27 ม.ค. 2022 เวลา 06:20 • ประวัติศาสตร์
เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell ค.ศ. 1831 - 1879)
James Clerk Maxwell ค.ศ. 1831 - 1879
เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) เป็นนักคณิตศาสตร์ฟิสิกส์ชาวสก็อต ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักทฤษฎีฟิสิกส์ชั้นนำแห่งศตวรรษ” แมกซ์เวลล์เป็นบุตรในตระกูลชนชั้นสูง ของจอห์น คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (John Clerk Maxwell) และแฟรนเซส เคย์ (Frances Cay)
แฟรนเซส เคย์ (มารดา/คนซ้าย) และจอห์น คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (บิดา)
แมกซ์เวลล์เกิดวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1831 ณ บ้านเลขที่ 14 ถนนอินเดีย เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ (ซึ่งในปัจจุบันบ้านเกิดของเขากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993)
บ้านเลขที่ 14 ถนนอินเดีย เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์
ต่อมาไม่นานหลังจากนั้น ครอบครัวของเขาก็ย้ายบ้านไปที่เกลนแลร์ ในเคิร์กคุดไบรท์ไชร์ (Glenlair in Kirkcudbrightshire) ซึ่งที่นั่น แมกซ์เวลล์มีความสุขกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในชนบท แมกซ์เวลล์เป็นเด็กช่างสงสัย เขามีความอยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เคลื่อนไหว ส่องแสง หรือส่งเสียงได้ มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ
ในขณะที่แมกซ์เวลล์อายุได้สามขวบ แม่ของเขาได้เขียนจดหมายเล่าถึงเด็กน้อยขี้สงสัยว่า เขาได้สำรวจเส้นทางลำธารที่ซ่อนอยู่ เส้นทางการไหลของน้ำ จากบ่อน้ำผ่านกำแพง สะพานแขวน หรือสะพานเล็กๆ และไหลลงท่อระบายน้ำ
Glenlair in Kirkcudbrightshire (ภาพปัจจุบัน)
แมกซ์เวลล์ในวัยแปดขวบ เขาสามารถท่องอาขยานของมิลตัน และบทสวดที่ 119 ได้ทั้งหมด (รวม 176 ข้อ) นอกจากนี้ แมกซ์เวลล์เข้าใจรายละเอียดในพระคัมภีร์เป็นอย่างดี และเขายังสามารถบอกบทกลอนพร้อมกับระบุว่าบทกลอนนี้เป็นบทที่เท่าไหร่ในบทสวดได้อีกด้วย
ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1839 มารดาของแมกซ์เวลล์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร พ่อของเขาจึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องการศึกษาของแมกซ์เวลล์แทนแม่ของเขา โดยพวกเขาได้วางแผนให้แมกซ์เวลล์เรียนที่บ้านจนกว่าจะอายุ 13 พ่อของเขาจึงได้ว่าจ้างเด็กชายวัย 16 ปี มาเป็นติวเตอร์ให้กับแมกซ์เวลล์ แต่ทว่าก็อยู่ได้ไม่นาน ติวเตอร์ก็ถูกไล่ออกในเดือนพฤศจิกายน ในปี ค.ศ. 1841 เนื่องจากติวเตอร์ดุด่าว่ากล่าวแมกซ์เวลล์ ซึ่งเขาอ้างว่าแมกซ์เวลล์นั้นเชื่องช้าเกินไป
แมกซ์เวลล์จึงได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันเอดินบะระ (Edinburgh Academy) และพักอยู่ที่บ้านป้าอิซาเบลลา เวดเดอร์เบริน (Isabella Wedderburn) ซึ่งในโรงเรียน เขาถูกมองว่าเป็นคนขี้อาย และน่าเบื่อ แมกซ์เวลล์จึงใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในโรงเรียน ไม่ผูกมิตรกับใคร และในวันหยุดเขาจะอ่านบัลลาดเก่าๆ วาดไดอะแกรมแปลกๆ และสร้างแบบจำลองเชิงกล (ซึ่งก็ทำอะไรที่เด็กวัยเดียวกันไม่น่าจะทำ) จนทำให้เขาได้รับฉายาว่า ดาฟตี้ (Dafty ซึ่งแปลว่าโง่เง่า วิกลจริต) แมกซ์เวลล์ไม่เคยพอใจกับฉายานี้เลย แต่เขาก็ทนแบกรับมันไว้เป็นเวลาหลายปี โดยที่ไม่เคยบ่นเลย
เขาใช้ชีวิตตัวคนเดียวในโรงเรียนมาโดยตลอด จนกระทั่งได้มารู้จักกับ ปีเตอร์ กัทรี เทต (Peter Guthrie Tait) ซึ่งในภายหลังพวกเขากลายเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง และกลายเป็นเพื่อนสนิทกันตลอดชีวิต
ปีเตอร์ กัทรี เทต (Peter Guthrie Tait) เพื่อนสมัยเรียนและเพื่อนตลอดชีวิตของเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์
