26 ม.ค. 2022 เวลา 06:19 • ปรัชญา
#การบริหารพลังงาน
#ชอบขีดชอบเขียน
หลายคนคงเคยเห็นผม post แผนภูมิอันนี้บ่อย และคงรู้ว่ามันคือแผนภูมิการจัดการเวลาในหนึ่งวันของผมเอง ซึ่งใช้มาได้สักหกเดือนแล้วมั้ง เขียนทุกวันตอนตื่นนอน ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีเองครับ
เริ่มแรกได้ idea มาจาก dial diary ของ อ.ธัญญา ผลอนันต์ (ตอนนี้ท่านเสียไปแล้ว) ซึ่งเป็นการวางแผนการใช้เวลาโดยอาศัย Mindmap ผมก็เอามาปรับเล็กน้อยให้เป็น style ตัวเอง เขียนดูว่าใน 24 ชั่วโมงเรามีกิจวัตรอะไรบ้าง เราทำอะไรตอนไหน ว่างช่วงไหน นั่นก็คือเราใช้เวลาและพลังงานช่วงไหนทำอะไร แล้วเราเติมพลังงานหรือฟื้นฟูตัวเอง ตอนไหน เรายุ่งหรือว่างเกินไปหรือเปล่า เรามักโดน interrupt ช่วงไหน เราใช้เวลาหรือเสียเวลาไปกับอะไร เราโอฌคกับการใช้เวลาแบบนี้ของเราหรือเปล่า
พอเรามองเห็น เราก็จะค่อยๆ "ออกแบบ" วันของเราได้ตรงใจมากขึ้น นั่นคือเราตัดกิจวัตรที่ไม่สำคัญ ไม่จำเป็นออกไป ใช่พลังงานพอดีๆ จะได้ไม่เหนื่อยล้าจากกิจวัตรที่มากเกิน ยุ่งเหยิงและไม่จัดระเบียบให้ดี
สิ่งที่ค้นพบคือ ผมมักไม่ได้ใส่ใจกับเวลาหยุมหยิมแต่โคตรสำคัญอย่าง "เวลาที่ใช้เดินทาง" ซึ่งถ้าไม่ plan ให้ดี (ว่าจะไปไหน ทางไหน ด้วยอะไร ขับรถไปเอง หรือ ใช้ MRT BTS หรือ จะนั่ง Grab ไป) เวลาหยุมหยิมพวกนี้แหละ ที่จะทำให้เราเสียเวลา พลังงาน หรือเงินโดยใช่เหตุ (คือลืมวางแผนไว้แล้วต้องนั่ง Grab แพงๆ) ที่สำคัญคือเราอาจจะกลายเป็นคนไม่รักษาคำพูดเพราะไปไม่ตรงตามนัด (อันนี้ถือมาก)
ที่สำคัญคือผมใส่เวลากิน นอน ออกกำลังกายลงไปในตารางให้ครบ นั่นคือในแต่ละวันต้องมีกิจวัตรพื้นฐานเพื่อรักษาระบบชีวภาพให้ดี ซึ่งตอนเด็กๆเราไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการนอนหรอก แต่ละวันก็ยัดกิจกรรมจนแน่น ขาดเวลาพักผ่อน ขาดการนอนที่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายก็รวนไปทั้งวัน
ดังนั้นการออกแบบชีวิตประจำวันจึงสำคัญมาก (ในความเห็นของผมนะ) เพราะสิ่งที่เราทำทุกวันก็คือ "ชะตากรรม" ของเรา เรากินเราอยู่ยังไง ร่างกายเราก็จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นต้องกินให้ดี นอนให้พอ และจัดเวลาออกกำลังกาย ทำงานให้มีประสิทธิภาพ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อย่าติดหน้าจอไร้สาระมากเกินไป (แต่ผมก็ชอบดู tiktok นะ)
การจัดตารางเวลานี้ผมจะทำหลังจากตื่นนอน ล้างหน้าแปรงฟันเรียบร้อย ต้มน้ำร้อนชงกาแฟมานั่นดื่มไปพลางๆ ถือเป็นการเริ่มต้นวัน โดยอาจจะสงบสติอารมณ์ อธิษฐานอะไรสักเล็กน้อยก่อนเริ่มทำอะไร
ช่วงอายุ 40+ มานี้ การนอนไม่ค่อยดี ตื่นมาจึงมักจะบันทึกว่าการนอนในคืนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ฝันเยอะไหม ตื่นมาสดชื่นพอไหม ระดับพลังงานเป็นอย่างไร มีอาการทางกายอะไร ปวดหัวตื้อๆเพราะหลับไม่สนิทหรือเปล่า ไว้เป็นข้อมูลป้อนกลับว่าคุณภาพการนอนดีพอไหม ต้องทำอะไรบ้างเพื่อเพิ่มคุณภาพการนอน
ผมพบว่าเวลาตีสี่ถึงเจ็ดโมงเช้าเป็นช่วงเวลาที่หัวแล่นดี จึงมักใช้ช่วงนี้ในในการเขียนอะไรเล่น บางทีก็เขียนบทความ 🙂 ทำ task ที่ตั้งใจว่าจะทำในแต่ละวัน เช่น เก็บเงินเล่นๆวันละ 10 บาททุกวัน ทำงานบ้าน และอื่นๆอีกสองสามอย่าง อาจจะงีบสัก 10-15 นาที ถ้าง่วงหรือรู้สึกล้าการนั่งหน้าคอม
พอเจ็ดโมงก็ทานอาหาร กินวิตามินประจำวัน อาบน้ำแต่งตัว เจ็ดโมงครึ่งเดินทางไปทำงาน เซ็นชื่อ เริ่มงาน เสร็จเที่ยง ตอนบ่ายก็ไปทำธุระหรือประชุม ถ้าไม่มีก็พักผ่อน เตรียมไปออกกำลังกายตอนเย็น ช่วงค่ำก็ spiritual practice หลังจากนั้นก็เตรียมตัวเข้านอน ก่อนนอนก็เขียน 3 Good things หรือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นไปได้ดีและอยากขอบคุณในวันนี้ 3 อย่าง เป็นการฝึกสมองให้มองแง่บวก และซึมซับประสบการณ์ความรู้สึกที่ดีที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
ก็วนเวียนไปแบบนี้ จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายปี หลังจากนั้นก็คงหมดแล้วชีวิตนึง มันอาจจะดูน่าเบื่อนะ แต่ผมพบว่าการจัดตารางเวลาทำให้ผมจัดการแต่ละวันของตัวเองได้ดี ได้สร้างวินัยให้ตนเอง รู้สึกว่า My life is in control ก็ทำให้รู้สึกสงบในใจ
ก็รู้สึกว่าได้ผลดีครับ เลยเอามาเล่าสู่กันฟังเล่นๆ ใครรู้สึกว่าแต่ละวันมันช่างยุ่งเหยิงเหลือเกินจะลองนำเทคนิคนี้ไปใช้ก็ได้นะครับ 🙂
ปล. มุมบนซ้ายคือองค์ประกอบของสิ่งที่ต้องกินในแต่ละวัน ประกอบด้วยสารอาหารที่ให้พลังงาน 3 อย่าง คือ Protein Carbohydrate Fat และสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานแต่จำเป็น 6 อย่าง คือ Vitamin Mineral Water Fiber Probiotic และ Antioxidant ครับ
#CircleOfLife
โฆษณา