29 ม.ค. 2022 เวลา 08:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
"คริปโทเคอร์เรนซี" คืออะไร ทำความเข้าใจคริปโทฯ แบบเร่งด่วนใน 5 ข้อ
สรุป 5 ข้อสำคัญ ช่วยทำความรู้จัก "คริปโทเคอร์เรนซี" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "คริปโทฯ" คืออะไร มีแบบไหนบ้าง มีประโยชน์อย่างไร ?
"คริปโทเคอร์เรนซี" คืออะไร ทำความเข้าใจคริปโทฯ แบบเร่งด่วนใน 5 ข้อ
ประเด็นร้อนในแวดวงการเงินการลงทุนคือเรื่อง “เก็บภาษีคริปโทฯ” ที่กรมสรรพากรออกกฎเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีจากนักลงทุน “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่หลายส่วนที่เกี่ยวข้องมองว่ายังไม่เหมาะสม ซึ่งบทสรุปของเครื่องนี้ กรมสรรพากรจะหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน
พอพูดถึงเรื่องภาษี หลายคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “คริปโทฯ” หรือ “คริปโตฯ” อาจจะยังสงสัยว่า ทำไมกรมสรรพากรถึงหันมาสนใจที่จะเก็บภาษีจากสิ่งเหล่านี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงพาไปทำความรู้จักคริปโทฯ เบื้องต้น โดยสรุปเป็น 5 ข้อสำคัญ ดังนี้
2
1. คริปโทฯ คืออะไร ?
"คริปโทเคอร์เรนซี" (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับระหว่างกัน
ปัจจุบัน คริปโทเคอร์เรนซียังไม่ถือว่าเป็น "เงิน" ที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) มีเพียงเอลซัลวาดอร์ที่ยอมรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย) อย่างไรก็ตามคริปโทฯ หลากหลายสกุลกลับได้รับความนิยมในกลุ่มของผู้ที่เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของโลกอนาคตหรือมีบทบาทสำคัญในโลกการเงินการลงทุนในอนาคต โดยคริปโทฯ ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น Bitcoin Ethereum เป็นต้น
1
2. คุณสมบัติเบื้องต้นของคริปโทฯ
คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง มีการเข้ารหัสวิ่งอยู่บนระบบที่เรียกว่า “บล็อกเชน” มีราคาในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาดและความต้องการซื้อขาย
คริปโทฯ จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าแบบดิจิทัลได้ ไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพเหมือน สกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) ของแต่ละประเทศที่มีการตีพิมพ์ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกมา
3. บล็อกเชน เกี่ยวอะไรกับ "คริปโทฯ" ?
1
ทุกครั้งที่พูดถึงคริปโทฯ มักจะมีคำว่า "บล็อกเชน" (Blockchain) ตามมาด้วยแทบทุกคน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บล็อกเชนไม่ใช่คริปโทฯ แต่บล็อกเชนเป็นระบบที่คริปโทฯ ทำงานอยู่
1
บล็อกเชน เป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เราเรียกรูปแบบการเก็บและแชร์ข้อมูลแบบนี้ว่า Blockchain
3
จุดเด่นสำคัญของบล็อกเชน คือ ความโปร่งใสและแก้ไขข้อมูลได้ยาก เช่น เมื่อมีธุรกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจะถูกบันทึกในบล็อกเหล่านี้แล้ว คนใดคนหนึ่งจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ได้สำเร็จ เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัว จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะมาปลอมแปลงข้อมูลในบล็อกเชนได้ง่ายๆ โดยปราศจากการรับรู้จากผู้คนส่วนใหญ่ (51% ขึ้นไปของผู้ที่อยู่ในระบบทั้งหมด)
2
พอพูดถึงคริปโทฯ 2 คำที่ตามมาคือ เหรียญ และ โทเคน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว 2 คำแตกต่างกัน เพราะ เหรียญ (Coin) กับ โทเคน (Token) คือคนละส่วน และทำงานต่างกันด้วย
4. คริปโทฯ ที่เป็น "เหรียญ" (Coin) คืออะไร ?
เหรียญ หรือ คอยน์ คือสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเครือข่ายบล็อกเชนของตนเอง มักมีบทบาทเปรียบเสมือนเงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน แต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และมีโปรเจคเพื่อพัฒนาเครือข่ายของในอนาคต
เหรียญแต่ละเหรียญจะแตกต่างกันในแง่ของขนาดเครือข่าย ปริมาณเหรียญ ประสิทธิภาพการทำงาน ยกตัวอย่างเหรียญ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), และ Dogecoin (DOGE) ฯลฯ
หน้าที่ของเหรียญ มีวัตถุประสงค์ในการใช้คล้ายกับ เงินจากโลกจริง (Physical coin) ส่วนมากถูกใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ ขณะที่ราคาของเหรียญมักจะผันผวนตามความต้องการและปริมาณเหรียญในตลาด
1
5. คริปโทฯ ที่เป็น "โทเคน" (Token) คืออะไร ?
