24 ม.ค. 2022 เวลา 15:06 • ธุรกิจ
ในการทำงานร่วมกันย่อมต้องมี #ความขัดแย้ง เกิดขึ้นแม้ว่าหลายคนอาจจะไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเลยก็ตาม แต่จริงๆ แล้วความขัดแย้งคืออะไร แล้วมันเป็นผลเสียกับองค์กรจริงหรือไม่ เราจะมาเรียนรู้ไปด้วยกัน #ConflictManagement
เริ่มจากความหมายของความขัดแย้งกันก่อน Edward De Bono ยอดนักคิดชื่อดังระดับโลกได้ให้ความหมายของความขัดแย้งไว้ว่า “ความขัดแย้ง คือ การปะทะกันของผลประโยชน์ คุณค่าที่ยึดถือ การกระทำ มุมมอง หรือทิศทาง โดยทั่วไปมักจะมีผลประโยชน์ที่หลากหลายและมุมมองที่แตกต่างซ่อนอยู่ข้างหลังความขัดแย้งนั้น ซึ่งเกิดจากการที่แต่ละคนมองปัญหาจากมุมมองของตัวเองเพียงด้านเดียว”
หรือถ้าจะสรุปให้สั้นขึ้นก็คือ “ความขัดแย้ง คือ การปะทะกันของความแตกต่าง ซึ่งเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างมองเพียงด้านเดียว”
ฟังแบบนี้แล้ว เราจะเห็นว่าความขัดแย้งมีประโยชน์นะ เพราะที่ใดที่มีความขัดแย้ง แสดงว่าที่นั่นมีมุมมองที่หลากหลายแตกต่างกันอยู่ และมุมมองที่หลากหลายนี่แหละคือแหล่งที่มาของไอเดียสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมต่างๆ ได้มากมาย
หากเราพิจารณาความขัดแย้งโดยใช้ตัวแปรหลัก 2 ตัวแปร ได้แก่ ความรุนแรงของความขัดแย้ง และความสามารถในการควบคุมหรือจัดการกับความขัดแย้ง เราจะสามารถระบุผลลัพธ์ของความขัดแย้งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
(1) ความขัดแย้งต่ำ และควบคุมได้
นี่เป็นสถานการณ์ที่ผู้นำจำนวนมากอยากให้เกิดขึ้น เพราะผลลัพธ์ของมันคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
(2) ความขัดแย้งต่ำ แต่ควบคุมไม่ได้
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ความขุ่นข้องหมองใจกันเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ เป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ ที่บนผิวน้ำอาจดูเหมือนสงบนิ่งดีแต่จริงๆ แล้วถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจสะสมพลังจนกลายเป็นความรุนแรงกว่าที่เราคาดคิดได้
(3) ความขัดแย้งสูง และควบคุมไม่ได้
นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นที่สุดและผู้นำไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นเลย เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ความปั่นป่วนวุ่นวายและการแตกแยก
(4) ความขัดแย้งสูง แต่ควบคุมได้
หรือที่เรามักเรียกกันว่า การจัดการความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ เป็นการกระตุ้นให้คนคิดต่างไปจากเดิมและกล้าแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้นำทุกคนควรพยายามทำให้เกิดมากที่สุด คือ โอกาสในการเกิดขึ้นของไอเดียใหม่ๆ ที่จะเข้ามาพัฒนาต่อยอดหรือแทนที่การทำงานรูปแบบเดิมๆ หรือผลิตภัณฑ์และบริการแบบเดิมๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรม และทำให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดขององค์กร
แน่นอนว่าถ้าดูเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า ผลลัพธ์แบบที่สี่คือผลลัพธ์ที่ทุกคนต้องการมากที่สุด แต่ในทางปฏิบัตินั้น หลายคนกลับเลือกพยายามทำให้องค์กรเป็นแบบแรกคือ ไม่มีความขัดแย้งเลย แล้วก็แอบหวังลึกๆ ในใจว่า จะสามารถหาวิธีอื่นในการทำให้องค์กรเติบโตแบบก้าวกระโดดได้แทน ซึ่งความหวังนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริง
ในความเป็นจริงนั้น สังคมที่ไม่มีความขัดแย้งเลย อาจดูเหมือนสงบสุข แต่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับความสงบสุข คือ มันทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นสังคมที่กดความขัดแย้งเอาไว้โดยใช้อำนาจบางอย่าง เช่น ตำแหน่งหน้าที่ หรือความอาวุโส จึงมักจะเป็นสังคมที่เติบโตก้าวหน้าได้อย่างเชื่องช้า ต่างกับสังคมที่เปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นก็ตาม แต่แทนที่จะใช้พลังไปกับการทำให้ความขัดแย้งหมดไป พวกเขาจะใช้พลังไปกับการทำให้ความขัดแย้งออกมาในเชิงสร้างสรรค์มากกว่า
และเมื่อทำได้ไปสักระยะหนึ่ง การแสดงความคิดเห็นในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลายเชิงสร้างสรรค์ก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร แล้วในที่สุดสังคมนั้นก็จะเติบโตแบบก้าวกระโดดสู่เป้าหมายได้อย่างที่ใจต้องการ
บทความโดย โค้ชกาย ฐิติกร พูลภัทรชีวิน
#DoYourWillAcademy #โค้ชกาย #การบริหารความขัดแย้ง
โฆษณา