม้จะต้องสูญเสียใครสักคน
‘เจอกันที่ร้านโปรดของเธอนะ’
1
‘เคธี’ ยิ้มออกมาเมื่อเห็นข้อความจาก ‘ริช’ ผู้ชายที่เธอคบหาดูใจมาได้ 6 เดือน ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา เธอกับเขาได้ใช้ช่วงเวลาแสนวิเศษร่วมกันที่นิวอิงแลนด์ เธอมีความสุขมากๆ เพราะทุกอย่างดีราวกับฝันไป และยิ่งได้เห็นข้อความนี้จากเขา เธอยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ เธอรู้ได้เลยว่าเขากำลังจะขอเธอแต่งงานแน่ๆ!
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราอาจคิดว่าเคธีเป็นสาวช่างฝันเกินไป แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นเสียทีเดียว
จริงอยู่ที่เคธีจินตนาการถึงงานแต่งในฝันของเธอมาตั้งแต่วัยเด็ก เธอหวังว่าเธอจะได้พบรักดีๆ และได้แต่งงานกับคนที่เธอรักเมื่ออายุ 27 ปี
แต่เมื่อย่างก้าวเข้าวัย 27 สิ่งที่เธอได้พบเจอกลับไม่ใช่สามี แต่เป็น ‘มะเร็ง’
กว่า 4 ปีที่เธอใช้ไปกับการดูแลร่างกายตัวเอง เผชิญกับความเจ็บปวดจากอาการของโรคและขั้นตอนการรักษาจนหายดีในที่สุด มาวันนี้ เธอในวัย 30 กว่าได้เจอผู้ชายที่เข้ากันได้ดีคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอจะคาดหวังว่าจะได้พบเจอกับสิ่งดีๆ บ้าง หลังจากต่อสู้กับโรคร้ายมานาน
เคธีในชุดเดรสตัวโปรดกลั้นยิ้มแทบไม่ไหวเมื่อเดินเข้าไปในร้านอาหารสุดโรแมนติก ร้านโปรดของเธอที่ริชได้ทำการจองไว้ แต่แล้วหัวใจที่พองโตนั้นก็ต้องแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ เมื่อพบว่าเขาไม่ได้มาเพื่อขอแต่งงาน แต่มาเพื่อขอยุติความสัมพันธ์
“ผมแคร์คุณนะ แต่ผมไม่ได้รักคุณ”
วินาทีนั้นโลกของเคธีพังครืนลงมาในพริบตา
1) เมื่อภาวะ “หัวใจสลาย” ส่งผลร้ายต่อร่างกายกว่าที่เราคิด
แม้จะน่าเศร้าจนเราไม่อยากให้มันเป็นจริง แต่เรื่องราวเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ กับเคธี ไม่ว่าจะเรื่องมะเร็งหรือถูกบอกเลิก เธอเป็นหนึ่งในคนที่มารับคำปรึกษากับ กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยา นักเขียน และนักพูดในรายการ TED Talk ที่มียอดผู้ชมกว่า 8 ล้านคน ส่วนหนังสือเรื่อง ‘How to Fix a Broken Heart’ และ ‘Emotional First Aid’ ของเขาก็มียอดขายหลายล้านเล่ม
แล้ว 5 เดือนหลังจากถูกบอกเลิก เกิดอะไรขึ้นกับเคธี
แม้เราทุกคนจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ‘เวลาจะช่วยเยียวยา’ แต่เราก็บอกไม่ได้อยู่ดีว่าสำหรับแต่ละคน ‘เวลา’ ที่ว่านั้นจะสั้นหรือยาว จะต้องใช้เวลาเป็นวัน เดือน หรือปี สำหรับเคธีนั้น แม้จะผ่านมา 5 เดือนแล้วเธอก็ยังคิดถึงเขาอยู่ประจำ และยังรู้สึกใจสลายไม่ต่างจากวันแรกที่ถูกบอกเลิกเลย
5
ทำไมผู้หญิงที่เข้มแข็งขนาดต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ ถึงทำใจกับเรื่องที่คนมองว่า ‘เล็กน้อย’ อย่างอาการอกหักไม่ได้?
