25 ม.ค. 2022 เวลา 11:18 • ข่าว
ว่าด้วยเรื่องรัฐประหารที่บูร์กินา ฟาโซ
กับทางเลือกของประชาชน
ข่าวร้อนแรงในดินแดนไกลปืนเที่ยงแถบอาฟริกาตะวันตกวันนี้ หนีไม่พ้นเหตุการณ์รัฐประหารที่ บูร์กีนา ฟาโซ เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มทหารกบฏหลายสิบนาย นำโดยพันโท พอล-อองรี ซันดาวโก ที่ได้ประกาศผ่านวิทยุ และ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของบูร์กินา ฟาโซ ในวันนี้ว่า ได้ขับประธานาธิบดี รอช มาร์ก คริสติยอง กาโบเร และคณะรัฐบาลออกจากตำแหน่งแล้ว นั่นหมายถึงการฉีกรัฐธรรมนูณของประเทศเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีรัฐบาลขึ้นมาบริหารใหม่
ข่าวการเคลื่อนไหวในกลุ่มทหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลกาโบเร ลือกันหึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีกองทหารเข้ามาประชิดทำเนียบประธานาธิบดีที่เมืองหลวง วากาดูกู ตั้งแต่ช่วงวันเสาร์
แต่ประธานาธิบดีกาโบเร ยังใจดีสู้เสือออกมาแถลงว่าไม่มีอะไร จนกระทั่งมีการให้สัญญาณบุกทำเนียบผู้นำในวันอาทิตย์ ที่ชาวบ้านยังได้ยินเสืยงปืนดังสนั่นไปทั่ว และสามารถควบคุมตัวประธานาธิบดีกาโบเร ไว้ได้แล้ว ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข่าวยืนยันว่าตัวผู้นำตอนนี้จะเป็นตายร้ายดีหรือไม่อย่างไร
และทันทีที่มีประกาศยืนยันผลสำเร็จของรัฐประหารในครั้งนี้ ก็มีกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนกองทัพออกมาโห่ร้อง แสดงความยินดีกันเต็มท้องถนน ก่อนที่จะต้องรีบกลับบ้านเพราะมีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่ช่วง 3 ทุ่ม ถึง ตี 5
ส่วนเหตุผลที่กลุ่มทหารก่อเหตุรัฐประหารในครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งกับฝ่ายบริหารของรัฐบาล กาโบเร เรื่องการจัดสรรงบ และให้ความสำคัญกับนโยบายเพื่อสู้รบกับกลุ่มนักรบจิฮัด และผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงอย่าง ISIS และ อัลกออิดะห์ โบโก ฮาราม ที่เข้ามาฝังตัวในประเทศ
1
การไหลทะลักเข้ามาของกลุ่มก่อการร้าย สร้างความเดือดร้อนไปทั่วประเทศแล้ว นอกจากการก่อเหตุโจมตีชาวบ้าน จนต้องอพยพหนีภัยไปแล้วนับแสนคน และกำลังจะกลายเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงอย่างรุนแรง
ซึ่งทางฝ่ายผู้ก่อการอ้างว่าผู้นำปัจจุบันมีความอ่อนแอ และขาดวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาเรื่องกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายกองทัพที่ต้องมานำเอง
แต่เหตุผลเพียงเท่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเห็นด้วย ที่ต่างออกมาประนามการก่อเหตุของกลุ่มทหารในบูร์กินา ฟาโซ และยังแสดงความห่วงใยด้วยว่าอาจทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในประเทศย่ำแย่กว่าเดิมเสียอีก
รวมถึงฟากองค์การสหประชาชาติ ก็รีบออกมาเรียกร้องให้กลุ่มก่อการรีบวางอาวุธและคืนอำนาจให้รัฐบาลประชาชนเสีย และมองว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสรัฐประหารที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ และห่างจากเหตุรัฐประหารในซูดานเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วเพียง 3 เดือนเท่านั้น
1
แล้วกับประชาชนชาวบูร์กินา ฟาโซ เขาคิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยปลายกระบอกปืนเช่นนี้?
แน่นอนว่าการทำรัฐประหารจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ต่อต้าน และหากดูจากประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนี้ ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1960 เป็นต้นมา บูร์กีนา ฟาโซ เกิดการรัฐประหารไปแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง
1
ซึ่งผู้นำที่เคยมีอำนาจยาวนานที่สุดในบูร์กินา ฟาโซ ก็คืออดีตประธานาธิบดี แบลซ กงปาออเร ก็ขึ้นสู่อำนาจด้วยการนำรัฐประหารในปี 1989 และยังสามารถครองตำแหน่งได้นานถึง 28 ปี ก่อนที่จะถูกประชาชนประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2014 จนเขายอมลาออก และลี้ภัยไปประเทศ ไอโวรี โคสท์
แต่หลังจากนั้น รัฐบาลชุดใหม่ของบูร์กินา ฟาโซ ก็ใช่ว่าจะสู้ดี หลังจากที่เปลี่ยนอำนาจจากกงปาออเร ผู้นำเกือบ 3 ทศวรรษ มาเป็นผู้นำคนปัจจุบัน รอช มาร์ก คริสติยอง กาโบเร ที่ต้องรับมือกับปัญหาการแทรกแซงของกองทัพและการแทรกซึมจากกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ที่มีเป้าหมายโจมตีหน่วยงาน องค์กรจากชาติตะวันตก และสถานที่ท่องเที่ยว จนทำให้ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวในประเทศแทบพังพินาศ ชาวบ้านต้องทิ้งเมืองหนีภัยผู้ก่อการร้ายนับแสนคน
ด้วยความไม่สงบในประเทศ ทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาประท้วงใหญ่กันอีกครั้งเพราะต้องการให้รัฐบาลเร่งทำอะไรสักอย่างเพื่อความปลอดภัยของประชาชน บางคนถึงกับพูดว่า ผู้นำจะเป็นใครก็ได้ ขอให้พวกเขาได้อยู่อย่างสงบสุขกันเสียที
1
แต่การเปลี่ยนเป็นผู้นำเป็นสายแทงค์เช่นนี้ จะรับประกันความสงบสุขได้จริงๆหรือ?
แต่คำตอบไม่สำคัญว่าจะใช่ หรือไม่ใช่ แต่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือชาวบูร์กินา ฟาโซ มีสิทธิ์เลือกได้หรือไม่
1
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
และ Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา