ศึกสายเลือด ‘ป้อม’ ถอยดีกว่า - ‘ตู่’ อย่ายอมแพ้
.
‘ผู้ชนะ’ คือผู้กำหนดเกม
.
และผู้กำหนดเกมการเมืองเวลานี้คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งพลิกตำราปราบเซียนด้วยการขอมติพรรคพลังประชารัฐ ขับ ร.อ. ธรรมนัส และชาวคณะรวม 21 คนออกจากพรรค
.
ผลคือสถานะ ส.ส. ยังคงอยู่ แต่อำนาจต่อรองมีมากขึ้น จากเดิมที่อยู่ในพรรคก็ต่อรองตำแหน่งอะไรไม่ได้ แต่การแยกไปตั้งพรรคใหม่เกมเปลี่ยนทันที เพราะจะกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางที่มี ส.ส. มากกว่าพรรคชาติไทยพัฒนาด้วยซ้ำ แถมยังทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลง่อนแง่นกลับมาเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอีกครั้ง ซึ่งทำให้อำนาจต่อรองของกลุ่ม ร.อ. ธรรมนัสก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และรวมถึงตัว พล.อ. ประวิตรด้วย
.
ในขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลพรรคเริ่มพลิกเกมด้วยการสร้างเกมใหม่ สร้างอุปสรรคเพื่อดึงยื้อมติขับ ‘ธรรมนัส’ พ้นพรรคให้ยาวนานออกไป พร้อมเปิดเกม ‘ดูดกลับ’
.
แม้เกมจะดำเนินไป แต่ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงรอยร้าวระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร
.
เหมือนร้องเพลงคนละเพลง
คนหนึ่งร้องเพลง ‘อย่ายอมแพ้’
อีกคนกลับครวญเพลง ‘ถอยดีกว่า’
.
ถ้าปัญหานี้ยังไม่ยุติ ไม่สามารถหาสมดุลแห่งอำนาจได้ลงตัว เสถียรภาพของรัฐบาลก็จะลุ่มๆ ดอนๆ พร้อมจะล้มตลอดเวลา
.
และหากลากยาวถึงการเปิดสภาสมัยหน้าในเดือนพฤษภาคม ซึ่งฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และล็อกอำนาจไม่ให้นายกฯ ยุบสภา
พล.อ. ประยุทธ์จะเดินเข้าสู่แดนประหารอย่างแท้จริง