27 ม.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
📱💻 ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Instagram ถูกใช้เป็นพื้นที่เก็บความทรงจำ บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือและรูปภาพเป็นเหมือนการเขียนไดอารี และการแสดงตัวตนของบุคคลผ่านสิ่งเหล่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคใหม่นี้เองก็ใช้พื้นที่นี้ในการโพสต์รูปลูก ๆ เช่นกัน ซึ่งนักวิชาการและนักวิจัยหลายคนระบุว่าแรงจูงใจและสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ยุคนี้นิยมแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับลูกผ่านโซเชียลมีเดียมีหลายข้อ ดังนี้
🙋🏻‍♀️🙋🏻 ความต้องการแสดงออกถึงตัวตนหรือความรู้สึก บางครั้งพ่อแม่อาจรู้สึกโดดเดี่ยวหรือต้องการระบายอารมณ์ ซึ่งการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับลูกนั้นทำให้พวกเขารับรู้ว่ามีพ่อแม่คนอื่นที่คิดและรู้สึกเหมือนกัน
👨‍👩‍👧‍👦👨‍👩‍👦 ความต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อน ครอบครัวและคนอื่นผ่านการให้ข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับลูก
🏆🥇 ความต้องการแสดงความภาคภูมิใจในตัวลูกขณะเดียวกันพ่อแม่บางคนโพสต์ความสำเร็จของลูกเพื่อเติมเต็มคุณค่า สถานะ และตัวตนของตนเอง นอกจากนี้พ่อแม่บางคนต้องการทำให้คนอื่นรู้สึกอิจฉา
🤱🏻👨🏻‍🍼 ความต้องการแสดงความสามารถในการดูแลลูกหรือคิดว่าพ่อแม่คนอื่นไม่รู้วิธีดูแลลูกอย่างถูกต้อง เนื่องจากแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน บางคนจึงแบ่งปันข้อมูลเรื่องการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกในแต่ละช่วงวัย
👍🏻👌🏻👏🏻 ความต้องการให้หรือรับคำแนะนำ ความช่วยเหลือ การยืนยันหรือได้รับการสนับสนุนจากคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองคิดหรือทำ เนื่องจากบางคนขาดความมั่นใจ การแบ่งปันข้อมูลและได้รับความคิดเห็นหรือการตอบรับในทางบวกทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์ และรู้สึกมีความสุขเป็นพิเศษเมื่อเพื่อน ครอบครัวหรือญาติติดตาม ปฏิบัติตามข้อมูลที่แบ่งปันนั้น
👥💬 ความต้องการค้นหาคนที่คิดเหมือนกันในกลุ่มหรือชุมชนบนโลกเสมือน และมีส่วนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนให้ดีด้วยการแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับลูก
📢🛎 ความต้องการผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วยการโปรโมทสินค้าของตนเองเช่น เสื้อผ้าหรือของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการของลูก
👶🏻👧🏻🧒🏻 การที่พ่อแม่ผู้ปกครองโพสต์รูปลูก ๆ บันทึกเรื่องราวการเลี้ยงดู บันทึกพัฒนาการ การเติบโตของลูก ๆ เก็บภาพความน่ารักของลูก ๆ และแบ่งบันความน่ารักนี้ให้กับคนอื่น ๆ ได้เห็น ดูจะเป็นเรื่องราวดี ๆ ใช่ไหมคะ วันนี้ครูจิตพัฒน์อยากจะมาชวนทุกท่านมองอีกมุมนึงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราโพสต์รูปเด็ก ๆ ลงโซเชียลมีเดียกันค่ะ
