27 ม.ค. 2022 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
รู้จัก ผู้หญิงที่ Bill Gates ยกย่องให้เป็น ฮีโรแห่งประเทศเคนยา
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บิลล์ เกตส์ ได้แชร์เรื่องราวที่น่าสนใจผ่าน GatesNotes เว็บไซต์ของเขาเอง เกี่ยวกับผู้หญิงชื่อ “คาเคนยา นไทยา” ที่ความฝันของเธอได้สร้างอิสระให้แก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอีกหลายคน
2
ทำไมเธอคนนี้ ถึงเป็นฮีโรแห่งเคนยา ในสายตาของ บิลล์ เกตส์
แล้วเส้นทางการเริ่มต้นอย่างกล้าหาญ และเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ เป็นอย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะเล่าให้ฟัง
คาเคนยา นไทยา (Kakenya Ntaiya) เกิดเมื่อปี 1978 ในชนเผ่ามาไซ ซึ่งอาศัยอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งของประเทศเคนยา
ต้องเล่าก่อนว่า วัฒนธรรมและประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานของชนเผ่ามาไซ คือการเลี้ยงดูเด็กผู้ชายให้เติบโตมาเป็นนักรบ นักต่อสู้ และเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงให้เติบโตไปเป็นแม่
เด็กผู้หญิงได้รับการหมั้นหมายตั้งแต่อายุยังน้อย โดยที่พวกเธอไม่มีสิทธิได้เลือก และนไทยาเองก็พบว่าเธอมีคู่หมั้นในอายุเพียงแค่ 5 ขวบเท่านั้น นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เด็กผู้หญิงจากมาไซต้องเจอ
1
เมื่อพวกเธอโตถึงอายุ 12 ปี พวกเธอจะต้องเข้ารับพิธีการขริบอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชนเผ่ามาไซ ที่เชื่อกันว่า เป็นพิธีเตรียมพร้อมสำหรับการแต่งงานและเป็นแม่คน
นอกจากนั้น เด็กผู้หญิงที่ผ่านพิธีนี้จะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าสู่การแต่งงาน พวกเธอถูกสอนให้ทำงานตั้งแต่เด็ก
ไม่ว่าจะเป็น รีดนมวัว ทำอาหาร เก็บฟืน พวกเธอไม่ได้ถูกสอนให้เรียนหนังสือและเลือกอาชีพได้ เพราะหน้าที่ที่พวกเธอถูกวางไว้มีเพียงแค่ “ทำความสะอาดบ้านและเป็นแม่ที่ดีเท่านั้น”
1
แต่นไทยาต้องการอนาคตที่แตกต่างและดีกว่า โดยเธอมีความฝันที่อยากจะเป็นครู
เมื่อถึงช่วงที่ต้องเข้าพิธี เธอได้ยื่นข้อเสนอกับพ่อว่าเธอจะเข้ารับพิธี แต่เธอต้องได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนต่อไป ซึ่งพ่อของเธอยอมรับในข้อเสนอนั้น
เมื่อเวลาผ่านไปเธอยิ่งเห็นเส้นทางอนาคตของเธอมากขึ้น เมื่อเธอได้เจอกับผู้ชายจากชนเผ่าเดียวกันกับเธอ ที่เป็นไม่กี่คนที่มีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา
นไทยาจึงถามเขาออกไปว่า “ฉันต้องทำยังไงถึงจะได้ไปในที่ที่คุณมา”
ในช่วงนั้นพ่อของเธอกำลังป่วยหนัก และผู้ชายทุกคนที่อายุราว ๆ พ่อของเธอก็เริ่มวางแผนอนาคตให้เธอ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ
เธอพยายามศึกษาหาวิธีไปเรียนต่อและหาทุนการศึกษา จนในที่สุดเธอก็ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแรนดอล์ฟ-เมคอน
แต่การที่ผู้หญิงสักคนจะออกไปนอกหมู่บ้านเพื่อเรียนต่อเป็นสิ่งที่ยาก เธอต้องการแรงสนับสนุนจากคนในชนเผ่า เพราะเธอไม่สามารถจ่ายค่าเดินทางได้ด้วยตัวเธอเอง
ดังนั้นเธอจึงเริ่มเข้าไปคุยกับผู้เฒ่าในชนเผ่า และยื่นข้อเสนอว่าเธอจะกลับมาทำทุกอย่างตามที่คนในชนเผ่าต้องการ เพื่อแลกกับเงินสนับสนุนการเดินทางของเธอในครั้งนี้
นไทยาทำสำเร็จ เธอสามารถเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยแรนดอล์ฟ-เมคอน ในสหรัฐอเมริกาได้
ซึ่งหลังจากที่เธอได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย เธอค้นพบว่า ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา พวกเธอมีสิทธิในทรัพย์สินไม่ต่างจากผู้ชาย และพวกเธอมีสิทธิในร่างกายตัวเองอย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้เธอยังพบว่าการขริบอวัยวะเพศในเด็กผู้หญิงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในประเทศเคนยามา ตั้งแต่ปี 2001
แต่ในปัจจุบัน ก็ยังพบการทำพิธีนี้ในบางชุมชนที่ห่างไกลมาก ๆ เช่นเดียวกับชนเผ่ามาไซของเธอ และนี่คือสิ่งที่นไทยาต้องการจะเปลี่ยนแปลง..
หลังจบปริญญาตรี เธอได้เข้าทำงานเป็นที่ปรึกษาเยาวชนให้กับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
และได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอก ด้านการศึกษา จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก หลังจากนั้นเธอกลับมาที่หมู่บ้าน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับเด็กผู้หญิงในชนเผ่าของเธอ
วิธีการของเธอคือ เธอได้ก่อตั้ง โรงเรียน Kakenya’s Dream ขึ้นในปี 2008 ตามความต้องการของผู้หญิงในชนเผ่า นั่นคือ “โรงเรียนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิง” โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่ในการก่อตั้งโรงเรียนจากคนในชนเผ่าของเธอเอง และแน่นอนว่า นี่คือโรงเรียนหญิงล้วนแห่งแรกในชนเผ่ามาไซ
1
ซึ่งนับว่าเป็นจุดผลักดันที่ทำให้เด็กผู้หญิงได้เรียนหนังสือและค้นหาเส้นทางของพวกเธอ ให้โอกาสพวกเธอได้เลือกเส้นทาง ได้ยืนหยัดในสิ่งที่พวกเธอเหล่านั้นต้องการด้วยตัวของพวกเธอเอง
จากการเริ่มปฏิวัติภายในชนเผ่ามาไซของเธอนี้ ทำให้เด็กผู้หญิงอีกหลายร้อยคนได้รับการศึกษา พวกเธอไม่ถูกทุบตี และพวกเธอมีสิทธิและเสรีในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น
“จงกล้าหาญและลุกขึ้น อย่ากลัวและจงมั่นใจ ออกมาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และเพื่ออนาคตที่ยิ่งใหญ่ของลูกหลานในอนาคต” - เธอกล่าวอย่างหนักแน่นในการพูดบนเวที TED Talks ในปี 2013
1
และนี่คือเรื่องราวของเธอ คาเคนยา นไทยา ผู้หญิงที่ท้าทายวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยความกล้าหาญ เพื่อสร้างอนาคตและการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนของเธอ
ซึ่งเรื่องราวของเธอ ทำให้มหาเศรษฐีอย่าง บิลล์ เกตส์ นั้นประทับใจมาก
จนต้องยกย่องให้เธอเป็น “Hero in the field” คนหนึ่ง ของประเทศเคนยา เลยทีเดียว..
References
โฆษณา