28 ม.ค. 2022 เวลา 02:12 • ประวัติศาสตร์
กษัตริย์ผู้สั่งประหารพระราชโอรสด้วยการ “ขังในกล่องข้าว”
1
ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) “เจ้าชายรัชทายาทซาโด (Crown Prince Sado)” องค์รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์เกาหลี ได้ทรงปีนเข้าไปในกล่องไม้ที่ใช้เก็บข้าว เนื่องจากเป็นคำสั่งของ “พระเจ้าย็องโจแห่งโชซ็อน (Yeongjo of Joseon)”
“เจ้าชายรัชทายาทซาโด (Crown Prince Sado)” เสด็จพระราชสมภพในปีค.ศ.1735 (พ.ศ.2278) ท่ามกลางความยินดีของชาวเกาหลี
1
ในเวลานั้น “พระเจ้าย็องโจแห่งโชซ็อน (Yeongjo of Joseon)” พระประมุขแห่งเกาหลี มีพระชนมายุ 40 พรรษาแล้ว และการกำเนิดของเจ้าชายซาโด ก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากพระองค์เป็นองค์รัชทายาทและพระประมุขในอนาคต
1
พระเจ้าย็องโจแห่งโชซ็อน (Yeongjo of Joseon)
พระเจ้าย็องโจทรงสำราญพระทัย และเอาพระทัยใส่พระราชโอรสอย่างดี ทรงมีรับสั่งให้ถวายการสอนเจ้าชายซาโดอย่างดี และดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่งเจ้าชายซาโดก็ทรงเฉลียวฉลาด ทำให้หลายคนดีใจ คิดว่าเกาหลีน่าจะมีพระประมุขที่เก่งกาจในอนาคต
สำหรับพระเจ้าย็องโจนั้น พระองค์ทรงผ่านความวุ่นวายในราชสำนักมาก่อน โดยเดิมทีนั้น ไม่มีใครคิดว่าพระองค์จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อพระเชษฐาของพระองค์สวรรคต บัลลังก์จึงตกเป็นของพระองค์
ชาติกำเนิดของพระองค์ก็ไม่ได้ดีนัก เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชโอรสใน “พระเจ้าซุกจงแห่งโชซ็อน (Sukjong of Joseon)” กับสาวใช้ในวัง
ในระบบชนชั้นของเกาหลี พระราชชนนีของพระเจ้าย็องโจนั้น เรียกได้ว่าเป็นชนชั้นล่าง เป็นเพียงสาวใช้ ทำให้พระเจ้าย็องโจเหมือนกับมีประวัติที่ไม่ได้เพียบพร้อมนัก เนื่องจากชาติกำเนิดฝั่งพระราชชนนี
เจ้าชายรัชทายาทซาโด (Crown Prince Sado)
แต่พระเจ้าย็องโจก็ทรงนำประเทศมาได้โดยพยายามให้ทุกคนมองข้ามเรื่องชาติกำเนิด โดยพระองค์ทรงขวนขวาย และได้รับยกย่องว่าเป็นบัณฑิตผู้มีความรู้ และนำพาราชวงศ์โชซ็อนไปสู่ความมั่นคง ภายหลังจากผ่านวิกฤตหลายอย่าง
และเพื่อจะให้พระราชโอรสได้รับการยอมรับเช่นกัน พระองค์จึงทรงคิดว่าพระราชโอรสก็ต้องมีความเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้คน
พระเจ้าย็องโจจึงทรงเข้มงวดต่อเจ้าชายซาโดอย่างหนัก ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าชายซาโดก็ถูกกดดันและเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด
2
พระเจ้าย็องโจมักจะทรงดุเจ้าชายซาโดต่อหน้าที่สาธารณะ แม้ว่าเจ้าชายซาโดจะทรงทำผิดเพียงเล็กน้อยก็ตาม และจากบันทึกในวัง ก็ได้บันทึกว่าพระเจ้าย็องโจไม่เคยตรัสชมเจ้าชายซาโดเลย ไม่ว่าเจ้าชายซาโดจะทรงตัดสินพระทัยอย่างไร พระเจ้าย็องโจก็จะทรงติไปหมด
3
และจากบันทึกนั้น กล่าวว่าเจ้าชายซาโดทรงเป็นผู้ที่มีพระลักษณะเงียบขรึม ขยัน และเชื่อฟังพระราชบิดา และพระเจ้าย็องโจก็พยายามจะผลักดันพระราชโอรสด้วยการให้รับผิดชอบงานสำคัญ และแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการขณะที่เจ้าชายซาโดมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา
พระเจ้าย็องโจเองก็ทรงพบกับความกดดันในราชสำนัก เนื่องด้วยชาติกำเนิดของพระองค์ และความผันผวนทางการเมือง ทำให้พระองค์ต้องทรงรับมือกับข้าราชสำนัก ซึ่งพระองค์ก็ต้องระวังองค์และหาทางเอาตัวรอดตลอดเวลา
