24 ม.ค. 2022 เวลา 14:52 • กีฬา
ไพ่นกกระจอกพัฒนาสมอง
ทุกท่านรู้จัก ไพ่นกกระจอกกันรึเปล่า มันเป็นเกมมาจาประเทศจีน มีชื่อว่า มาจอง (Mahjong) และมีภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า มาจัง (麻雀)ความหมายมาจาก นกกระจอก เลย เดี๋ยวจะเล่าทีหลังว่า ทำไมเป็นเจ้าตัวนกกระจอกนี้
ปล. ไพ่นกกระจอก นี่ ผมจะขอยกวิธีการเล่นและกติกา ตามแบบฉบับแบบญี่ปุ่น ซึ่งผมเข้าใจมากกว่าแบบจีน (จริงๆ มีแบบอเมริกาด้วยนะ) นะครับ
แน่นอนว่า พอได้คำว่า “ไพ่” มันต้องเป็น “การพนัน”, “ต้องมีสำรับ”, “ต้องมีซ้ำ 4 แบบ”, “ต้องเล่นกันเยอะๆ” เป็นต้น ซึ่งถูกต้องในส่วนใหญ่เลยครับ มันไม่ต่างจากไพ่สากลเท่าไหร่นัก แค่รูปแบบวิธีเล่นเฉพาะตัว และจำเป็นต้องเล่น 4 คน ถึงจะสนุก (จริงๆมีรูปแบบเล่น 2-3 คน แต่ไม่สนุกเท่า 4 คน มันมีเหตุผลของมันอยู่)
วิธีเล่นแบบคร่าวๆ คือ เริ่มต้นในมือเราต้องมี 13 ใบตลอด เมื่อถึงตาเราต้องจั่วจากกองที่เรียงไว้ ให้เป็น 14 ใบ จากนั้นเลือกทิ้ง 1 ใบที่ไม่จำเป็น จากนั้นคนถัดไปจะเป็นคนเล่นต่อ หลักการ คือ เราต้องรวบรวมไพ่หน้าซ้ำกัน 3 ตัวหรือได้ตัวเลขเรียงกัน 3 จำนวน ( เช่น 123, 678 ) ให้ได้ 4 ชุด กับไพ่หน้าเหมือน 1 คู่ แต่ในมือเรา จะมีแค่ 13 ใบ มันจะขาด 1 ใบ จะครบ 14 ใบเพื่อให้เป็น 4 ชุด กับ 1 คู่ (3x4 + 1+1) ดังนั้นไพ่ในมือจะครบชุดได้ ต้องจั่วให้ได้เอง หรืออีกวิธีคือ รอไพ่ที่ผู้เล่นอื่นทิ้งมา นั้นคือไพ่ที่เราต้องการให้ครบชุด นั้นเอง พูดง่ายๆ คือ เป็นเกมที่จัดชุดไพ่ในมือให้ครบ 4 ชุด กับ 1 คู่ รวม 14 ใบ แต่ต้องทิ้ง 1 ใบทุกครั้ง ถ้าจั่วได้ครบเองก็ชนะ แต่ถ้าทิ้งให้เขาต้องการ คนนั้นจะชนะแทน
แล้วทำไมต้องมี 1 คู่ล่ะ ทำไมไม่ทำเป็นชุดเหมือนกันให้หมด เขาบอกว่า 1 คู่ เปรียบเสมือน หัวของนก ส่วนชุดคือ ที่ต้องมี 3 ใบ ไม่ว่าจะเป็นแบบไพ่ตอง 3 ใบ หรือ เรียงเลข 3 ตัว มันคือส่วนประกอบของตัวนก คือ ปีก ลำตัว และ หาง นั้นเอง
ขอเล่าย้อนกลับมา ทำไมต้องเล่น 4 คน ถึงจะสนุก เพราะไพ่และที่นั่งของผู้เล่นมี “ทิศทั้ง 4” อยู่ครับ คือ ทิศเหนือ ใต้ ออก ตก โดยเขาจะให้ทิศตะวันออกเป็นทิศหลักเพราะว่าเป็นทิศที่ดวงตะวันขึ้น ซึ่งทิศมีผลต่อการเก็บชุดให้ได้คะแนนด้วย แล้วเปรียบเสมือนทิศที่มีอยู่จริง และมองได้ว่า ศัตรูสามารถมาได้ทุกทิศทาง เราต้องระวังทุกทิศ ซึ่งหมายถึง ผู้เล่นคนอื่นๆ ที่พร้อมเป็นศัตรูกับเราได้ทุกเวลา (หรือเป็นมิตรได้ในบางโอกาส)
ถ้าอ่านแล้วดูเหมือนยาก ใช่ครับ มันยาก แต่มันมีรูปแบบของมันอยู่ ซึ่งมาจากหลักการทางคณิตศาสตร์เลย (ไพ่ที่มีจำนวนจำกัด จำนวนตัวเลขเรียงชุด) ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมาความยาก-ง่ายในการเก็บให้เข้าชุด เพราะคุณต้องจั่วเพื่อให้ได้ไพ่ที่ต้องการให้เข้าชุด และต้องทิ้งไพ่ที่ไม่เข้าชุดเลย รูปแบบไหนยิ่งง่าย แต้มที่ได้ก็จะง่าย รูปแบบไหนทำยาก แต้มก็จะสูง ซึ่งเราสามารถผสมรูปแบบได้อีก จะทำให้ได้คะแนนสูงตามไปด้วย ซึ่งคะแนนได้มาจากผู้เล่นกันเองนี่แหล่ะ
คำถามต่อมาคือ แล้วไพ่นี้ ช่วยพัฒนาสมองอย่างไร มันต่างจากไพ่อื่นแบบไหน อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น มันมีรูปแบบจัดชุดที่ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ และต้องเล่นถึง 4 คน ถึงจะสนุก ไพ่หน้าเดียวกัน จะมีซ้ำแค่ 4 ใบ หมายความว่า ไพ่หน้าเดียว อาจจะเฉลี่ยเก็บไว้คนละ 1 ใบ หรือ มีคนเก็บไว้ 2 ใบ เพื่อให้ได้คู่ หรือ มีครบแล้ว 3 ใบ แล้วการที่ต้องเป็นชุด การที่ไพ่หน้าเดียวแค่เหลือ 1 ใบ อาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับบางคนก็ได้
ส่วนรูปแบบจะมีการกำหนดไว้ตายตัว แต่ยืดหยุ่นได้ ( เช่น ไพ่ชุดเรียง อาจจะเรียงเป็น 123 หรือ 234 หรือ 567 ได้ แต่ไม่สามรถเรียงเป็น 135 ได้ เป็นต้น) แน่นอนว่า มีความยาก-ง่ายต่างกันไป ซึ่งผู้เล่นต้องจำพื้นฐานของรูปแบบให้ได้ก่อน และรูปแบบที่ว่า สามารถผสมกันได้ ไม่ว่าจะรูปแบบที่ยากหรือง่าย ถ้าเปรียบเทียบกับเกมต่อสู้ ท่าไหนกดง่าย จะกดได้เร็วแต่สร้างความเสียหายได้เบา แต่ถ้ากดได้อย่างต่อเนื่อง ต่อให้เบาก็สร้างสร้างความเสียหายให้กับอีกฝ่ายได้มาก แต่ไม่ใช่ว่าท่าที่กดได้ยากจะกดต่อเนื่องกับท่าที่กดง่ายไม่ได้ เพียงแค่ว่ามันกดยาก กดช้าแต่มันก็สร้างความเสียหายได้มากกว่าท่าที่กดง่าย เท่านั้น ก็เหมือนกับคุณต้องจำให้ได้ว่า ตัวละครนี้ ท่าไม้ตายต้องกดแบบนี้ ผสมเป็นคอมโบ แบบนี้ หลักการก็คล้ายกัน
จำนวนไพ่ และหน้าไพ่
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ไพ่ใบไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น วิธีการ คือ “ดูจากไพ่ที่อีกฝ่ายทิ้งมา” ครับ แต่ละคนต้องทิ้งไพ่ที่ไม่ต้องการ 1 ใบ และต้องเรียงการทิ้งตามลำดับด้วย (เรียงจากซ้ายไปขวา) คนที่เป็นในระดับหนึ่ง เขาจะมองจากไพ่กองทิ้งแล้ววิเคราะห์ได้ว่า ชุดไหนที่เขาไม่ต้องการ เขาเก็บชุดไหนไว้ เขาต้องทิ้งไพ่ที่เราต้องการมาแน่ เขาถึงมีคำเรียกว่า “ทิ้งโง่” หรือ “ดักกิน” ในเกมนี้ด้วย และจำนวนที่เหลือ ก็เป็นส่วนหนึ่งของคณิตศาสตร์เหมือนกันว่า มีโอกาสอีกเท่าไหร่ที่จะออกมา นั้นเอง