นั่นเป็นเพราะจริงๆ แล้วอาการอกหักส่งผลต่อจิตใจ สมอง และร่างกายมากกว่าที่เราคิด
2
เวลาเราสูญเสียใครสักคนที่มี ‘สถานะอย่างเป็นทางการ’ ในชีวิตเรา เช่น พ่อ แม่ สามี ภรรยา หรือแม้กระทั่งญาติห่างๆ คนรอบตัวในสังคมมักจะให้กำลังใจและเห็นอกเห็นใจอย่างมาก บริษัทอาจถึงกับอนุญาตให้ลางานเลยด้วยซ้ำ ในทางกลับกัน หากเป็นการสูญเสีย ‘แฟน’ หรือ ‘สัตว์เลี้ยง’ คนในสังคมกลับมองว่าไม่ได้สาหัสเท่าและคาดหวังให้เราก้าวผ่านความโศกเศร้าไปได้อย่างรวดเร็ว
น่าแปลก เพราะจริงๆ แล้วการสูญเสียอย่างหลังนั้นก็ส่งผลกระทบต่อเราไม่แพ้กัน (บางกรณีอาจมากกว่าด้วยซ้ำ)
อีธาน ครอส ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้ทดลองใช้เครื่องสแกน fMRI วิเคราะห์สมองของอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเลิกรากับคนรักมา โดยทีมงานได้สังเกตการณ์การตอบสนองของสมอง ระหว่างการแสดงรูปของอดีตคนรักกับการได้รับความเจ็บปวดทางกาย
ผลพบว่าสมองตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางจิตใจจากอาการอกหัก ไม่ต่างจากการเจ็บตัวเลย!
มากไปกว่านั้น อาการอกหักยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนส์แห่งความเครียดที่ชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานไม่ปกติ ส่งผลให้ร่างกายของเราอ่อนแอลง ป่วยง่าย อาการไม่ต่างกับตอนที่เราเครียดเพราะงานหนักจนไม่สบายเลย
2) เข้าใจสมองของคนอกหักผ่าน ‘คนติดยา’
ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่าอาการอกหักทำอะไรกับสมองของเราบ้าง
กาย วินช์ อธิบายว่าสาเหตุที่คนเราย้อนกลับไปนึกถึงภาพในอดีตกับคนรักอยู่บ่อยๆ นั้นไม่ใช่เพราะคิดถึงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะสมองของเรามองว่า เหตุผลของการเลิกกันนั้น ‘ไม่สมเหตุสมผล’
ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลอย่าง ‘ไม่ได้รักแล้ว’ ‘เราดีเกินไป’ หรือ ‘เราต่างกันเกินไป’ คำบอกเลิกเหล่านี้ฟังดูเรียบง่ายและเล็กน้อย มันไม่ยิ่งใหญ่พอที่จะอธิบายความเจ็บปวดมหาศาลที่เรารู้สึกอยู่ได้เลย!
1
ด้วยเหตุนี้ หลายๆ คนจึงหมกมุ่นในการหาคำตอบที่เหมาะสมกว่าโดยการย้อนคิดถึงเรื่องวันวานซ้ำแล้วซ้ำเล่า เคธีก็เช่นกัน เพราะเธอเจ็บปวดอย่างมาก เธอจึงเชื่อว่าต้องมีเหตุผลอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เธอถูกบอกเลิก เป็นเพราะนิสัยของเธอหรือเปล่า? เธอทำพลาดตรงไหนไปหรือเปล่านะ? เคธีย้อนคิดถึงเรื่องอดีตเพื่อหาจุดบกพร่องของตัวเอง โดยไม่รู้เลยว่าความพยายามในการหาคำตอบเพื่อความสบายใจ กลับทำให้เธอเศร้านานกว่าเดิมอีก
3
งานวิจัยเกี่ยวกับสมองแสดงให้เห็นว่า เวลาที่มนุษย์เรา ‘ถอน’ จากความรักนั้น สมองเราตอบสนองไม่ต่างจากอาการถอนยาเสพติดเลย การที่เราต้องเจอคนรักเก่า ใช้เวลาร่วมกับเขา หรือแค่คิดถึงความทรงจำเก่าๆ (แบบที่เคธีทำ) แท้จริงแล้วก็คือจากการกลับไปเสพสิ่งที่เราพยายามเลิก
การพยายามขุดคุ้ยอดีตมีแต่จะทำให้เราลืมไม่ได้ มัวแต่คิดโทษตัวเอง และรู้สึกแย่กับตัวเองไปใหญ่ จากแผลใจที่มีเพียงแค่แผลเดียวจากความสัมพันธ์ กลายเป็นว่าเราได้อีกแผลเพิ่มจากการไม่รักตัวเอง แรงใจและเวลาที่ใช้ในการเยียวยาเลยต้องเพิ่มขึ้นไปอีก
ด้วยเหตุนี้หลายคนจึง ‘มูฟออน’ ไม่ได้เสียที
1
3) วิธีเยียวยาภาวะหัวใจสลายฉบับนักจิตวิทยา
หากมีเครื่องลบความทรงจำแบบที่ตัวเอกในเรื่อง Eternal Sunshine of Spotless Mind ใช้ลบกันและกันก็คงจะดีไม่น้อย คนจำนวนมากคงไม่ต้องทรมานกับการสูญเสียคนรักอีกต่อไป แต่น่าเสียดายที่ชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ถ้าหากไม่มีเครื่องลบความทรงจำ พอจะมีหนทางอื่นบ้างมั้ยที่ช่วยให้ความเจ็บปวดนี้หายไปให้เร็วที่สุด
3.1) รับฟังและยอมรับ
กายบอกว่าเวลาจะช่วยเยียวยาก็จริง แต่เราไม่จำเป็นต้องนั่งเฉยๆ จนหายเจ็บก็ได้ (เพราะนั่นอาจใช้เวลานาน) เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการ ‘รับฟัง’ ไม่ว่าเหตุผลที่อีกฝ่ายใช้จะเป็นเหตุผลแบบที่ริชใช้ (‘ผมแคร์คุณนะ แต่ผมไม่ได้รักคุณ’) หรือเหตุผลอื่นใด ให้เราเลิกฟังเสียงหัวใจอันดื้อด้านที่ชอบคิดเข้าข้างตัวเองสักพัก และฟังด้วยสิ่งที่อีกฝ่ายบอกด้วยความตั้งใจ
จากนั้นก็ ‘ยอมรับ’ เหตุผลนั้นเสีย
เหตุผลที่ว่าอาจทำให้เราเจ็บปวด แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตัวเราเอง หากเราไม่ยอมฟัง เราก็คงไม่เข้าใจเสียที่ว่า ‘ไม่ได้รัก’ ก็คือ ‘ไม่ได้รัก’ และต้องเสียเวลาทำร้ายตัวเองซ้ำๆ จากการขุดคุ้ยอดีตอีก อย่างไรก็ตาม หากเหตุผลของอีกฝ่ายไม่สามารถทำให้เราพอใจได้จริงๆ กายแนะนำว่าให้เราเล่าเรื่องจากมุมมองของเรา เล่าในแบบที่เราพอใจ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้เราจบประเด็น เลิกถามคำถาม และเลิกโทษตัวเองเสียที
4
3.2) ปล่อย
อีกขั้นตอนสำคัญในการเยียวยาหัวใจสลายคือการ ‘ปล่อย’
