22 ม.ค. 2022 เวลา 13:23 • ดนตรี เพลง
[รีวิวอัลบั้ม] SICK! - Earl Sweatshirt
เซ็งโว้ย!
[รีวิวอัลบั้ม] SICK! - Earl Sweatshirt
-อัลบั้มชุดที่ 4 ของไอ้หนุ่มสุดติสต์ Earl Sweatshirt ที่ทำให้เราลืมไปสนิทเลยว่า เขาคืออดีตสมาชิก Odd Future ที่เคยสร้างความปั่นป่วนแบบวัยรุ่นเห่อมอยให้วงการฮิปฮอปจนเป็นที่โจษจันมาแล้ว ไอ้หนุ่ม Earl เป็นศิลปินที่โดดเด่นรองลงมาจาก Tyler The Creator และ Frank Ocean จนคนติดตามต่อเนื่องอย่างใจจดใจจ่อด้วยความที่ไอ้เด็กหนุ่มคนนี้มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ โฟลว์หนืดๆ เสียงแหบเข้มเกินอายุ แถมชอบทดลองไปเรื่อย เราจึงได้ฟังผลงานเพลงที่ไม่ได้ยึดติดกับฮิปฮอปรูปแบบเดิมๆ เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนมู้ดแทบจะทุกชุด เป็นความกล้าฉีกแนวที่น่าสนใจเข้าไปอีก
-อย่างที่เห็นเด่นชัดมาตั้งแต่ I Don’t Like Shit, I Don’t Go Outside ที่รู้เลยว่าแม่งต้องติสต์แน่ๆ ต่างจากอัลบั้มแรกๆ Doris หรือมิกซ์เทป Earl ที่เงาของซาวนด์ที่เป็น Odd Future อยู่พอสมควร พอสิ้นสุดยุค OF ปุ๊ป Earl เป็นคนนึงที่แนวทางอินดี้แร็ปชัดเจนมากๆ I Don’t Like Shit… นี่โคตร personal แนวทางหม่นที่บิดเบี้ยวเก่ง และยิ่งตอกย้ำด้วย Some Rap Songs ก็ทำให้เราเห็นการผสมปนเปที่โคตรมีชั้นเชิง เป็นความ weird ที่ไม่ระคนแถมไหลลื่นไม่มีสะดุด เป็นการนำเสนอที่ให้ฟีลดูวิดีโอม้วนเทปี่ฉายภาพและเสียงไปทางขมุกขมัว น่าพิสมัยกว่างานเพลงฮิปฮอปอื่นๆเป็นพิเศษ แต่ก็ยังคงความหม่นไม่จางหายในแบบที่เราโคตรเข้าใจเลยว่า ณ ตอนนั้น Earl ประสบกับสภาวะหลังสูญเสียพ่อแท้ๆผู้ห่างเหินอย่างไม่มีวันกลับของจริง ความปนเปมันเลยปนไปด้วยความสับสนภายในจิตอยู่ดี
ปกอัลบั้ม Some Rap Songs Version ไม่เบลอ
-พอมาเป็นอัลบั้ม SICK! ราวกับว่า Earl มูฟออนได้จากการสูญเสียพ่อไปได้แล้วจริงๆ มู้ดของเพลงเลยชิวล์กว่าผลงานก่อนหน้าเยอะ แต่ก็บ่นในเรื่องโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอย่างต้องแยกออกจากกัน สภาพจิตใจที่โดดเดี่ยว อ้างว้าง เลยเป็นที่มาของชื่ออัลบั้มพยางค์เดียวที่บ่งบอกความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เป็นอยู่โดยไม่ต้องสงสัย การเผชิญโรคอุบัติใหม่ไปพร้อมๆกับสภาพจิตใจที่ป่วยจิตพอกัน ชอบใน inspiration ที่ได้มาจากชื่อหนังสือที่เคยอ่านกับแม่ The People Could Fly เป็นนิทานพื้นบ้านของคนผิวสีที่สร้างแรงบันดาลใจในการปลดแอกตัวเองจากการเป็นทาสท่องคาถาโบราณของชาวแอฟริกันแล้วจะโบยบินสู่ท้องฟ้าได้ พอมาอยู่ในยุคนี้ก็ไม่ต่างจากการตกเป็นทาสไร้อิสรภาพไปโดยอัตโนมัติเนื่องจากโรคระบาด people couldn’t fly anymore เป็นประโยคขั้วตรงข้ามที่โคตรเข้าใจคิดในการหยอกเย้าบริบททางสังคมแบบนี้
-อย่างไรก็ดีพลังงานมวลรวมไม่ถึงขั้นติดลบ ออกจากเฟรนด์ลี่ด้วยซ้ำ ประหนึ่งเราได้เห็นไอ้เด็กยุค Gen Z ที่ดูดปุ๊นนั่งฟังเพลงเรโทรเก่าๆทำตัวสบายๆ ฟรีสไตล์ไปเรื่อยในบ้านเสียมากกว่า ไม่ได้เจาะลึกความป่วยทางสังคมเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก ที่แน่ๆไอ้หนุ่ม Earl แชร์ความคิดความอ่านที่น่าสนใจทั้งจากตัวเอง และคลิปเสียงจากบทสัมภาษณ์ในสารคดีบ้าง ในบทหนังบ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารทางความคิดที่ไม่ได้แปะมาลอยๆซักทีเดียว
-ในไตเติ้ลแทร็ค SICK! มันจะมีประโยคที่ถอดจากบทสัมภาษณ์จาก Fela Kuti ในสารคดี Fela Kuti: Music is the Weapon ที่พูดไว้ดีมากเกี่ยวกับหน้าที่ของศิลปินจนอยากให้ศิลปินรุ่นพี่ท่านนึงที่ดันมองว่าเพลงไม่ใช่อาวุธเนี่ยได้เข้ามาอ่านซะหน่อยว่า
“ศิลปะมักจะถ่ายทอดความเป็นไปของสังคม ณ ช่วงนั้นเสมอ ในแอฟริกาผลงานเพลงไม่ใช่สร้างมาเพื่อความ enjoy อย่างเดียว เพลงสร้างมาเพื่อปฏิวัติได้ด้วย ซึ่งมันก็เวิร์คมากในการทำให้คนตาสว่างและทำหน้าที่ประชาชนคนปกติที่อยากจะเปิดเพลงๆนั้นในการถ่ายทอดหรือพูดบางสิ่งเกี่ยวกับระบบ ถ้าคุณรู้สึกแย่กับมันมาก คุณก็ต้องทำบางสิ่งก็เท่านั้น”
คลิปสัมภาษณ์ที่แทรกเข้ามา สามารถบ่งบอกเป้าประสงค์ที่เจ้า Earl ต้องการจะสื่อในอัลบั้มนี้ในแบบที่ไม่เกินเลย ต่อให้ไอ้แร็ปเปอร์จะเมากัญชาจนกรึ่มแล้วก็ตาม อย่างน้อยมันมีเหตุผลที่ให้เมา ในเมื่อกูโบยบินออกไปสู่ท้องนภาไม่ได้ กูก็จะลอยละล่องแม่งเลย นอกจากจะสอดแทรกแนวคิดทางการเมืองของศิลปินแอฟริการุ่นก่อนแล้ว
-ยังมีการสอดแทรก role play ที่โคตร inspired อย่างที่ไม่เคยเห็นในงานไอ้หนุ่มวัยรุ่นจอมขบถรายนี้มาก่อนในเพลง Vision ที่สอดแทรกบทสนทนาของคนที่ถามหาเวทมนตร์ปาฏิหารย์เป็นตัวเปิดประเด็น โดยมีแขกรับเชิญ Zelooperz และเจ้าของเพลงพยายามแชร์ประสบการณ์สุด struggle ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่นำพาสู่การเลิกว่าจ้างงาน อัตราคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณไปพร้อมๆกับจำนวนผู้เสียชีวิต และบทสนทนาที่เปิดประเด็นเรื่องเวทมนตร์ปาฏิหารย์มีจริงมั้ย? อะไรที่จะทำให้เด็กผิวสีมีความสุขโดยที่ไม่พึ่งเวทมนตร์ปาฏิหารย์ได้บ้าง ซึ่งก็สามารถเอาไปประยุกต์สอนลูกๆหลานๆได้เลยว่า
“ของแบบนี้มันก็ขึ้นอยู่กับคุณบอกอะไรกับพวกเขาเหล่านั้นล่ะ เวทมนตร์เป็นการพยายามกล่อมให้เด็กเชื่อโดยที่ไม่สามารถเติบโตในโลกจริงได้ คุณต้องพูดความจริงให้กับพวกเขาและพยายามช่วยให้พวกเขามีความภูมิใจในตัวเองให้ได้ ความจริงเป็นสิ่งที่ทรงพลังเหนือกว่าเวทมนตร์ด้วยซ้ำ บอกให้พวกเขารู้ว่าพวกเขางดงามแค่ไหน พวกเขาต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าเขาเกิดมาเป็นคนผิวสี”
-จะเห็นได้ว่าไอ้หนุ่ม Earl ลดความโกรธเกรี้ยว ลด negative thoughts ในบทเพลงมากกว่าที่เคยเป็นมา จัดเป็นสัญญาณที่ดีในการที่เราได้เห็นมุมสบายๆของเขาคนนี้อย่างจริงจัง production ในงานเพลงก็เริ่มเนี๊ยบกว่าเดิมด้วยการร่วมงานกับบุคลากรที่เชื่อใจได้ไม่ว่าจะเป็น Young Guru ซาวน์ดเอ็นจิเนียร์มือขวาของน้า Jay-Z ที่น้าแก shout out ในเพลงบ่อยจนเป็นวลีติดปากไปแล้ว The Alchemist โปรดิวเซอร์มือฉมังก็มาช่วยลับคมถึงสองเพลง
-แทร็คแรก Old Friend ก็สัมผัสได้ถึงโปรดักช์ชั่นที่กระหึ่มและโกธีคจนน่าขนลุก เป็นการทักทายด้วยสำเนียงสุดคุ้นเคย เพิ่มเติมคือการร่ายยาวไอ้โรคบ้านี่ซักเยอะเลย และมีเพลง Lye ที่คงความกระมิดกระเมี้ยนในซาวนด์อันเป็นซิกเนเจอร์ของโปรดิวซ์เซอร์ผิวขาวคนนี้ไม่จางหาย ถ้าคุณได้ลองฟังโปรเจคต์ Alfredo ที่ทำร่วมกับ Freddie Gibbs คุณจะหลงรักเนเจอร์ความคารวะต่อท่วงทำนองของคนผิวสีได้ไม่ยาก -แทร็คนึงที่ชอบมากและบ่งบอกถึงความหรูหราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน Tabula Rasa ที่ได้คู่หูดูโอ้ billy woods และ E L U C I D ในนามของ Armand Hammer ให้อารมณ์สนทนาในวงเหล้า มี element เสียงชนขวดแก้วเคล้าคลอเป็นครั้งเป็นคราวด้วย
-Black Noi$e โปรดิวซ์เซอร์ขาประจำที่ยังคงรู้ใจ Earl เสมอมา ไม่ว่าจะเป็น 2010 ที่ element โดยรอบ โดดเด่นแผ่ซ่าน จริงๆแล้วเค้าไม่ได้พอย้อนเวลาแต่อย่างใด meaning ของชื่อเพลงเป็นการแสดงความคารวะต่อเพื่อนผู้ล่วงลับ Mac Miller ที่มีซิงเกิ้ลฮิต 2009 จากมิกซ์เทป K.I.D.S. ที่แจ้งเกิดให้แม็คอย่างเต็มตัว Earl เลยทำ 2010 มาเพื่อเป็นการเจริญรอยตาม และยังเป็นปีที่เขาปล่อยมิกซ์เทป Earl อีกด้วย Titanic บีทสุดตึ๋งหนืด ไรห์มสุดฟิตของ Earl ที่พกวลีสุดซ่าส์ในแบบที่คุณไม่สามารถทำเขาจมแบบเรือไททานิคได้ อีกทั้งไล่ให้ haters ไปพักผ่อนซะ และปิดท้ายด้วย Fire In The Hole ที่ทิ้งเชื้อความมั่นใจในตัวเองเต็มๆราวกับไอ้หนุ่ม Earl เริ่มจุดไฟติดเพื่อเดินไปข้างหน้า บ่งบอกถึงการมูฟออนจากภาวะสูญเสียพ่อในแบบที่จะไม่มัวมาจมดิ่งครุ่นคิดอีกต่อไป แล้วก็ทิ้งยาวด้วยเพลงบรรเลงสุดชิวล์เป็นการบ่งบอกความรู้สึกแทนคำพูดตามสูตร
It's no rewinding / for the umpteenth time, it's only forward
-หากไม่นับอีพีอัลบั้ม Fleet of Clay การกลับมาในครั้งนี้มันทำให้ผมนึกถึงภาพที่ต่อเนื่องจากเพลง Riot! แทร็คสุดท้ายจาก Some Rap Songs ที่ปิดด้วยดนตรีแจ๊สฉายแสงสว่างหลังจากที่เผชิญความหม่นหมอง ขมุกขมัวมาตลอดทั้งอัลบั้มนั้น การต่อด้วย SICK! ก็เป็นอะไรที่พอสอดรับกับตอนจบอัลบั้มที่ฉายแสงแห่งความหวังให้คนฟังที่อาจจะเป็นห่วงสภาวะจิตใจของไอ้หนุ่ม Earl ณ อัลบั้มชุดที่ 4 นี้ยังดีที่เขาไม่ปฏิเสธความเซ็งจิตกับสภาวะแวดล้อมที่ทุกอย่างแม่งต้องล็อคดาวน์ อีกทั้งด้วยการที่เขาเริ่มเป็นพ่อคนด้วย ทำให้ไอ้หนุ่มวัย 27 คนนี้ดัน Can’t go outside no more ไปโดยปริยาย
-แต่ก็ไม่เป็นไรที่เขาส่งสัญญาณอันแช่มชื้นผ่านบทเพลงแร็พที่กระมิดกระเมี้ยนขึ้นโดยที่ไม่มีสัดส่วน dark music เกินหน้าเกินตาความรื่นรมย์นั้นเสียก่อน แถมความเจ้าบทเจ้ากลอนที่ได้มาจากคุณพ่อนักวี Keorapetse Kigotsile ก็ยังเป็นดีเอ็นเอเลือดข้นคนไม่จางอยู่วันยังค่ำ ไรห์มของไอ้หนุ่ม Earl โยงอะไรหลายสิ่งจนบางทีผมเองก็แอบไม่เก็ตเหมือนกัน ดูได้จากการที่ผมตีความสิ่งที่เขาสื่อสารในเพลงรอบนี้ได้น้อยเหลือเกิน
-จัดว่าเป็นสัญญาณทางจิตที่ยังดี ยังโอเค แลดูมีความหวังกว่าครั้งก่อนเสียอีก และยังเป็นการตอกย้ำความสั้นๆได้ใจความไม่ถึงครึ่งชั่วโมงในแบบที่เป็นซิกเนเจอร์ของไอ้หนุ่ม Earl ไปแล้ว 24 นาทีใกล้เคียงกับ Some Rap Songs เป๊ะ แต่ถ้าให้ถามว่าชอบอัลบั้มไหนมากกว่ากัน ผมคงยังไม่มูฟออนจาก Some Rap Songs อยู่ดีแหละ ด้วยวิธีการนำเสนอที่มันไม่ค่อยจะเหมือนใคร แถมไดนามิคกว่ามากๆ SICK! ออกแนวถ่างช่องว่างให้หายใจหายคอ ไม่มีอะไรที่ปุบปับพลิกแพลงหยอกเย้าไปตามมู้ดอารมณ์แบบที่ Some Rap Songs เคยสะกดจิตผมได้แนบเนียนกว่า แต่นั่นคือการชั่งน้ำหนักความชื่นชอบส่วนตัวเฉยๆ สำหรับสภาวะจิตใจของศิลปินสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด เราจะปล่อยให้เขากลับไปดาร์คอีกไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยผมคงคาดหวังความชิวล์และความสนุกตามใจอยากแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆจริงๆ
SICK! แปลอีกทางคือ เจ๋ง!
Top Tracks: Old Friend, 2010, Vision, Tabula Rasa, Lye, Fire In The Hole
Give 7.5/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา