26 ม.ค. 2022 เวลา 04:55 • สิ่งแวดล้อม
ปลูกกล้วยป้องกันแนวไฟป่า ทำให้เกิดการลุกลามช้าลง
กล้วย เป็นผลไม้ที่สามารถหาทานได้ทุกฤดูกาล มีประมาณ 250 สายพันธุ์ แต่ที่เรามักคุ้นจะเป็นจำพวก กล้วยน้ำว้า, กล้วยเล็บมือนาง, กล้วยหอม และกล้วยไข่ เป็นต้น แต่ละสายพันธุ์มีสีและรูปร่างที่แตกต่างออกไป โดยให้ประโยชน์แก่ร่างกาย แก้อาการท้องผูก บำรุงสายตา ช่วยลดความอ้วน ฯลฯ นอกจากนี้ในส่วนของลำต้น ใบ ก็นำไปทำประโยชน์ได้อีกด้วย
ในปี 2564 ที่ผ่านมากล้วย(ด่าง) Musa เกิดจากการกลายพันธุ์ในระดับพันธุกรรม มีทั้งด่าวเขียวและอมชมพู รสชาติคล้ายกับกล้วยไข่ แต่รสชาติอมเปรี้ยวไร้เมล็ด ความแปลกของสี ลาย ความด่างนั้นเองที่ทำให้เป็นที่ต้องการและกลายเป็นกระแส ส่งผลให้กล้วยด่างมีมูลค่าตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ากล้วยมีคุณประโยชน์มากมาย ล่าสุดถูกนำไปสร้างแนวกันไฟป่าอีกด้วย
รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐที่ต้องรับมือกับไฟป่าในทุกๆ ปีิ เนื่องจากมีสภาพอากาศที่แห้งแล้งส่งผลให้พืชพรรณต่างๆ กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลียนแปลงอย่างรุนแรง (ภาวะโลกร้อน) และการกระทำของมนุษย์ เช่น สายไฟที่ชำรุด, อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุ
ด้านศาสตราจารย์บารัถ รากาวัน (Barath Raghavan) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย จึงเกิดไอเดีย ปลูกต้นกล้วยรอบเมืองเพื่อหยุดความเสียหายในวงกว้างหรือใช้เป็นแนวกันไฟ และทำการปรึกษากับไมเคิล คันตาร์ ศาสตราจารย์ด้านการเกษตรและพันธุ์พืชแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย เนื่องจากกล้วยมีลำต้นที่ชุ่มฉ่ำ บริเวณรากมีน้ำหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จึงทนไฟได้ดีกว่าต้นไม้อื่นๆ และด้วยความที่มีขนาดสูงใหญ่จึงสามารถนำมาเป็นแนวกันไฟได้ ในส่วนของใบก็ไม่ติดไฟง่ายๆ
รากาวันตั้งทฤษฎีว่า สวนกล้วยที่ปลูกด้วยน้ำรีไซเคิล แม้จะไม่สามารถดับไฟได้ แต่เป็นตัวช่วยหนึ่งให้นักดับเพลิงได้มีเวลา (ซื้อเวลา) ในการจัดการกับไฟได้ และเขายังกล่าวอีกว่า กล้วยสามารถปลูกไปจนถึงตามแนวสันเขาที่ติดกับชุมชนได้ และในบริเวณนั้นมีบ้านคนผู้มีฐานะพักอาศัยอยู่ เมื่อไฟลามมาแนวสวนกล้วยนี้จะช่วยสกัดไว้ รวมถึงจะช่วยให้ผู้คนที่อาศัยในชุมชนมีเวลาในการอพยพด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลหรือไม่ เขาได้จำลองทางคอมพิวเตอร์อ้างอิงจากสถานการณ์ไฟป่าทับบ์ ในปี 2017 ผลที่ได้คือ ถ้าเกิดกรณีเดียวกับไฟ่าทับบ์จะต้องปลูกกล้วยให้ลึกถึง 300 เมตร แม้จะไม่สามารถดับไฟลงหมดจด แต่จะช่วยชะลอไฟป่านั้นไว้ได้ และมีเวลาให้มนุษย์ได้รับมือมากยิ่งขึ้น
เมื่อสอบถามแนวคิดนี้ไปกับ เดวิด บาวแมน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ไฟและไพโรจีโอกราฟี ณ มหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย ว่า แนวคิดการให้น้ำและปลูกพืชไม่ติดไฟ (การปลูกแนวกล้วยเพื่อกันไฟ) จะได้ผลที่ดีจริงหรือไม่ ? ซึ่ง เดวิดฯ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ดี แม้จะไม่เคยเห็นการใช้ต้นกล้วยเป็นแนวกันไฟมาก่อนก็ตาม แต่ทฤษฎีเรื่องใช้ไม้ชุ่มน้ำเพื่อกันไฟมีการทำมานานแล้ว ไม่ใช่ทุกพื้นที่ของแคลิฟอร์เนียจะสามารถปลูกกล้วยได้เพราะมีอากาศหนาวเย็น แต่รากาวันกล่าวว่า เขาสามารถปลูกกล้วยในพื้นที่หนาวของรัฐแคลิฟอร์เนียได้สำเร็จแล้ว
นี่คือการให้สัมภาษณ์ของรากาวันกับ LAist ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยับยั้งความเสียหายของป่าและบ้านเรือน อย่าลืมว่าสิ่งที่กระตุ้นหรือทำให้เกิดไฟป่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือมนุษย์ ทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการช่วยกันดูแลป่าไม้ เพราะฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้จะลอย และถูกสะสมในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วโลกและนำสู่ภาวะโลกร้อนในที่สุด
โฆษณา