24 ม.ค. 2022 เวลา 15:06 • ประวัติศาสตร์
เกร็ดสงครามโลก : ตอน เปาลุส จอมพลผู้น่าสงสารแห่งกองทัพเยอรมัน
ถ้าพูดถึงแม่ทัพในกองทัพเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็มักจะนึกถึงแม่ทัพที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ คน เช่น Erich von Manstein แม่ทัพที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2, Heinz Guderian บิดาแห่งการรบแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ที่เป็นต้นแบบของการรบสมัยใหม่ หรือ Erwin Rommel จิ้งจอกทะเลทรายผู้โด่งดัง
แต่ถ้าพูดถึง Friedrich Paulus (หลังจากนี้ผมจะขอเรียกว่าเปาลุสเฉย ๆ นะครับ) ผู้คนมักจะจดจำเขาว่าเป็นแม่ทัพที่นำพากองทัพเยอรมันไปพ่ายแพ้อย่างยับเยินที่สตาลินกราด และเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของอาณาจักรไรซ์ที่สาม หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่จดจำเปาลุสในฐานะ Sore loser (ไม่รู้จะแปลยังไงดี) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี เรื่องราวของนายพลคนนี้มีอะไรที่เราอาจจะยังไม่รู้ที่น่าสนใจ ประจวบกับวันนี้ครบรอบเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี เลยอยากหยิบเอาเรื่องของนายพลคนนี้มาเล่าให้ฟังครับ
เปาลุสมีความฝันอยากเป็นทหารเรือมาตั้งแต่เด็ก เขาพยายามมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าโรงเรียนนายเรือเยอรมัน (Marineakademie) แต่พยายามอยู่หลายรอบก็สอบเข้าไม่สำเร็จ เขาเลยถอดใจเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย Marburg ตามความต้องการของพ่อแม่ แต่ด้วยความที่เลือดทหารมันเข้มข้น เรียนอยู่ได้ไม่นานเขาก็ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วมาสมัครเป็นทหารบก (คือเป็นทหารเรือไม่ได้ก็ขอเป็นทหารเหล่าไหนได้ก็ยังดี) และหลังจากนั้นไม่กี่ปี สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ประทุขึ้นมาพอดี เปาลุสจึงได้เป็นทหารสมใจ และเติบใหญ่ในอาชีพการงานเป็นอย่างดี ทั้งนี้เป็นเพราะเขาได้ทำงานตามที่เขาต้องการนั่นเอง
1
เปาลุสเป็นทหารเรื่อยมาจนถึงสมัยที่นาซีเรืองอำนาจ ตอนนั้นแนวคิดการใช้กองพันทหารราบยานยนต์ (Motorized battalion) เพิ่งถูกคิดค้นขึ้น เปาลุสมองว่าแนวทางการรบแบบใหม่นี้จะทำให้เขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ เขาจึงได้เข้าร่วมคณะเสนาธิการของกองกำลังยานเกราะซึ่งมีนายพลกูเดอเรียนอยู่ในคณะด้วย เขาจึงได้ซึมซับความรู้ กลยุทธ และประสบการณ์ในการรบด้วยยานเกราะอย่างเต็มที่
พอมาถึงปี 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 ประทุขึ้น เปาลุสได้คุมกองพันยานเกราะภายใต้กองทัพที่ 6 ในหลาย ๆ สมรภูมิ ทั้งที่โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และได้สร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ เขาได้รับการเลื่อนขั้นจากร้อยเอกขึ้นมาเป็นพลโทในเวลาอันรวดเร็ว
ต่อมาในปี 1941 ฮิตเลอร์ตัดสินใจหักหลังโซเวียตและเริ่มปฏิบัติการบาบารอสซา เปาลุสซึ่งก็ยังคุมกองพันยานเกราะอยู่ในสังกัดกองทัพที่ 6 ก็ต้องเข้าร่วมการบุกโซเวียตด้วยโดยกองทัพที่ 6 ที่เขาอยู่รับผิดชอบการโจมตีทัพใต้ (ในยุทธการบาบารอสซา เยอรมันแบ่งการโจมตีโซเวียตออกเป็นสามส่วน - ทางเหนือโจมตีเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน) ทัพกลางโจมตีมอสโค ทัพใต้โจมตีแถบคอเคซัสเพื่อยึดทรัพยากร)
การบุกในช่วงแรกเป็นไปได้อย่างราบรื่น ในช่วงเวลานั้นกองทัพเยอรมันถือว่าเป็นกองทัพที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดในโลกไม่มีใครสามารถหยุดยั้งพวกเขาได้ ซึ่งทุกคนก็ปักใจเชื่ออย่างนั้น รวมไปถึงฮิตเลอร์ผู้นำของเยอรมัน ซึ่งตรงนี้แหละจะเป็นสิ่งที่นำพาพวกเขาไปสู่หายนะในเวลาต่อมาอีกไม่นาน
เมื่อผ่านมาถึงต้นปี 1942 แม่ทัพกองทัพที่ 6 อย่าง Walter von Reichenau เกิดประสบอุบัติเหตุระหว่างวิ่งออกกำลังกาย (ซึ่งภายหลังทราบว่าเป็น Stroke และเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ระหว่างบินกลับมารักษาตัวที่เยอรมันหัวเกิดกระแทกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา) จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวแม่ทัพ แม่ทัพไรค์เคอเนาแนะนำเปาลุสให้กับฮิตเลอร์ ซึ่งฮิตเลอร์ก็ไม่ลังเลที่จะแต่งตั้งให้เขาเป็นพลเอกและรับตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 6 คนใหม่ ซึ่งงานนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเปาลุส เพราะตลอดชีวิตของเขาได้คุมมากที่สุดก็แค่กองพัน แต่ตอนนั้นฮิตเลอร์มองว่าจะใช้ใครก็ได้ไม่ต่างกันอย่างไรแผนการบุกก็ต้องประสบความสำเร็จอยู่แล้ว
การบุกของกองทัพที่ 6 เป็นไปได้อย่างดี สามารถเข้ายึดเมืองสตาลินกราดได้ตามเป้าหมาย แต่การยึดเมืองนั้นกลับไม่สามารถควบคุมเมืองได้อย่างเด็ดขาด ประชาชนที่อยู่ในเมืองสตาลินกราดพร้อมใจกับต่อสู้ขัดขวางกองทัพเยอรมันทุกวิถีทางที่พวกเขาจะทำได้ แถมกองทัพแดงได้เปลี่ยนยุทธวิถีในการรบเป็นการสู้แบบกองโจร (สามารถดูจากเรื่อง Enemy at the gate ประกอบได้) ซึ่งค่อย ๆ สร้างความเสียหายให้กองทัพที่ 6 อย่างช้า ๆ
จนกระทั่งปลายปี 1942 ตอนนั้นฤดูหนาวอันโหดร้ายได้เริ่มเล่นงานกองทัพของเยอรมันพอสมควรแล้ว ทางโซเวียตก็มีการเปลี่ยนแม่ทัพในการรบที่สตาลินกราดเป็น Georgy Zhukov แม่ทัพที่เก่งที่สุดของกองทัพแดง (และกล่าวกันว่าซูคอฟเป็นแม่ทัพที่ชำนาญกลวิธีตั้งรับมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง) เมื่อเห็นโอกาสเหมาะ ซูคอฟจึงสั่งเริ่มปฏิบัติการ Uranus โอบล้อมกองทัพที่ 6 ให้ติดอยู่ในเมืองสตาลินกราด ทหารเยอรมันกว่า 280000 ตกอยู่ในวงล้อมของกองทัพแดงแทบจะทันที
เปาลุสได้พยายามติดต่อไปยังเบอร์ลินหลายต่อหลาย ๆ ครั้ง ทั้งการขอยุทธปัจจัยเพิ่มเติม ทั้งการขอสละเมืองสตาลินกราดเพื่อตีฝ่าไปสมทบกับทัพใต้ (ซึ่งนายพลแมนสไตน์ก็อยู่ใกล้ ๆ นั้นและพร้อมตีฝ่ามาสมทบ) แต่คำร้องขอทั้งหมดถูกปฏิเสธมาจากเบอร์ลิน กองทัพที่ 6 จึงต้องยืนหยัดต่อสู้ต่อไปตามยถากรรม
เปาลุสพยายามรักษาเมืองสตาลินกราดเอาไว้อย่างเต็มความสามารถ จนในที่สุดเขาคิดว่ากองทัพของเขาไม่สามารถต้านทานต่อไปได้ไหวอีกแล้ว วันที่ 24 มกราคม 1943 หรือวันนี้เมื่อ 79 ปีที่แล้ว เปาลุสจึงส่งโทรเลขไปยังเบอร์ลิน เป็นข้อความสั้น ๆ แต่เป็นที่เล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้ว่า "Let us surrender" หรือปล่อยให้พวกเรา กองทัพที่ 6 ยอมแพ้เถอะ
ข้อความนี้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก กองทัพอันเกรียงไกรที่ไม่มีทางแพ้อย่างกองทัพเยอรมันกำลังจะประกาศขอยอมแพ้เป็นครั้งแรก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และแน่นอน เป็นเรื่องที่ฮิตเลอร์ยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาดเพราะมันจะทำให้ชื่อเสียงของกองทัพเยอรมันต้องเสื่อมเสีย และยิ่งทำให้ขวัญกำลังใจของกองทัพแดงกลับมาดียิ่งขึ้นไปอีก ฮิตเลอร์จึงโทรเลขกลับไปหาเปาลุสว่า “The 6th Army will hold its positions to the last man and the last round.” หรือ กองทัพที่ 6 จะต้องรักษาที่มั่นเอาไว้จนกว่าจะสิ้นทหารคนสุดท้ายและกระสุนนัดสุดท้าย และโทรเลขนี้ยังแนบคำสั่งแต่งตั้งให้เปาลุสเป็น Field Marshall หรือจอมพลคนใหม่ของกองทัพเยอรมัน
ซึ่งการแต่งตั้งนี้ไม่ได้เป็นเพราะเปาลุสทำหน้าที่ได้ดีหรอกครับ แต่ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเยอรมัน ไม่เคยมีจอมพลคนไหนยอมแพ้ต่อข้าศึก นั่นคือ คำสั่งแต่งตั้งนี้เป็นการบอกให้เปาลุสยอมสู้จนตัวตายนั่นแหละ
แม้ว่าเปาลุสจะมีเลือดทหารอย่างเข้มข้น แต่เขาก็รู้ดีว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ คำสั่งไหนควรปฏิบัติตาม และคำสั่งไหนควรปฏิเสธ เขามองว่าชีวิตของลูกน้องเขาที่เหลือมีค่ามากกว่าที่จะเอาไปเสียสละอย่างไรค่าให้คนบ้าคนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 31 มกราคม 1943 เปาลุสจึงพาทหารในกองทัพที่ 6 ที่เหลืออยู่ราว 91000 คนยอมแพ้ให้แก่กองทัพแดง ยุติบทบาทในการเป็นจอมพลของเปาลุสอยู่ที่ 2 วันถ้วน (คำสั่งแต่งตั้งเป็นจอมพลมาถึงเปาลุสวันที่ 29 มกราคม)
ในตอนที่เปาลุสมอบตัวกับกองทัพแดง ทางฝั่งโซเวียตได้ถามเปาลุสว่าทำไมเขาไม่สู้จนตัวตาย หรือยอมปลิดชีพให้สมเกียรติจอมพล เปาลุสตอบสั้น ๆ ว่า "ผมจะไม่ยอมยิงตัวตายเพื่อเจ้าสิบโทคนนั้นหรอก" (หมายถึงฮิตเลอร์) ซึ่งหลังจากถูกจับได้ เปาลุสเตรียมใจเอาไว้ว่าจะต้องถูกประหารแน่นอน เขาถึงกับฝากแหวนแต่งงานกลับไปให้ภรรยาของเขาที่เยอรมันเอาไว้ดูต่างหน้าแล้ว แต่ฝั่งโซเวียตก็ไม่ได้ฆ่าเขาเพราะต้องการเก็บเขาเอาไว้ใช้ประโยชน์ทางการเมืองโดยคาดหวังจะให้เขาเข้าร่วมคณะต่อต้านนาซี แต่ด้วยเกียรติของทหารเขาก็ปฏิเสธ เขาจึงถูกกักขังหลังจากนั้นเรื่อยมา
เขาถูกโซเวียตจับตัวเอาไว้จนถึงปี 1949 ถึงจะได้รับการปล่อยตัวออกมาอยู่ที่เยอรมันตะวันออก แต่เขาก็ต้องพบข่าวร้ายว่าภรรยาของเขาได้เสียชีวิตไปในระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่ เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังอีกราว 8 ปีเขาจึงเสียชีวิต สิ้นสุดชีวิตของจอมพลที่น่าสงสารที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์
แม้ว่าคนจะจดจำเปาลุสในแง่ของการเป็น Sore loser ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของเยอรมัน แต่ในการเป็น Loser นั้นเขาก็ยังแสดงความกล้าหาญออกมาให้เห็น เขายอมที่จะขัดคำสั่งที่ดูไม่มีทางเป็นไปได้เพื่อปกป้องชีวิตของลูกน้อง เขารู้ว่าการมอบตัวกับศัตรูอาจทำให้เขาต้องเสียชีวิต แต่หากมันเป็นชีวิตของเขาเพียงคนเดียว มันก็ยังดีกว่าที่ลูกน้องของเขาอีกหลายหมื่นชีวิตต้องเสียไปอย่างไรค่าเพื่ออัตตาอันไร้สติของคนเพียงคนเดียว ซึ่งการตัดสินใจนี้ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า จอมพลที่หลายคนมองว่าเป็นพวกขี้แพ้คนนี้ก็ยังมีสิ่งที่น่านับถืออยู่
1
แม้เราจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่ามากแค่ไหน จงกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูก เมื่อนั้นผู้คนอาจจะหันมาสรรเสริญเราก็ได้
โฆษณา