25 ม.ค. 2022 เวลา 15:15 • ความคิดเห็น
“ตรุษจีน" กับสิ่งที่คนจีนรุ่นใหม่ “ไม่อยากเจอ” ในวันรวมญาติ
2
อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่วัน “ตรุษจีน 2565” หรือ “ปีใหม่จีน” กันแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยในปฏิทินจันทรคติจีนเป็นวันแรกเดือนแรกของปี
5
สมัยที่ อ้ายจง ใช้ชีวิตในประเทศจีน มักจะได้ยินเสียงบ่นของทั้งเพื่อน คนรอบข้าง และในโลกออนไลน์จีนอยู่เสมอ เสมือนเป็นเสียงครวญของหนุ่มสาวชาวจีนที่พากันระบายความกังวลเมื่อต้องกลับบ้านไปเจอบรรดาญาติพี่น้องรวมถึงผู้คนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะตามเขตชนบทที่ความสัมพันธ์ของแต่ละครัวเรือนจะใกล้ชิดกันมากกว่าในเมือง แต่นั่นก็ทำให้ความกังวลดูรุนแรงกว่าด้วย
2
สิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้ เป็นปัญหาที่ผู้อ่านหลายท่านอาจจะร้องอ๋อกันแล้วตอนนี้ นั่นคือ “แรงกดดันเรื่องชีวิตคู่” นั่นเอง
1
“ตรุษจีน” เป็นการรวมตัวของทุกคนในครอบครัว ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ทว่าสำหรับคนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีแฟน หรือมีแฟนแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความอึดอัดก็ว่าได้ เพราะจะโดนบรรดาญาติพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพ่อแม่ของพวกเขาเอง สอบถามพร้อมกดดันเบาบ้างหนักบ้างตามแต่ละครอบครัวว่า “เมื่อไหร่จะมีแฟน” และ “เมื่อไหร่จะแต่งงาน”
2
แม้ในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ เบาลง เนื่องจากคนจีนรุ่นใหม่ No สน No แคร์ การแต่งงาน แต่มุ่งเน้นไปที่การทำงานหาเงิน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเสียมากกว่า ตัวครอบครัวก็เข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น กระแสสังคมก็เริ่มมาอยู่ฝั่งของ “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิด การแต่งงานไม่จำเป็นต้องแต่งงานเร็วเสมอไป แต่แต่งงานเมื่อพร้อม และจำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะครองตัวเป็นโสด
5
เราได้เห็นตัวเลขค่าเฉลี่ยอายุของผู้หญิงจีนที่แต่งงานเป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นจาก 21.4 ปี ในปี 1990 เพิ่มเป็น 25.7 ในปี 2017 และเรายังได้เห็นสัดส่วนครัวเรือนในจีนที่ประกอบไปด้วยสมาชิกเพียง “คนเดียว” เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จาก 13.15% ในปี 2015 เป็น 18.45% ในปี 2019
2
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครอบครัวยังมีแรงกดดันส่วนนี้กับลูกหลานของพวกเขา ดังที่เรายังคงได้เห็นพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของแต่ละครอบครัว ไปประกาศหาคู่ให้ลูกหลานตามสวนสาธารณะในเมืองต่างๆ ที่ตนเองอยู่ หรือที่เรียกว่า จุดนัดพบหาคู่ 相亲角 (เซียงชินเจี่ยว)
10
ความกดดันเรื่องคู่จากครอบครัวของคนจีน ยังสะท้อนออกมาเป็นข่าวดังในปี 2017 เมื่อสาวจีน อายุ 28 ปี (ในขณะนั้น) ซึ่งสื่อจีนระบุว่า หน้าตาดี ผิวขาว โพรไฟล์ดี เคยเรียนเมืองนอก ระบายความในใจออกมาในโลกโซเชียล เพราะโดนทางบ้านกดดันอย่างหนักที่ยังไม่มีคู่ จนต้องไปนัดบอดเป็นสิบรอบ แต่ก็ยังไม่มีคู่ ไม่ได้แต่งงานเสียที ทางบ้านจึงหาว่าเธอมีปัญหาทางจิต
7
นอกจากคำถามเรื่องคู่ เรื่องการมีแฟน ยังมีคำถามอีกมากมายที่คนจีนรุ่นใหม่ไม่อยากฟัง พวกเขารู้สึกว่ามันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้เกิดความอึดอัด พลังคนจีนรุ่นใหม่จึงได้ปะทุออกมาผ่านไอเดียธุรกิจสุดสร้างสรรค์ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2018
5
ไอเดียธุรกิจสุดสร้างสรรค์ บอกเล่าถึงความอึดอัดที่ต้องเผชิญความกดดันเรื่องคู่
เสื้อสกรีนข้อความระบายความอัดอั้นตั้นใจ รวมคำถามที่ไม่อยากเจอในวันรวมญาติเทศกาลตรุษจีน เป็นไอเดียธุรกิจดังกล่าว ได้ผสานหลักการตลาด ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือ กลุ่มวัยรุ่น-คนจีนรุ่นใหม่ ที่เบื่อแล้วกับการเจอคำถามชวนอึดอัดเวลากลับบ้านวัน ตรุษจีน มันจึงกลายเป็นกระแสไวรัลในจีน รับเทศกาลตรุษจีนปี 2018 ที่แม้แต่สื่อใหญ่ของจีน เช่น China Daily ยังต้องรายงานกระแสนี้
1
ตัวอย่างข้อความบนเสื้อที่ชาวเน็ตจีนพากันบอกว่า โดนใจวัยรุ่นเหลือเกิน สามารถสะท้อนสิ่งที่พวกเขาต้องเจอมาโดยตลอดได้อย่างชัดเจน อาทิเช่น กรุณาอย่าถามถึงเกรดเฉลี่ยการสอบ, ลูกของคุณนั้นยอดเยี่ยมมาก, งดพูดถึงเงินเดือน, ลดน้ำหนักอยู่ กินได้ไม่มากหรอก เป็นต้น
ในขณะที่กำลังเป็นกระแส ณ ตอนนั้น นักข่าวจากสื่อจีน Yangtse Evening Post ได้ข้อมูลจากคนขายเสื้อรายหนึ่งว่า เสื้อสกรีนข้อความเหล่านั้นขายดีมาก วันเดียวขายได้มากกว่า 400 ตัว ซึ่งสีที่ค่อนข้างขายดีคือ สีแดง ด้วยเหตุที่เป็นสีมงคลในวัน ตรุษจีน คนนิยมใส่เสื้อสีแดงช่วงเวลานั้นอยู่แล้ว
1
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่แสดงออกว่า “ไม่เห็นด้วย” กับไอเดียเสื้อระบายความในใจช่วงตรุษจีน พวกเขามองว่า มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย ถึงจะใส่เสื้อดังกล่าวก็ไม่พ้นโดนถามอยู่ดี และอาจจะโดนพ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวตำหนิหนักกว่าเดิมเสียอีก ซึ่งชาวเน็ตจีนบางคน แสดงความเห็นว่า คนเป็นเด็ก เป็นลูกหลาน ก็ควรรับฟังและทำตามคำแนะนำของพ่อแม่ผู้ใหญ่ หากทำได้ มันก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไรนี่
3
แล้วทุกคนล่ะครับ “ตรุษจีน 2565” คิดอย่างไรกับเรื่องนี้?
3
เผยแพร่ในคอลัมน์ "108 เรื่องจีน by อ้ายจง" กรุงเทพธุรกิจ
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #จีน #ตรุษจีน
โฆษณา