25 ม.ค. 2022 เวลา 10:21 • การศึกษา
“หน้าตาดี ทำอะไรก็ไม่ผิด !?!”
ขณะที่อุบัติเหตุสะเทือนใจบนท้องถนนกำลังเป็นที่สนใจ
และแน่นอนว่าสังคมบางส่วนก็หันไปให้ความสนใจไปที่การปรับปรุงระบบจราจรของเราให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นซึ่งเป็นกระแสที่ดี และหวัง (แบบมองโลกในแง่ดี) ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในเร็ววัน
แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็รู้สึกกระอักกระอ่วนกับความคิดจำนวนหนึ่งที่เห็นอกเห็นใจผู้ก่อเหตุ มองว่า “คนขับหน้าตาดีให้อภัยได้”
ซึ่งหลายคนรู้สึกถึงการไม่ให้เกียรติผู้สูญเสีย และตั้งคำถามถึงที่มาแนวความคิดแบบนี้ ผมจึงอยากจะหยิบยกปรากฏการณ์ส่วนนี้ขึ้นมาทำความเข้าใจร่วมกัน
มนุษย์เรานั้นมีอคติทางความคิดอย่างหนึ่ง เรียกว่า Attractive halo effect บางครั้งก็เรียกว่า Attractiveness bias (และอีกหลายชื่อ เช่น petty/ handsome privilege)
มันเป็นอคติทางความคิดอย่างหนึ่งที่พบได้แพร่หลาย ปกติแล้ว halo (วงแหวนบนหัวเทวดา) effect จะหมายถึง การที่เรามักสรุปเอาเองว่า หากเขามีคุณลักษณะบางอย่างที่ดี คุณลักษณะอย่างอื่นก็น่าจะดีไปด้วย
เช่น คนนี้รักสัตว์ เขาน่าจะเป็นคนที่จิตใจดี หรือ คนนี้ชอบให้เงินคนยากไร้ เขาน่าจะเป็นคนซื่อสัตย์ เป็นข้อสรุปเชื่อมโยงโดยไม่ได้มีข้อมูลใดๆ มารองรับ
เมื่อ halo รวมเข้ากับความน่าดึงดูด Attractive halo effect จึงหมายถึงคุณลักษณะภายนอกที่น่าดึงดูด ส่งผลให้เขาเหล่านั้นถูกมองว่าน่าจะมีคุณลักษณะที่ดีอื่นๆด้วย
เช่น ความรู้ความสามารถ ความอบอุ่นเป็นมิตร รวมไปถึงเรื่องศีลธรรม
อธิบายง่ายๆคือ “คนที่หน้าตาดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”
งานศึกษาเรื่องนี้ย้อนไปตั้งแต่ 1920 ของนักจิตวิทยา Edward Thorndike ส่วนใครอยากได้แบบเข้าใจง่ายๆผสมความบันเทิงในเน็ตฟลิกซ์ก็มีซีรี่ย์ 100 human ให้ดูเช่นกัน
เพื่อให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ การตัวอย่างการทดลองของ 100 human ดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก
ในการทดลองนั้นหลังจากผู้คนได้เห็นภาพหน้าตรงพร้อมคำบรรยายเรื่องของผู้กระทำความผิด
ผู้คนมองว่าคนกระทำความผิดที่หน้าตาดี น่าจะทำไปด้วยความไม่ตั้งใจ พวกเขาคงเสียใจและสำนึกกับสิ่งที่เกิดขึ้น แถมยังส่งผลไปถึงความเห็นอกเห็นใจ และการลงกำหนดบทลงโทษที่เบากว่า
เมื่อเทียบกับการกระทำความผิดแบบเดียวกันคนกระทำความผิดที่หน้าตาไม่ดีถูกมองในทิศทางตรงกันข้ามว่า จงใจกระทำความผิด ไม่สำนึก ไม่น่าเห็นใจและแน่นอนว่าสมควรรับโทษอย่างเต็มที่ให้สาสมกับสิ่งที่พวกเขาทำ
(แน่นอนว่าภาพทั้งหมดที่ใช้ในการทดลองนี้เป็นนักแสดงและเรื่องการกระทำความผิดทั้งหมดนั้นถูกแต่งขึ้น)
สิ่งนี้ทำให้เห็นว่ามนุษย์กับการตัดสินอะไรจากภายนอกนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และแน่นอนว่าอคติตัวนี้เป็นสิ่งที่เราเอาชนะได้ค่อนข้างยากเช่นกัน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเหล่าคนที่หน้าตาดีจะมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น
ทริกอย่างหนึ่งที่ผมมักจะใช้อยู่เป็นประจำเมื่อต้องการประเมินความคิดตัวเองต่อสถานการณ์ต่างๆ นั่นก็คือลองจินตนาการในทิศทางตรงกันข้าม แล้วสังเกตว่าเราประเมินสิ่งต่างๆแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น ในทางกลับกันถ้าผู้ที่ถูกชนเป็นตำรวจและผู้ที่ชนเป็นหมอ
ความคิดและความรู้สึกของเราที่มีต่อเรื่องนี้จะยังเป็นเหมือนเดิมอยู่หรือไม่
มันอาจทำให้เห็นอคติทางความคิดของตัวเราที่มีต่อเรื่องนี้เองไม่มากก็น้อย…
โฆษณา