ไม่ใช่เพียงแต่ปล่อยให้เขาเดินจากไป แต่เราต้องปล่อยความหวัง ปล่อยความทรงจำ ปล่อยความเป็นไปได้ระหว่างสองเรา และปล่อยอนาคตที่วางไว้ด้วยกัน หากเป็นไปได้ให้ปล่อย (หรือทิ้งนั่นแหละ) สิ่งของที่ชวนให้นึกถึงเขาไปด้วย จริงอยู่ การปล่อยไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เราอาจเสียดายก็จริง แต่ให้คิดไว้เสมอว่า ในช่วงเวลาที่เรามีกันอยู่ เราได้ทำดีที่สุดแล้ว และเราย้อนไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
1
3.3) ใจดีกับตัวเอง
กายแนะนำอีกวิธีซึ่งก็คือ การใจดีกับตัวเอง หรือมี Self-compassion นั่นเอง การหันมามองเห็นคุณค่าตัวเองและเลิกโทษตัวเองจะช่วยรักษาความเจ็บปวดที่มีอยู่ หากเราใจดีกับตัวเองไม่เป็น ให้เริ่มฝึกจากการใจดีกับคนอื่นก่อนก็ได้ เพราะมีงานวิจัยพบว่าการเขียนข้อความให้กำลังใจคนที่กำลังเจอสถานการณ์คล้ายๆ กับเรา มักจะทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจตนเองมากขึ้น
1
เราอาจเริ่มจากการเขียนจดหมายปลอบเพื่อนในจินตนาการที่กำลังอกหักอยู่ หรือเริ่มจากการแปะคำคมให้กำลังใจตัวเองไว้บริเวณต่างๆ ของบ้าน ตั้งเป็นภาพหน้าจอคอมพ์ และหน้าจอโทรศัพท์ก็ช่วยเสริมแรงใจได้
1
3.4) เลิกมองแต่ข้อดีของเขา
1
พอเลิกกันทีไร คนเรามักจะคิดถึงแต่ข้อดีของแฟนเก่าและทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องโรแมนติก ไม่ว่าจะเป็นนิสัยของเค้า รอยยิ้มของเค้า หรือแม้กระทั่งเสียงกรนของเค้า เราทำให้เขาน่าโหยหาจนพาตัวเองเศร้าใจไปหมด ลืมไปหมดเลยว่าเขาก็มีข้อเสียเหมือนกัน! หากเรารู้ตัวว่าในช่วงที่อ่อนไหว เรามักจะคิดถึงแต่เรื่องดีๆ ของเขา ให้เตือนสติตัวเองด้วยการจดลิสต์ ‘ข้อเสีย’ ของเขาแล้วหยิบขึ้นมาอ่านบ้าง
3.5) เราไม่ได้ตัวคนเดียว
1
กำลังใจจากคนรอบตัว (Social support) เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านความสูญเสียไปได้ ดังนั้นถ้าเราเสียใจไม่ไหวและอยากร้องไห้ ก็ลองเล่าให้ใครสักคนฟัง แสดงความอ่อนแอ และปล่อยให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกปลอบบ้างก็ได้
1
แม้จะแหลกสลาย แต่เราสามารถหยิบชิ้นส่วนมาประกอบร่างสร้างใหม่ได้เสมอ มันอาจต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่นบ้าง อาจเป็นการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยน้ำตา และบางวันอาจรู้สึกท้อแท้เป็นพิเศษ แต่วันใดวันหนึ่งชิ้นส่วนที่เคยแหลกสลายเหล่านี้จะประสานกัน เป็นหัวใจดวงเดิมที่เต้นด้วยความหวังครั้งใหม่ และเป็นหัวใจดวงเดิมที่แข็งแรงกว่าที่เคย
4
เพราะเราเยียวยามันด้วยความรักจากตัวเราเอง
อ้างอิง
หนังสือ How to Fix a Broken Heart
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา