27 ม.ค. 2022 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
BxH #1 พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์สองยุค...ยางรัก...สงครามฝิ่น...สมเด็จโต
Key Takeaways:
1. ท่านสร้างพระในช่วงที่ไทยนำเข้ารักจากจีน รักที่คลุกกับเนื้อพระต้องไม่ดำสนิท
2. พระปิดตายุคแรกที่สุดต้องแตกลายใยแมงมุม ยุคต่อมาค่อยเนื้อหนึก เพราะเริ่มใช้น้ำมันตังอิ๊วตามสมเด็จโต
3. พุทธคุณในยุคแรกเน้นคุ้มภัย เมื่อสร้างวัดเสร็จต่อมาจึงเน้นสเน่ห์
1
แรกสุด VS แพงสุด... เทียบพิมพ์ปั้นยุคแรกกับพิมพ์ใหญ่หลังแบบ
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์เป็นพระเครื่องที่สะท้อนเรื่องทางประวัติศาสตร์ได้ดี ทั้งยังมีพุทธคุณยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับกันไม่เพียงเฉพาะในหมู่ชาวภาคตะวันออกแต่ทั่วประเทศไทย ถึงขนาดเคยมีผู้ประมูลในราคา 20 ล้านบาทมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทั้งยังเป็นสิ่งที่จุดความสนใจของผมในพระเครื่องขึ้นมาด้วยครับ
ภาพที่เชื่อกันว่าเป็นหลวงพ่อแก้ววัดปากทะเลและวัดเครือวัลย์ ท่านคิดว่าคนเดียวกันหรือไม่ครับ?
หลวงพ่อแก้วท่านเกิดช่วงประมาณปี พ.ศ.2346-พ.ศ.2351 (ช่วงปลายรัชกาลที่ 1) และมรณภาพประมาณปี พ.ศ.2420-พ.ศ.2431 ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี และเคยอยู่ที่วัดปากทะเล จ.เพชรบุรีนานหลายปี แต่เชื่อกันว่าท่านออกพระปิดตาชุดแรกที่วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ชาวบ้านที่ชักลากซุงจากป่ามาถวายเพื่อซ่อม-สร้างวัดเครือวัลย์ที่ท่านกำลังบูรณะหลังจากร้างไป จึงเรียกว่า รุ่น “ลากซุง” หรือ “แลกซุง”
พระในชุดนั้นเป็นพระปิดตาพิมพ์ปั้นทั้งสิ้นเพราะท่านยังไม่ได้สร้างพิมพ์ ซึ่งวันนี้มีมาให้ดูด้วย ต่อมาท่านก็ได้ออกพระปิดตาพิมพ์ปั้นทั้งที่วัดปากทะเล และวัดเครือวัลย์ แต่นั่นยังไม่ใช่พระที่ค่านิยมสูงที่สุด
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ พิมพ์ปั้น ยุคแรก ด้านหน้า
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ พิมพ์ปั้น ยุคแรก
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ เป็นพระเครื่องที่มูลค่านิยมสูงที่สุดของท่านว่ากันว่าแทบไม่มีใครยอมปล่อย และถ้าปล่อยกันองค์สวยๆก็ระดับสิบล้านบาทขึ้นไปเลยทีเดียว แม้กระนั้นก็ตามเพียงแค่มีเงินก็ใช่ว่าจะสามารถหาของแท้มาครอบครองได้ แต่บางท่านแม้นมีเงินไม่มากเพียงนั้นก็อาจเป็นเจ้าของได้หากมีวาสนาเพียงพอ
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ
มีเรื่องสำคัญในการพิจารณาพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์หลักๆ สองเรื่อง คือ
1. รัก - ต้องรักจีนเท่านั้น
ทำไม?... เพราะเมืองไทยมีการนำเข้ายางรักสดจากจีนมาตั้งสมัยยุคค้าสำเภาก่อนรัตนโกสินทร์ เพราะรักจีนเนื้อเนียนกว่า สีสวยกว่า หากมองดูสีจะออกน้ำตาลอมม่วงอมแดง ดูใสวาว ต่างจากรักไทยที่เป็นสีดำ และหนาปื้น ในยุคของหลวงพ่อแก้ว คือ ต้นรัตนโกสินทร์ การค้าสำเภาเฟื่องฟูอย่างมาก รักจีนจึงถูกเลือกใช้ในงานฝีมือต่างๆ จนกระทั่งในช่วงเวลาของรัชกาลที่ 4 ผู้เขียนได้รับฟังจากผู้ใหญ่มาว่า ในยุคของรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 - 2411) มีการห้ามส่งออกรักจีนมายังไทย แต่โชคดีที่เมืองไทยยังมีสต๊อกไว้มาก จึงยังพอหารักจีนใช้ได้อยู่จนถึงช่วงกลางรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 จึงหมดลง
ในความเข้าใจของผู้เขียนคิดว่าการห้ามส่งออกสินค้านั้นอาจเป็นผลมาจาก “สงครามฝิ่น” ในประเทศจีน (ค.ศ. 1839–1842 และ ค.ศ. 1856–1860) ซึ่งผลแห่งสงครามนั้นจีนพ่ายแพ้ และเชื่อว่าเพราะการเสื่อมอำนาจของจีนนี่เองต่อมาสยามประเทศก็เลิกส่ง “จิ้มก้อง” หรือบรรณาการให้แก่จักรพรรดิจีน การไม่ส่งจิ้มก้องนั้น ทำให้การค้าแบบ G to G ไม่มีอีก สำเภาหลวงไปซื้อขายสินค้าไม่ได้ การค้ากับจีนหลังจากนั้นอาศัยพ่อค้าจีนและไทยเชื้อสายจีนที่นำสินค้าที่ชาวจีนในสยามต้องการมาจำหน่าย ผู้เขียนเข้าใจว่า รัก ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในงานฝีมือหรืองานชั้นสูง ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุที่กล่าวมาไม่มากก็น้อย
สงครามฝิ่นบนแผ่นดินจีนราชวงศ์แมนจู จบลงด้วยชัยชนะของจักรวรรดิอังกฤษ
สรุปคือ พระเครื่องตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4 ย้อนขึ้นไป จะต้องใช้รักจีนเท่านั้น (ยกเว้น พระกรุโบราณ)
พระปิดตาพิมพ์ปั้น เนื้อผงจุ่มรัก จะเห็นรักจีนเป็นสีอมม่วงใสที่เคลือบผงพุทธคุณไว้ (ผงอะไรบ้างหาอ่านที่อื่นได้) และแตกลายรานเป็นใยแมงมุม ลายรานลักษณะนี้ทำปลอมให้เหมือนไม่ได้
พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ เนื้อผงคลุกรัก คือเอาผงกับยางรักคลุกกันเลยจนเนื้อเป็นสีนี้ ผมได้ซูมเนื้อแบบ 30X มาให้ดูด้วย ต้องเป็นสีออกน้ำตาลประมาณกะลามะพร้าวขัด ถ้าเนื้อดำ คือรักไทยให้วางครับ
ผิวพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์พิมพ์ใหญ่หลังแบบ ขยาย 30 เท่า
