26 ม.ค. 2022 เวลา 16:37 • หนังสือ
ผมเชื่อเสมอว่าหนังสือนิยายที่ดี คือหนังสือที่สามารถสื่อสารกับเราในฐานะคนอ่าน ตั้งแต่ข้อความแรก หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือในสองสามหน้าแรกของเรื่อง
ถึงแม้ผมจะปวารณาตัวเองเป็น “หนอนหนังสือ” มาเกือบค่อนชีวิต ก็ไม่ใช่ว่าหนังสือนิยายทุกเล่มที่เลือกซื้อหามาอ่านจะถูกใจใช่เลยไปเสียทั้งหมด มีหนังสือนิยายหลายเล่มที่อ่านไปได้ไม่กี่หน้าก็วาง อ่านไปได้ครึ่งเล่มแล้วพบว่าไม่ถูกใจ ไม่ใช่จริตจนพาลทำให้เลิกอ่านก็มี หนังสือนิยายหลายเล่ม อ่านแล้วรู้สึกเฉยๆ ค่อนไปในทางงั้นๆ แต่ทนอ่านไปแล้วกลายเป็นชอบก็มี แต่บางเรื่องพยายามอดทนอ่านเพราะเห็นหลายคนเอ่ยปากชมชอบ และสรรเสริญมากมาย แต่สุดท้ายก็ล่ม เพราะอ่านแล้วจม อ่านเท่าไรใจก็ไม่ชอบ หรือหนักกว่านั้น อ่านไปครึ่งทาง (อันนี้มักเป็นนิยายที่มีมากกว่าหนึ่งเล่มจบ) แล้วพบว่าครึ่งเรื่องช่วงหลังออกทะเล ไม่ก็กลายเป็นอีกรูปรอยที่ไม่ประทับใจเอาซะเลย สุดท้ายก็เลิกอ่านและทั้งหมดที่อ่านมาก่อนหน้านั้นก็เหมือนอ่านไปแบบเปล่าดายก็เคยมาแล้ว
ดังนั้น เวลาอ่านหนังสือ ผมมักจะมีข้อความหนึ่งผุดวูบขึ้นในหัวเสมอ นั่นคือ “ไปต่อ หรือพอแค่นี้?”
“ไปต่อหรือพอแค่นี้?” เป็นคำถามง่ายๆ อาศัยจริต ความชอบ รสนิยมของตัวเองในการตอบ ทุกครั้งเวลาที่อ่านหนังสือแล้วมีคำถามนี้ผุดขึ้นมา สำหรับผม คือหนังสือเล่มนั้นน่าจะมีปัญหา ปัญหาที่ว่านี้อาจไม่ได้หมายความว่าหนังสือเล่มนั้นไม่ดี หรือนักเขียนไม่เก่ง เขียนไม่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ผมพบพานว่ามีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากลต่อการอ่านหนังสือเล่มนั้นต่างหาก
เมื่อช่วงใกล้สิ้นปี ผมฮึกเหิม อยากอ่านนิยายข้ามปี (ถึงกับตั้งโพสต์เชิญชวนเพื่อนๆ ในเพจให้ทำแบบเดียวกัน) และเลือก “The Eye of the World” นิยายเล่มแรกในซีรีส์ The Wheel of Time ของ Robert Jordan ปรมาจารย์และตำนานของนิยายแนว High Fantasy ด้วยความที่หวนรำลึกความหลังเมื่อครั้งอดีตหลายสิบปี ได้คุยกับนักอ่านรุ่นน้องที่ชอบนิยายเรื่องนี้ จนเกิดความรู้สึกกระเหี้ยนกระหือรือ อยากลองอ่านบ้าง
ถามว่าได้อ่านข้ามปีจริงๆ ไหม อ่านข้ามปีจริงๆ ครับ แต่อ่านข้ามปีมาได้สองวัน จำนวนหน้าในการอ่านไม่ขยับไปไหน อยู่ที่ 40 เท่านั้น (ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอีก 31 หน้าและหยุดนิ่งอยู่ที่หน้า 71) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น เกิดจากผมในฐานะคนอ่าน ไม่ได้เกิดจากการเขียน หรือเรื่องราวที่ Robert Jordan รังสรรค์ขึ้นแต่อย่างใดครับ
ผมไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของนิยายแนว Fantasy และหากจะมองย้อนกลับไป นิยายแนวนี้เรื่องเดียวที่ผมอ่านจบครบถ้วน ก็น่าจะมีแค่ The Lord of the Rings เท่านั้นที่ผมอ่านได้จนจบเรื่อง (และจบแค่ภาคหลักนะครับ ส่วนภาคแยก อย่าง The Hobbit และตอนอื่นๆ นั้น ได้อ่านแต่ก็อ่านลวกๆ อ่านข้ามๆ อ่านแบบเหมือนอ่านเอาความเท่านั้น) ดังนั้นการอ่าน The Eye of the World สำหรับผมจึงจำเป็นต้องใช้พละกำลังและจิตใจที่แข็งแกร่งมากพอสมควร ผลที่ได้จึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น
ก่อนหน้านี้ ผมเลือกหยิบ Dune ของ Frank Herbert มาอ่าน แต่อ่านไปได้สี่บท ผมก็บอกศาลา และเก็บหนังสือเข้ากองดองต่อไป เนื่องจากรู้สึกว่าอ่านไปแล้ว ไม่อิน ความรู้สึกยากที่จะเชื่อมโยงกับเรื่อง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับนักเขียนหรือเรื่องราวที่นักเขียน (รวมถึงนักแปลด้วยเพราะ Dune เล่มที่ผมอ่านคือฉบับแปลภาษาไทย) เลยแม้แต่น้อย
ดังนั้น สำหรับเพื่อนๆ ที่มีโอกาสได้อ่านโพสต์ “อ่านข้ามปี” และรอคอยรีวิว “The Eye of the World” จากเพจ Reading Room อยู่ ขอแจ้งว่าอาจจะต้องรอไปแบบยาวๆ รออย่างไม่มีกำหนด เพราะสถานะปัจจุบันของการอ่านนิยายเล่มนี้ของผมนั้นปรากฎคำว่า ‘พอแค่นี้’ แล้ว ต้องขอโทษเป็นอย่างสูงครับ
นอกจากจะยกธงขาว ยอมแพ้อย่างราบคาบแล้ว การยุติการอ่าน “The Eye of the World” ยังสอนให้ผมได้ตระหนักด้วยว่าผมไม่ใช่คอนิยายแนวแฟนตาซีอย่างแท้จริง!
#ReadingRoom #ไปต่อหรือพอแค่นี้
โฆษณา