หลายคนคงบอก “ไม่เก่งคณิตศาสตร์” คือ สิ่งที่ยากคือการจำพื้นฐาน หรือ รูปแบบการเล่น ให้ได้ก่อน เหมือนคนต้องจำหลักว่า บวก ลบ คูณ หาร มีหน้าที่ต่างกัน แต่ไม่ต้องจำ ค่ายกกำลัง สแควร์รูท เพราะมันไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันขนาดนั้น
พอเราจำพื้นฐาน 4ชุดกับ 1 คู่ และต้องมีรูปแบบที่กฎของเกมได้มีไว้ เพื่อจบเกม ได้แล้ว รูปแบบที่ว่านั้นแหล่ะมันจะเชื่อมโยงเข้าหากันเองอย่างอัตโนมัติ เพราะมันผสมได้ (แต่ก็มีห้ามผสมรูปแบบเฉพาะเพราะง่ายเกินไปก็มี) จุดนี้แหล่ะจะทำให้สมองเราประมวลผลออกมาตลอดเวลา ด้วยเรื่องของไพ่ในในมือที่มีสามารถสร้างรูปแบบอะไรได้บ้าง ไพ่ที่ออกมาแล้วมีอะไรบ้าง น่าจะเหลือเท่าไหร่ อีกฝ่ายทิ้งใบนั้นมาแสดงว่าเขาน่าจะสะสมรูปแบบนั้นไว้ คือ ไม่ใช่คิดถึงแต่เราคนเดียว แต่ต้องคิดถึง 3 คนที่เป็นคู่แข่งของเราด้วย เมื่อคนเล่นจนชำนาญพอก็จะนำไปสู่วิธีการเล่นพลิกแพลงได้อย่าง ยอมเสียแต้มน้อยเพื่อไม่ให้เสียมากกว่านี้เพื่อไปเอาคืนใหม่รอบหน้า ยอมกั๊กไพ่ให้เสมอทุกคนดีกว่าให้คนอื่นชนะ รวมถึงการวางกับดักจากไพ่ที่เราทิ้งเองอีกด้วย
เกมที่ใช้รูปแบบและหลักทางคณิตศาสตร์เยอะขนาดนี้ เป็นที่นิยมทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาก ประเทศญี่ปุ่นเองถึงกับมีสอนอบรม มีเป็นโรงเรียนสอนเลยทีเดียว เมื่อเราไม่ได้มองว่า คำว่า “ไพ่” คือ การพนันแล้ว มันก็คือเกมฝึกทักษะอย่างหนึ่ง ที่ไปถึงระดับมีการแข่งเป็นระดับมืออาชีพเลยทีเดียว และเงินรางวัลที่ได้ก็เยอะพอที่จะเลี้ยงชีพได้เลย
แม้แต่เด็กยังสนใจ
มีทั้งแข่งเป็นทีม และผู้เล่นเดี่ยว เงินรางวัลสูงมาก
ผมอยากฝากเกมแบบนี้ไว้ เผื่อใครสนใจเกมรูปแบบที่เน้นการคำนวณ เล่นกี่ครั้งก็จะไม่ซ้ำเดิม แม้แต่ระดับผู้สูงวัยก็ยังเล่นกัน เพราะเป็นเกมที่ได้เจอเพื่อนๆ ได้พัฒนาสมองไม่ให้แกไปตามวัยได้
ปล. ไอ้ที่เล่นจับคู่ที่น่าจะเคยเห็นเป็นเกมในมือถือนั้น คนละแบบกันนะครับ
ปล.2 อย่าคิดว่า ไพ่ ทุกชนิดต้องเป็นการพนัน ทุกอย่างสามารถเป็นการพนันได้หมดครับ แต่ถ้าเราคิดว่ามันเป็นแค่เกม เป็นกีฬา อย่าง “บริดจ์” เป็นเกมที่ใช้ไพ่สำรับที่เห็นกันทั่วไปแต่นำมาใช้เป็นกีฬาการแข่งขันได้ หรือถ้าคุณยังมองว่ามันเป็นการพนันอยู่ เช่น โป๊กเกอร์ แต่ทำไมเขาสามารถนำการพนันนี้มาใช้เป็นเกมแข่งขันระดับโลกได้ เพราะมันมีประโยชน์พอที่เป็นมากกว่าแค่การพนันไง
โฆษณา