28 ม.ค. 2022 เวลา 02:05 • อาหาร
มีใครรู้จักสิ่งนี้บ้าง สาหร่ายน้ำจืด มีชื่อเรียกต่างกันไปแล้วแต่พื่นที่ ไก/เทา สาหร่ายไก/สาหร่ายเทา
ไก หรือ เทา จัดเป็นสาหร่ายน้ำจืด และจัดอยู่ในกลุ่มสาหร่ายสีเขียวชนิดหนึ่งที่นิยมนำมารับประทานในปัจจุบัน และยังนิยมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมของหวานมากมาย
สาหร่ายไก มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Cladophora spp. หรือ Microspora spp. โดยมักมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น โดยคำว่า “ไก” มักใช้เรียกในภาคเหนือ รวมถึงบางพื้นยังนิยมเรียกว่า “เทา” หรือ “เตา” และคำว่า “เทา” หรือ “เตา” มักใช้เรียกในภาคอีสานเกือบทุกจังหวัด ทั้งนี้ สาหร่ายไกหรือเทาจะมีหลายชนิด เช่น ชนิดที่มีเมือกลื่นมือ ทางอีสานจะเรียกว่าเทา หรือ เตา ซึ่งนิยมนำมารับประทาน ส่วนอีกชนิดที่ไม่มีเมือกลื่น ซึ่งเวลาจับจะรู้สึกสากมือนั้น ในบางท้องที่จะเรียกว่า ไก เหมือนกัน ซึ่งชนิดนี้ทางภาคอีสานจะไม่นิยมนำมารับประทาน แต่ทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดน่านมีการนำมาปรุงอาหาร และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน
ลักษณะทั่วไป
สาหร่ายไก หรือ สาหร่ายเทา มีลักษณะเป็นเส้นสายยาวสีเขียวสดคล้ายเส้นด้าย สายไกไม่แตกแขนง แต่บางชนิดจะแตกเป็น 2 ง่าม และจะเพิ่มจำนวนสาย และเพิ่มความยาวไปเรื่อยๆ
ไก
ลักษณะทางโครงสร้างจะประกอบด้วยเมือกหุ้มภายนอก ทำให้รู้สึกลื่นมือเมื่อจับ ส่วนโครงสร้างเซลล์จะมีรูปทรงกระบอก ผนังเซลล์มี 3 ชั้น ประกอบด้วยชั้นใน และชั้นกลางที่เป็นเซลลูโลส ส่วนชั้นนอกจะเป็นเพคโตส ภายในเซลล์มีแวคคิวโอลขนาดใหญ่ที่มีนิวเคลียสภายใน และมีสายไซโตพลาสซึมเชื่อมติดกับผนังเซลล์
ชนิด และการแพร่กระจาย
สาหร่ายไก หรือ สาหร่ายเทา สามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด ทั้งแหล่งน้ำนิ่ง และแหล่งน้ำไหล ที่มีสภาพน้ำสะอาด อาจเป็นน้ำใสหรือน้ำขุ่น และน้ำมีความเป็นกรดเล็กน้อย มักพบในแหล่งน้ำที่มีความลึกไม่เกิน 1 เมตร มีลักษณะลอยตัวตั้งแต่ระดับท้องน้ำจนถึงผิวน้ำ
สาหร่ายไก หรือ สาหร่ายเทา พบมากในทางภาคเหนือ และอีสาน โดยในทางภาคเหนือสามารถพบได้ตามท้องนา หรือ แม่น้ำ เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม รวมถึงแม่น้ำสายย่อยต่างๆ ส่วนทางภาคอีสานพบได้ตามสระเก็บน้ำ ทุ่งนา และแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำสายย่อยต่างๆ
ชนิดสาหร่ายไก/เทาที่นิยมรับประทานหรือแปรรูป
1. ชนิดที่มีเมือกลื่น เส้นจะมีขนาดเล็ก ชนิดนี้มักพบในแหล่งน้ำนิ่งมากกว่าแหล่งน้ำไหล เช่น ทุ่งนา และสระน้ำตื้นๆ นิยมรับประทานทั้งในภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยเฉพาะในภาคอีสาน นิยมนำมาทำอาหารในเมนูชื่อ ลาบเทา
2. ชนิดที่ไม่มีเมือกลื่น เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ชนิดนี้จะพบในแหล่งน้ำไหลมากกว่าแหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งมีขนาดเส้นใหญ่กว่าชนิดแรก นิยมนำมาแปรรูป และรับประทานในภาคเหนือ
การเจริญเติบโต
สาหร่ายไก หรือ สาหร่ายเทาจะเริ่มเติบโต และพบได้ในช่วงปลายฤดูฝนที่น้ำในแหล่งต่างๆเริ่มนิ่งหรือไหลช้า สภาพน้ำเริ่มใส และจะเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจนกว่าน้ำจะแห้งไป แต่โดยทั่วไปจะไม่พบไกหรือเทาในช่วงน้ำหลากช่วงต้นฤดูฝน อาจเนื่องจาก สภาพน้ำขุ่นมาก น้ำไหลแรง และมีความลึก ไม่เหมาะสำหรับการสังเคราะห์แสงของไกหรือเทา ส่วนไกหรือเทาที่พบตามแหล่งน้ำนิ่งตามทุ่งนาหรือสระน้ำก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน คือ เมื่อน้ำแห้งมาก ไกหรือเทาจะไม่สามารถเติบโตได้ และจะเติบโตให้เห็นอีกครั้งในช่วงปลายฤดูฝนที่เริ่มมีน้ำขัง และน้ำมีความขุ่นน้อยแล้ว
การเติบโตของสาหร่ายไก/เทา จะได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงเป็นหลัก โดยจะดึงสารอาหาร และน้ำจากแม่น้ำใช้สำหรับการเติบโต ส่วนการเพิ่มจำนวนมีทั้งแบบอาศัยเพศด้วยการรวมกันของแกมมีท ส่วนการเพิ่มจำนวนแบบไม่อาศัยเพศจะใช้วิธีตัดขาดท่อน แล้วเติบโต และตัดขาดท่อนไปเรื่อยๆ
การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายไก หรือ สาหร่ายเทา
ในภาคเหนือนิยมนำไกมาปรุงอาหาร เช่น แกงไก ห่อหมกไก (แอบไก) คั่วไก/ไกยี รวมถึงแปรรูปเป็นขนมหวานหรือของคบเคี้ยวที่ขายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือ OTOP อาทิ ท้องม้วนไก ข้าวเกรียบไก และสาหร่ายไกอบกรอบ เป็นต้น
ลาบเทา
ที่มาhttps://sites.google.com/site/unanananyaonkum55003137055/xahar-prapheth-tang-khxng-xisan/lab-thea
ส่วนทางภาคอีสานนิยมนำเทา หรือ เตา มาประกอบอาหาร เช่น ก้อยเทา/ลาบเทา แกงเทา เป็นต้น รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คล้ายกับทางภาคเหนือดังที่กล่าวข้างต้น
ประโยชน์ในด้านอื่นๆ
1. นำไก/เทาไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผงสำหรับใช้ผสมอาหาร
2. นำไกไปตากแห้ง นำมาสับผสมรวมกับอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร ไก่ และปลา เป็นต้น
ตากไก
ที่มา:https://steemit.com/food/@phetsamone/how-to-make-khai-phaen-luang-prabang
ไกยี
ถ้าคุณอยากลองทำไกยีเอง เพื่อลองใช้คลุกข้าวหรือโรยข้าวสวยร้อน ๆ แล้วละก็ วิธีทำนั้นง่ายนิดเดียวครับ เพียงย่างไกแห้งด้วยไฟอ่อนจนกรอบ หรือใช้วิธีคั่วในกระทะโดยใช้ไฟอ่อนใช้ตะหลิวคอยพลิกกลับไปมา ประมาณ 3 นาที จากนั้นทำให้สาหร่ายไกที่คุณคั่วจนหอมกรุ่น ป่นเป็นผงและเส้นเล็กๆ ด้วยการใช้มือขยี้ หรือในภาษาไทลื้อ เรียกว่า “ยี” นั่นเอง เสร็จแล้วแยกไว้ทางหนึ่ง ตั้งกระทะคั่วกระเทียมกับน้ำมันเล็กน้อยตั้งไฟอ่อน ๆ จนหอมฉุย แล้วเอาไกยี ที่ป่นไว้ กลับเข้าไปคลุก แล้วแต่งรสด้วยงา กับเกลือป่น คลุกให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จพิธี
คุณค่าทางโภชนาการของไก/เทา (อบแห้ง 100 กรัม)
– ไขมัน (กรัม) : 4.63
– โปรตีน (กรัม) : 19.90
– คาร์โบไฮเดรต (กรัม) : 30.80
– กาก (ใยอาหาร) (กรัม) : 21.50
– เถ้า (กรัม) : 16.90
– ความชื้น (กรัม) : 6.61
• วิตามิน
– วิตามินซี (มิลลิกรัม) : 14.20
– วิตามินบี 1 (มิลลิกรัม) : 0.12
– วิตามินบี 2 (มิลลิกรัม) : 0.45
– กรดโฟลิก (มิลลิกรัม) : 0.14
– กรดแพนโทธีนิก (มิลลิกรัม) : 0.30
– ไนอะซิน (มิลลิกรัม) : 4.40
• เกลือแร่
– แคลเซียม (มิลลิกรัม) : 355.60
– โซเดียม (มิลลิกรัม) : 128.20
– โพแทสเซียม (กรัม) : 349.30
– คลอไรด์ (กรัม) : 4.59
– แมกนีเซียม (มิลลิกรัม) : 182.60
– แมงกานีส (มิลลิกรัม) : 13.28
– เหล็ก (มิลลิกรัม) : 178.60
– สังกะสี (มิลลิกรัม) : 0.89
– ทองแดง (ไมโครกรัม) : 0.28
– ซิลีเนียม (ไมโครกรัม) : 460.40
สรรพคุณจากไก/เทา
มีความเชื่อของผู้รับประทานไกหรือเทาในเรื่องสรรพคุณในหลายด้าน อาทิ
– ช่วยให้ผมดกดำ
– ชะลอความแก่
– ลดอาการปวดเมื่อของร่างกาย
– ลดอาการปวดบวมของบาดแผล
วิธีหาไกนั้น หากเป็นน้ำลึกมากกว่า 0.5 เมตร เกษตรกรจะใช้เท้าเกลี่ยไกลให้ลอยขึ้นด้านบน แล้วค่อยใช้มือสาวเส้นไกมารวบกัน แต่หากเป็นน้ำตื้น เกษตรกรจะใช้มือเก็บสาวไกได้เลย ทั้งนี้ เมื่อเก็บไกรวมกันได้มากแล้ว เกษตรกรจะแกว่งก้อนไกบนผิวน้ำเพื่อทำความสะอาดทำให้เศษวัสดุอื่นๆหลุดร่วงออก
โฆษณา