ในชั้นปีที่สอง แมกซ์เวลล์ชนะรางวัลชีวประวัติพระคัมภีร์ของโรงเรียน แต่ก็ยังไม่มีใครสังเกตเห็นถึงผลงานวิชาการของเขาเลย จนกระทั่งเขาอายุ 13 ปี เขาได้รับเหรียญรางวัลคณิตศาสตร์ของโรงเรียน และรางวัลที่หนึ่ง ทั้งภาษาอังกฤษ และกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้เอง จึงสร้างความประหลาดใจแก่เพื่อนๆ และทุกคนในโรงเรียนเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเขาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในอัจฉริยะด้านวิชาการของโรงเรียน
ต่อมาในช่วงต้นปี ค.ศ. 1846 แมกซ์เวลล์ในวัย 14 ปี ได้เขียนบทความวิชาการเรื่อง ‘On the description of oval curves, and those having a plurality of foci’ ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับเส้นโค้งวงรีและส่วนที่มีจุดโฟกัสจำนวนมาก ผลงานของเขาถูกนำเสนอต่อสมาคมวิทยาศาสตร์ ราชสมาคมแห่งเอดินเบิร์ก (Royal Society of Edinburgh) โดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1846
ถึงแม้ว่าผลงานนั้นเขาไม่ได้ค้นพบเป็นคนแรก แต่วิธีการของเขามีพัฒนาการกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นความอัจริยะเกินวัยของเด็กอายุ 14 ปี
On the description of oval curves, and those having a plurality of foci (1846)
ต่อมาแมกซ์เวลล์ในวัย 16 ปี ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh ค.ศ. 1847 - 1850) ในสาขาคณิตศาสตร์และปรัชญาธรรมชาติ ซึ่งหลักสูตรของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สร้างความกังวลแก่เขาเลย เขายังมีเวลาเหลือไปทำงานวิจัย และเขียนบทความวิชาการต่างๆอีกด้วย โดยเฉพาะ เมื่อเขากลับบ้านที่เกลนแลร์ (Glenlair) เขาได้ทดลองอุปกรณ์เคมี ไฟฟ้าและแม่เหล็ก ซึ่งการทดลองครั้งนี้ ทำให้เขาได้ค้นพบความยืดหยุ่นของแสง (photoelasticity)
แมกซ์เวลล์ในวัย 18 ปี ได้มอบเอกสารบทความสองฉบับแก่ราชสมาคมแห่งเอดินบะระ (the Royal Society of Edinburgh) ได้แก่ ‘On the Equilibrium of Elastic Solids’ และ ‘On the theory of rolling curves’ โดยเอกสารทั้งสองนี้ถูกส่งโดยติวเตอร์เคลแลนด์ (Kelland)
‘On the Equilibrium of Elastic Solids’ และ ‘On the theory of rolling curves’
หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1850 ซึ่งในขณะนี้แมกซ์เวลล์เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และเขาได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge ค.ศ.1850 - 1856) ซึ่งในช่วงแรกเขาเข้าเรียนที่ปีเตอร์เฮาส์ (Peterhouse, Cambridge) และก่อนจบภาคเรียนแรก เขาได้ย้ายไปเรียนที่วิทยาลัยทรินิตี้ (Trinity College, Cambridge)
ที่วิทยาลัยทรินิตี้ แมกซ์เวลล์ได้รับเลือกให้เข้าสมาคมลับชั้นสูง ที่รู้จักกันในชื่อ ‘อัครสาวกเคมบริดจ์’ ซึ่งเป็นสังคมเฉพาะของชนชั้นสูงทางปัญญา ทำให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียน และวิทยาศาสตร์มากขึ้นในช่วงที่เขาเรียนที่เคมบริดจ์
ในปี ค.ศ. 1854 แมกซ์เวลล์สำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยทรินิตี้ เขาได้อันดับที่สองรองจาก เอ็ดเวิร์ด รูธ (Edward Routh) และได้รับตำแหน่ง Second Wrangler
หลังจากที่แมกซ์เวลล์ได้รับปริญญา เขาได้อ่านบทความ ‘On the Transformation of Surfaces by Bending’ ให้กับสมาคมปรัชญาเคมบริดจ์ (Cambridge Philosophical Society) ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกสารทางคณิตศาสตร์เพียงไม่กี่ฉบับที่เขาเขียน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเขาในฐานะนักคณิตศาสตร์
On the Transformation of Surfaces by Bending