องค์นี้เจ้าของเดิมนำไปชุบรักไทยหนามาก เพื่อปกป้องเนื้อพระ และปิดทอง เมื่อส่องจะเห็นรักไทยสีดำ แตกร่อนตามอายุอย่างเป็นธรรมชาติ และทองที่ปิดมีเนื้อเนียนอย่างทองแท้ (ทองเค texture พื้นผิวจะไม่เนียนอย่างนี้) เริ่มดูสลัวเล็กน้อยให้เห็นว่าปิดทองมานานแล้ว
2. ยุคแรกต้องแตกลายราน ต่อมาต้องหนึก
ทำไม? … หากดูปีเกิดของหลวงพ่อแก้วจะเห็นว่าท่านเกิดภายหลังสมเด็จโตในระยะที่พอถือได้ว่าร่วมสมัย และพระผงของสมเด็จโตในยุคแรกก็จะมีอาการแตกลายรานเช่นกัน ต่อมาจึงมีการแก้ไขโดยให้น้ำมันตังอิ๊วประสาน ผมเชื่อตามผู้ใหญ่ท่านว่าพระที่สร้างหลังจากรุ่นแรกๆมาแล้ว ทั้งที่ออกวัดเครือวัลย์ และวัดปากทะเล ท่านก็จะใช้น้ำมันตังอิ๊วมาแก้อาการแตกลายราน ตามอย่างสมเด็จโต พระของท่านจึงดูหนึกขึ้นนั่นเอง
ในด้านพุทธคุณ ทั้งสององค์ไม่เหมือนกัน
องค์ยุคแรกพลังจะเปล่งแรงแผ่กระจายมากกว่า แบบว่าเผลอๆผีเผ่นกันป่าราบมาใกล้ไม่ได้เลย ให้เห็นถึงความมุ่งหมายเน้นในการปกป้องผู้พกพาจากภยันตรายซึ่งสมัยก่อนในพื้นที่ยังมีมาก
ซึ่งส่วนนี้สอดคล้องกับที่ระบุไว้ในบทความของ ช.อิสสรานนท์ ในหนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาชลปทานธนารักษ์ (ชลปทาน โหตรภวานนท์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ 30 มี.ค.2515 ความว่า
 
“งานโค่นไม้ งานชักลากไม้ในป่า เป็นงานหนักและเหนื่อย หลายครั้งผู้ร่วมงานก็เจ็บป่วย หลวงพ่อแก้วจึงเริ่มสร้างพระปิดตา...ขึ้นเป็นครั้งแรก แจกเป็นกำลังใจให้กับผู้ร่วมงาน
ตอนแจกท่านบอกว่า เอาไว้ป้องกันไข้ป่า ป้องกันภัยจากสัตว์ร้าย หรือโรคร้าย คนที่เอาพระอมไว้ หรือห้อยคอ ลดอันตรายจากไข้และสัตว์ร้ายได้ไม่น้อย ภูตผีปิศาจก็ไม่อาจเข้าใกล้”
ดังนั้น โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า องค์ยุคต้นที่ได้ชมกันวันนี้คือพิมพ์ลากซุงที่แท้จริงครับ
ส่วนพิมพ์ใหญ่ หลังแบบ พลังส่วนมากอยู่ในองค์ มีความซับซ้อนมาก เมื่อจับไปแล้วจะรู้สึกถึงพลัง multi-layered มีมิติมาก ในจุดที่ลึกสุดมีบางอย่างที่ทำให้มึนงง และมีพลังไหลเข้ามาบริเวณกลางท้อง เชื่อว่า เน้นเสน่ห์ โภคทรัพย์ และมีมงคลหลายหลากคุ้มครอง
1
หลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ พิมพ์ใหญ่ หลังแบบท่านเจ้าของถอดกรอบให้ดูครับ
ถามท่านเจ้าของที่ไม่ประสงค์ออกนามให้แล้ว... ทั้งสององค์นี้ เจ้าของท่านบอกว่าไม่ขายครับ
เพจนี้จะพูดถึง การพิจารณาพระเครื่องจากเนื้อหา และมุมมองประวัติศาสตร์ กับพุทธคุณ อิทธิคุณตามความเชื่อและประสบการณ์ส่วนบุคคลเท่านั้น เรื่องอื่นๆและจุดสังเกตผมเชื่อว่ามีผู้อื่นกล่าวไว้มากแล้วครับ จึงขอจบเพียงเท่านี้
เจอกัน EP หน้าครับ
อ.วีร์
โฆษณา