หากทุกท่านสังเกตใน Facebook หรือ Instagram ของตนเอง จะพบว่าคนที่เราเป็นเพื่อนด้วยหรือกดติดตาม มีทั้งคนที่ชอบโพสต์รูปตนเอง 💃🏻🕺🏻 คนที่ชอบโพสต์รูปสถานที่ สิ่งของ 🏞🌉 คนที่ชอบโพสต์รูปสัตว์เลี้ยงน้องหมาน้องแมว 🐶🐱 โพสต์รูปอาหาร 🍕🍱 และอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบแล้วแต่บุคลิกภาพและความพึงพอใจที่ทุกคนสามารถเลือกตัวตนที่จะแสดงออกมาได้
‼️ แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่ยังไม่สามารถตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็นได้ และยังไม่รู้ว่าพวกเขาจะโตขึ้นมาแล้วมีการพัฒนาบุคลิกภาพไปเป็นแบบใด เขายังไม่ได้เลือกตัวตนที่อยากแสดงออกให้ผู้อื่นเห็น แต่ก็ดันมีรูปของเขาในโซเชียลมีเดียให้เพื่อน ๆ เห็นเต็มไปหมดแล้ว ส่งผลต่อการพัฒนาตัวตนของเด็กในอนาคต ถึงแม้ว่าจะเป็นรูปที่ผู้ปกครองมองว่าน่ารัก น่าเอ็นดู แต่สำหรับตัวเด็กเองอาจจะไม่ได้คิดแบบเดียวกันก็ได้นะคะ ถ้าหากเขาโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นที่ไม่ได้อยากจะเปิดเผยตัวเองในโลกออนไลน์ ถึงตอนนั้นคงต้องมาตามลบกันให้วุ่นเลยค่ะ
✳️*️⃣ และที่สำคัญ ทุกคนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” กันมาบ้างใช่ไหมคะ ในโลกออนไลน์ก็มีคนที่ชอบเราและไม่ชอบเรา ถ้าหากมีการแสดงความคิดเห็นเชิงลบ เช่น ไม่เห็นจะน่ารักเลย ทำไมดื้อจัง นิสัยไม่ดีเลย ทำไมเลี้ยงลูกแบบนี้ ฯลฯ ในรูปภาพของเด็ก เมื่อเขาโตขึ้นและได้มาอ่าน บวกกับเขายังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีคนไม่ชอบตัวเขา และอาจจะมีเพื่อน ๆ ของเด็กนำรูปภาพไปล้อเลียนบูลลี่กันได้ คงสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีและบาดแผลให้กับเด็กได้ไม่น้อยเลยนะคะ ถึงตอนนั้นผู้ปกครองจะสามารถอธิบาย ทำความเข้าใจ และรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นคนสำคัญที่สุดที่จะปกป้องเด็ก ๆ จากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งต่อร่างกายและจิตใจซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการโพสต์รูปของเด็กลงในโซเชียลมีเดีย อย่าลืมนะคะว่าสิ่งที่เราโพสต์ไปแล้วไม่เคยได้ย้อนกลับมาดู มันจะคงอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดไป เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะโพสต์อะไรเกี่ยวกับเด็กลงในโซเชียลมีเดีย อย่าลืมทบทวนก่อนนะคะ ว่าสิ่งที่จะโพสต์นั้นจะมีผลเสียตามมาหรือไม่ ด้วยความห่วงใยจากทีมครูจิตพัฒน์ค่ะ 🤗
By : เจ้าลูกชิ้น 🍡
อ้างอิง
1. การแบ่งปันข้อมูลลูกบนโซเชียลมีเดีย สิทธิเด็กที่พ่อแม่มองข้าม : https://so05.tci-thaijo.org/index.php/balajhss/article/view/253753/172907
2. เรื่องของ “ตัวตน” บนโลกของเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ก: ขอบเขตของ “ตัวตนที่ปรารถนา” และ “ตัวตนที่เป็นจริง” : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jcmag/article/view/220058
3. ‘Sharenting’ เมื่อการโพสต์รูปด้วยความรักของพ่อแม่อาจกำลัง ‘ละเมิดสิทธิ’ ของลูก : https://www.the101.world/the-perils-of-sharenting/
4. โพสต์รูปลูกลงโซเชี่ยลมีเดีย มีผลร้ายกว่าที่คิด : https://www.rakluke.com/family-lifestyle-all/news-update/item/sharenting-child-right.html
โฆษณา