แมกซ์เวลล์ตัดสินใจอยู่ต่อที่มหาวิทยาลัยทรินิตี้ และเตรียมพร้อมเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ นอกจากนี้ เขาได้ร่วมมือกับ Workers' College ทำหนังสือเกี่ยวกับทัศนศาสตร์ และได้สร้างการศึกษาการ์ตูนเชิงทดลองที่รวมอยู่ในนิทานพื้นบ้านของเคมบริดจ์
เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติและการรับรู้เรื่องสี เป็นหนึ่งในสิ่งที่แมกซ์เวลล์สนใจมาตั้งแต่เด็ก เขาได้สังเกตการหมุนของลูกข่าง และสามารถสาธิต เพื่อแสดงให้เห็นว่า สีขาวเกิดจากการผสมของแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน และนำมาเขียนบทความเรื่อง ‘การทดลองเกี่ยวกับสี (Experiments on Colour)’ ซึ่งอธิบายถึงหลักการของการผสมสี และเขาได้เสนอบทความต่อราชสมาคมแห่งเอดินบะระ (the Royal Society of Edinburgh) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1855 ด้วยตัวของเขาเอง
ต่อมาแมกซ์เวลล์ได้เข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่อเบอร์ดีน (Aberdeen) หลังจากที่บิดาของเขาเสียชีวิตในวันที่ 2 เมษายน และต่อมาเขาได้ออกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จบการศึกษาด้วยปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1856
แมกซ์เวลล์ในวัย 25 ปี ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาปรัชญาธรรมชาติที่วิทยาลัยมาริสคาล กรุงอเบอร์ดีน (Marischal College, Aberdeen) ซึ่งเขามีส่วนร่วมรับผิดชอบหน้าที่ ในฐานะหัวหน้าแผนกวางแผนหลักสูตร และเตรียมการบรรยาย
ในระหว่างที่ทำงานอยู่ที่มาริสคาล เขาได้เข้าร่วมกับคณะดาราศาสตร์ เพื่อศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวงแหวนของดาวเสาร์(The rings of Saturn) เพื่อชิงรางวัลอดัมส์ (Adams Prize) แมกซ์เวลล์ใช้เวลาถึงสองปีในการศึกษาปัญหาของดาวเสาร์ จนได้ข้อสรุปว่า
"วงแหวนของดาวเสาร์ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์น้อย (Planetoid) จำนวนมาก เขาเรียกว่า brick-bats ซึ่งโคจรรอบดาวเสาร์อย่างอิสระ"
ทำให้แมกซ์เวลล์ได้รับรางวัลอดัมส์ (Adams Prize) ในปี 1859 ในบทความเรื่อง ‘On the stability of the motion of Saturn's rings’ และในเวลาต่อมา คำอธิบายนี้ได้รับการยืนยันโดยยานอวกาศวอยเอจเจอร์ (Voyager) ในช่วงทศวรรษ 1980
On the stability of the motion of Saturn's Rings (1859)
ต่อมาแมกซ์เวลล์ได้หมั้นกับแคทเธอรีน แมรี เดวาร์ (Katherine Mary Dewar) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1858 และแต่งงานกันที่เมืองอเบอร์ดีน ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1858
ในปี ค.ศ. 1860 วิทยาลัยมาริสคาล (Marischal College) ได้ควบกิจการกับวิทยาลัยคิงส์ (King’s College) ทำให้แมกซ์เวลล์ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์ (Chair of Natural Philosophy) ที่วิทยาลัยคิงส์ในกรุงลอนดอน เขาทำงานอยู่ที่นี่ 5 ปี ก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองเคนชิงตัน ประเทศสกอตแลนด์
ต่อมาแมกซ์เวลล์ได้รับเหรียญรางวัลรัมฟอร์ดของราชสมาคมลอนดอน (the Royal Society's Rumford) จากผลงานด้านทัศนศาสตร์เรื่อง ‘ทฤษฎีการมองเห็นสี (On the Theory of Colour Vision)’ และในปี ค.ศ. 1861 เขาได้รับเลือกเข้าสู่สมาคม และในช่วงเวลานี้เขาได้ทำการทดลอง ศึกษาเกี่ยวกับก๊าซในเรื่องของความเร็ว การเคลื่อนที่ ทิศทางการฟุ้งกระจายของก๊าซ และเสนอการกำหนดปริมาณกายภาพ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อการวิเคราะห์เชิงมิติ ( Dimensional Analysis : DA)
ทฤษฎีการมองเห็นสี (On the Theory of Colour Vision
ในช่วงเวลาสองปี (ค.ศ. 1861-1862) แมกซ์เวลล์ได้เขียนบทความเรื่อง ‘Physical Lines of Force’ และได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1861 โดยเสนอทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งอธิบายถึงแบบจำลองการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ประกอบไปด้วยฟลังกซ์แม่เหล็ก ต่อมาในปี 1862 ได้เพิ่มเติมเนื้อหาเรื่องไฟฟ้าสถิตและกระแสขจัด และโพลาไรเซชันของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เป็นปรากฎการณ์เอฟเฟกต์ฟาราเดย์ที่ฟาราเดย์ค้นพบ )
Physical Lines of Force (1861-1862)
ในปี ค.ศ. 1861 แมกซ์เวลล์สร้างภาพถ่ายสีได้เป็นครั้งแรก เป็นภาพริบบิ้นผ้าลายสก๊อต (Tartan Ribbon) โดยการถ่ายภาพขาวดำ 3 ภาพผ่านตัวกรองแสงทั้งสามสี ได้แก่ สีเขียว สีแดง และสีน้ำเงิน มาฉายแล้วซ้อนทับผ่านจอภาพเดียวกัน
Tartan Ribbon (1861)
นอกจากนี้ แมกซ์เวลล์ได้รวบรวมสมการเชิงอนุพันธ์ย่อย (Partial differential equation) หรือ สมการของแมกซ์เวลล์(Maxwell's equations) 4 สมการ ซึ่งเป็นสมการที่ใช้อธิบายถึงพฤติกรรมของ สนามไฟฟ้า และ สนามแม่เหล็ก รวมถึงปฏิกิริยาที่มีต่อสารต่างๆ ในวิชาไฟฟ้าและแม่เหล็ก นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของนักคณิตศาสตร์ในศตวรรษที่ 19
Maxwell's equations
ต่อมาในปี 1865 แมกซ์เวลล์ลาออกจากวิทยาลัยคิงส์ (King's College, London) และกลับไปที่เกลนแลร์ (Glenlair) กับแคทเธอรีน ซึ่งช่วงปีที่เขาลาออกเขาได้เขียนบทความเรื่องทฤษฎีพลวัตของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (A Dynamical Theory of the Electromagnetic Field) เกี่ยวกับตัวเลขเฟรมและแผนภาพซึ่งกันและกัน (ค.ศ. 1870) ทฤษฎีความร้อนในปี (ค.ศ. 1871) และสสารและการเคลื่อนที่ (ค.ศ. 1876) นอกจากนี้ เขายังเป็นคนแรกที่ใช้การวิเคราะห์เชิงมิติอย่างแม่นยำ ในปี ค.ศ. 1871 อีกด้วย
A Dynamical Theory of the Electromagnetic Field
ในปี ค.ศ. 1871 แมกซ์เวลล์กลับมาเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์คาเวนดิช (Cavendish Professor of Physics) ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ซึ่งเขาได้รับผิดชอบงานที่ดำเนินการในห้องปฏิบัติการคาเวนดิช
ผลงานชิ้นสุดท้ายของแมกซ์เวลล์ในด้านวิทยาศาสตร์ คือการแก้ไขผลงานวิจัยของเฮนรี่ คาเวนดิช (Henry Cavendish) และถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1879
แมกซ์เวลล์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1879 ที่เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยอายุ 48 ปี โดยพิธีศพของเขาถูกจัดเงียบๆที่ พาร์ตัน เคิร์ก (Parton Kirk) สกอตแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเติบโตมา
ป้ายหลุมศพของเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ ที่พาร์ตัน เคิร์ก (Parton Kirk) ประเทศสกอตแลนด์
ชีวประวัติของเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) ถูกเขียนโดยเพื่อนสมัยเรียนและเพื่อนตลอดชีวิต ศาสตราจารย์ลูอิส แคมป์เบลล์ (Lewis Campbell) และได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1882
ผลงานของแมกซ์เวลล์ถูกรวบรวมไว้สองฉบับโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University Press : CUP)
อนุสรณ์จารึกของแมกซ์เวลล์อยู่ใกล้กับฉากกางเขนที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ (Westminster Abbey) และหินจารึกที่ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ข้างอนุสรณ์สถานสงครามพาร์ตัน (Galloway)
อนุสรณ์จารึก ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และหินจารึกหน้าโบสถ์ข้างอนุสรณ์สถานสงครามพาร์ตัน
มรดกทางวิทยาศาสตร์ (Scientific legacy)
  • ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetism
- ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetism) ถูกเขียนในบทความเรื่อง On Faraday's lines of force เสนอแบบจำลองของการทำงานของฟาราเดย์ และความสัมพันธ์ระหว่างไฟฟ้าและแม่เหล็ก ต่อมาบทความนี้ถูกตีพิมพ์ในชื่อ On Physical Lines of Force ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1861
- สมการของแมกซ์เวลล์ (Maxwell's equations) คือสมการเชิงอนุพันธ์ 4 สมการที่แมกซ์เวลล์รวบรวมจากกฎของ Ampère, Faraday และ Lenz ซึ่งอธิบายธรรมชาติของสนามไฟฟ้า (Electric field) และสนามแม่เหล็ก (Magnetic field) ได้อย่างครอบคลุม โดยสองสมการแรกบอกเราเกี่ยวกับผลกระทบและปรากฏการณ์ของสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก ส่วนอีกสองสมการซึ่งเป็นสมการที่สำคัญมากที่สุด เพราะทำให้เห็นว่าทั้งสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กนั้นเป็นสิ่งๆ เดียวกัน จึงทำให้สามารถเขียนรวมกันเป็นคำว่า “แม่เหล็กไฟฟ้า” ได้
  • การมองเห็นสี (Colour vision)
- Experiments on Colour บทความที่นำเสนอต่อราชสมาคมแห่งเอดินบะระ (royal society of edinburgh) ในปี ค.ศ. 1855 โดยการอธิบายหลักการสีหลักสามสี ได้แก่สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน
- บทความทัศนศาสตร์เรื่อง ทฤษฎีการมองเห็นสี (On the Theory of Colour Vision) บทความที่นำเสนอต่อราชสมาคมแห่งลอนดอน (royal society of London) ในปี ค.ศ. 1860 และได้รับรางวัลเหรียญรัมฟอร์ด โดยอธิบายภาวะตาบอดสี โดยพิสูจน์จากทฤษฎีสามสีหลักของเขาเอง
- ภาพริบบิ้นผ้าตารางหมากรุกของสกอตแลนด์ (Tartan Ribbon) เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของแมกซ์เวลล์ในด้านทัศนศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพสีรูปแรก และเขาเป็นผู้ที่ถ่ายภาพสีได้เป็นคนแรกของโลก
  • ทฤษฎีจลนศาสตร์และอุณหพลศาสตร์ (Kinetic theory and thermodynamics)
- การกระจายแมกซ์เวลล์–โบลซ์มันน์ (Maxwell–Boltzmann distribution ปี ค.ศ. 1859 - 1866) ซึ่งอธิบายความเร็วของอนุภาคในก๊าซในอุดมคติ ที่แมกซ์เวลล์พัฒนามาจากทฤษฎีจลน์ของแก๊ส (the molecular theory of gases) ซึ่งในตอนแรกรู้จักกันในชื่อ Maxwell's Distribution ก่อนจะถูกแก้ไขโดยนักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย ลูทวิช บ็อลทซ์มัน (Ludwig Boltzmann) ในปี 1868 และงานนี้ถูกนำเสนอในบทความ Illustrations of the Dynamic Theory of Gases ของแมกซ์เวลล์
- ปีศาจของแมกซ์เวลล์ (Maxwell's Demon) เป็นผลงานการทดลองทางความคิด ในบทความ The Theory of Heat ที่ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1870 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ละเมิดกฎข้อสองของเทอร์โมไดนามิกส์
  • ทฤษฎีระบบควบคุม (control theory)
- ทฤษฎีระบบควบคุมในบทความเรื่อง On Governors (ค.ศ. 1867- 1868) ซึ่งแมกซ์เวลล์ได้ศึกษาเสถียรภาพของลูกเหวี่ยงหนีศูนย์กลางของเจมส์ วัตต์ (James Watt) โดยใช้แบบจำลองสมการเชิงอนุพันธ์เชิงเส้น และพิจารณาเสถียรภาพของระบบจาก รากของสมการคุณลักษณะ (characteristic equation) ของระบบ
แม้ว่าเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์อาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก แต่เขาอยู่ในฐานะที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนนึกถึงเสมอเช่นไอแซก นิวตัน และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเขายังสร้างเส้นทางให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้เดินตามรอย
เพิ่มเติม
มูลนิธิเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ เปิดบริการเว็บทัวร์บ้านเสมือนจริง สามารถเข้าไปชมนิทรรศการ ที่พิพิธภัณฑ์เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (14 India Street, Edinburgh) ได้ตามลิงค์ที่แอดมินแปะไว้ให้เลยนะคะ
โฆษณา