โทเคน คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาบนเครือข่ายบล็อกเชนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ไม่มีเครือข่ายเป็นของตัวเอง ซึ่งมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป โดยโทเคน (Token) ถูกสร้างขึ้นมาโดยการเขียน สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่สร้าง dApps (Decentralized Application) หรือ DeFi (Dencetralized Finance) ซึ่งผู้สร้างสามารถเลือกเครือข่ายบล็อกเชนในการสร้างได้ด้วยตนเอง อาทิ Ethereum หรือ Binance Smart Chain เป็นต้น
1
หน้าที่ของโทเคน คือเอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้เหมือนกับเหรียญ แต่จะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตามที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ
5.1 Utility token
1
Utility token คือโทเคนที่ใช้ในลักษณะใช้ในระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ เอาไว้ใช้เฉพาะที่ที่ถูกกำหนด คล้ายกับคูปองอาหาร ที่ต้องแลกใช้ในที่ที่กำหนดเท่านั้น
5.2 Investment Token
1
Investment Token เป็นโทเคนคล้ายกับหน่วยลงทุนแล้วก็จะมีการแสดงสิทธิ์ที่จะได้รับมาหรือมีกำไรเกิดขึ้น มีผลตอบแทนส่งกลับมาให้กับคนที่ถือเหรียญ ซึ่งรายละเอียดการลงทุนจะต้องศึกษาจาก Whitepaper ให้เข้าใจก่อน ว่าโทเคนนั้นทำหน้าที่อย่างไร
ซึ่งบางเหรียญถูกออกแบบให้เป็นทั้ง Utility token และ Investment Token ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสองอย่าง
5.3 Security Token
2
Security Token คือการนำของที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริงมาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของโทเคน หรือที่เรียกว่าการ Tokenize ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หรือใช้เงินเริ่มต้นน้อยลง เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
1
5.4 NFT (Non-Fungible Token)
"NFT" คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง อยู่ในเทคโนโลยีบล็อกเชน จุดเด่นของ NFT คือ ตรงตามชื่อ คือ การเป็น "โทเคน" ที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ และจะมีชิ้นเดียวในโลกตามของสิ่งนั้นที่มีอยู่จริงๆ
NFT ในช่วงแรก นิยมนำมาใช้ในแวดวงศิลปะ โดยนำภาพวาด งานศิลปะ ประติมากรรม เพลง วิดีโอ เกม การ์ตูน ฯลฯ ที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผู้สร้างมาเปลี่ยนเป็น NFT
2
เมื่อเราได้ครอบครอง NFT ของผลงานนั้นๆ แล้ว เราสามารถซื้อขาย โอนย้ายกรรมสิทธิ์บนระบบ "บล็อกเชน" ระหว่างคนที่ต้องการซื้อและคนที่ต้องการขายแบบไม่มีคนกลาง เปิดโอกาสให้สามารถแลกเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ให้คนที่สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเจ้าของผลงานได้รับประโยชน์จากผลงานของตัวเองด้วย
5.5 Stablecoin
"Stablecoin" คือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะมีการผูกกับค่าเงินของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งสามารถคงมูลค่าไว้คงที่ได้ตลอดเวลา โดยถูกออกแบบมาให้มีมูลค่าอ้างอิงตามสินทรัพย์อื่น เช่น อ้างอิงตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา เงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ หรือตามราคาทอง ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง บิทคอยน์ หรือ อีเธอเรียม ที่ราคาและความผันผวนสูงความต้องการของตลาด
1
ตัวอย่างเหรียญ Stablecoin เช่น Tether (USDT), USD Coin (USDC), Indonesia Rupiah Token (IDRT) โดยผู้ออกเหรียญไม่ว่าจะเป็นบริษัท ธนาคาร หรือรัฐบาล ควรจะถือเงินจำนวนเดียวกันไว้ในธนาคาร หรือบัญชีที่เชื่อถือได้ ซึ่ง Stablecoin สามาถซื้อได้จากแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล โดยสามารถซื้อได้แบบเดียวกับที่คุณซื้อสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ
จะเห็นได้ว่า คริปโทฯ มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายคุณสมบัติ ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถสร้าง "รายได้" เข้ากระเป๋า และด้วยความนิยมสร้างรายได้จากคริปโทฯ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีส่วนในการกำกับดูแลต้องออกโรงทั้งในด้านกฎหมาย ไปจนถึงการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้ว คริปโทฯ จะยังมีบทบาทในฐานะ "ทางเลือก" ของนักลงทุนไทยต่อไปอย่างไร
อ้างอิง: ก.ล.ต., SEC, Bitkub, Zipmex, กรุงเทพธุรกิจ
โฆษณา