พระองค์ทรงทราบดีว่าเจ้าชายซาโด ในฐานะขององค์รัชทายาท ก็ต้องทรงเผชิญกับสิ่งที่พระองค์กำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น พระองค์จึงทรงทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าชายซาโดจะแกร่งและเอาตัวรอดได้
ทางด้านเจ้าชายซาโด พระองค์ก็ทรงหวาดกลัวพระราชบิดาเป็นอย่างมาก พระราชบิดาของพระองค์ทรงดุและเข้มงวด แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้พระราชบิดาทรงหงุดหงิดและลงโทษพระองค์
2
อาจจะเพราะความกดดันเหล่านี้ ทำให้เมื่อเจ้าชายซาโดมีพระชนมายุอยู่ในช่วง 20 กลางๆ พระองค์จึงเริ่มไม่ค่อยปกตินัก
พระองค์ทรงเริ่มใช้ความรุนแรงต่อผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคนที่ต่ำต้อยกว่าพระองค์ เช่น เหล่ามหาดเล็กและคนรับใช้ มีการเฆี่ยนตีคนใช้จำนวนมาก
2
ยิ่งนานวัน พระอารมณ์ของเจ้าชายซาโดก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พระองค์ทรงทุบตีเหล่ามเหสีและคนรับใช้ โดยในปีค.ศ.1761 (พ.ศ.2304) หนึ่งในนางสนมของพระองค์ถูกพระองค์ทำร้ายจนเสียชีวิต
พระเจ้าย็องโจเองก็ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น หากแต่ก็พยายามไม่สนใจ จนในปีค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) ภายหลังจากที่เจ้าชายซาโดทรงมีปัญหา โต้เถียงกับข้าราชสำนักรายหนึ่ง เจ้าชายซาโดก็ได้แอบเข้าไปในพระราชฐานชั้นในส่วนของพระเจ้าย็องโจ เพื่อหาและฆ่าลูกชายของข้าราชสำนักผู้นั้น
1
เริ่มเกิดข่าวลือว่าพระองค์ทรงวางแผนจะปลงพระชนม์พระเจ้าย็องโจ ทำให้ความอดทนของพระเจ้าย็องโจสิ้นสุดลง
พระเจ้าย็องโจทรงมีรับสั่งให้นำกล่องใส่ข้าวสารออกมา จากนั้นพระองค์ก็ทรงมีรับสั่งให้พระราชโอรสปีนเข้าไปอยู่ในกล่อง ซึ่งเจ้าชายซาโดก็ทรงร้องขอชีวิต และเป็นครั้งแรกที่เจ้าชายซาโดทรงเรียกพระเจ้าย็องโจว่า “พ่อ” โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงเรียกพระเจ้าย็องโจว่า “ฝ่าบาท”
แต่พระเจ้าย็องโจก็ไม่ทรงสนพระทัย ทำให้เจ้าชายซาโดต้องปีนเข้าไปอยู่ในกล่องข้าว จากนั้น พระเจ้าย็องโจก็มีรับสั่งให้มัดปากกล่องด้วยเชือก และนำหญ้ามาสุมไว้เหนือกล่อง และให้นำกล่องวางไว้กลางลานของพระราชวัง ตากแดดร้อนๆ
ตลอดเวลาเจ็ดวันต่อจากนั้น มีเสียงของเจ้าชายซาโดดังออกมาจากในกล่องตลอดเวลา เป็นเสียงร้องขอความช่วยเหลือด้วยความเจ็บปวด
1
ในวันที่แปด มีการเปิดฝากล่อง และพบว่าเจ้าชายซาโดได้สวรรคตแล้ว
3
แต่เรื่องราวนี้ นักประวัติศาสตร์หลายคนก็คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องแต่ง ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ภายหลังจากการสวรรคตของเจ้าชายซาโด ผู้ที่เป็นรัชทายาท ก็คือ “พระเจ้าช็องโจแห่งโชซ็อน (Jeongjo of Joseon)” พระราชโอรสในเจ้าชายซาโด
แต่แทนที่จะเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด พระเจ้าย็องโจกลับทรงให้อิสระ และไม่รุนแรงต่อพระเจ้าช็องโจ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ก็คิดว่า พระเจ้าย็องโจอาจจะทรงคิดว่าการที่เจ้าชายซาโดเสียพระสติและมีจุดจบเช่นนี้ ก็มาจากการเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไปของพระองค์
2
พระเจ้าช็องโจแห่งโชซ็อน (Jeongjo of Joseon)
ภายหลังจากที่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าช็องโจก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวัฒนธรรมเกาหลีหลายอย่าง อีกทั้งพระองค์ยังกอบกู้ชื่อของพระราชบิดากลับมาได้อีกด้วย
2
โฆษณา