28 ม.ค. 2022 เวลา 06:47 • ความคิดเห็น
การวางแผนประกันชีวิตในแต่ละช่วงวัยมีผลกระทบอย่างไรต่อ Financial Pyramid ของการวางแผนการเงิน ​
ชมคลิป https://youtu.be/yKZyTjFHAd4
การวางแผนประกันชีวิตในแต่ละช่วงวัย มีความสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงินในทุกด้าน การวางแผนการจัดการโอนย้ายความเสี่ยงเป็นพื้นฐานการวางแผนทางการเงิน ลำดับ 2 ถัดมาจากการจัดการสภาพคล่องซึ่งเป็นสิ่งแรก เป็นรากฐานของปิรามิดทางการวางแผนการเงินที่ทุกคนต้องจัดการ
🌟การวางแผนประกันเกี่ยวข้องอย่างไรกับการวางแผนการเงินด้านอื่น
หากเกิดการเจ็บป่วย แล้วไม่มีประกัน หรือมีประกันไม่เพียงพอ ต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง ส่วนแรกที่กระทบ คือ สภาพคล่องของเงินฉุกเฉินที่เตรียมไว้ในช่วงเวลานั้น กระทบไปถึงเงินลงทุนที่วางแผนการรับผลตอบแทนไว้ หากต้องไถ่ถอนออกมาก่อน อาจได้ผลตอบแทนน้อยหรือขาดทุนได้ กระทบถึงเป้าหมายทางการเงินระยะยาว ต้องมาดึงเงินในส่วนที่เตรียมไว้เป็นทุนการศึกษาบุตรหลาน หรือ เงินที่เตรียมไว้เพื่อการเกษียณของตัวเอง กระทบถึงเงินที่เตรียมไว้เป็นมรดก ตั้งใจจะส่งมอบให้เป็นหลักความมั่นคงในชีวิตของลูกหลาน ก็อาจจะใช้หมดไปกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บป่วยของพ่อแม่ได้
🌟ควรทำประกันเมื่อไหร่ ควรทำมากน้อยแค่ไหน ควรเลือกแผนประกันแบบไหนจึงจะเหมาะกับตัวเรา บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ
ก่อนอื่นขอแบ่งประเภทหมวดหมู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตให้เห็นภาพเพื่อการวางแผนออกเป็น 5หมวด ดังนี้
1️⃣ ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองสูง หรือเรียกว่าแบบตลอดชีพ
แบบนี้เป็นแบบแรกที่ First Jobber ที่เพิ่งมีรายได้ควรซื้อเป็นกรมธรรม์ฉบับแรก เหตุผลคือ รายได้ช่วงแรกของการทำงานยังไม่มากนัก อาจจะมีความสามารถในการออมไม่สูง บางคนยังต้องใช้หนี้กองทุน กยศ. ที่กู้ยืมมาเรียน หรือ ส่งเสียช่วยค่าใช้จ่ายครอบครัวทันทีที่เริมมีรายได้ การประกันมูลค่าความสามารถของบุคคล ควรทำทันทีที่เริ่มมีรายได้ เพราะหากเขาเริ่มหารายได้แล้ว เขาก็มีความสำคัญต่อครอบครัว คือ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในตัวเองนั่นเอง
การทำประกันคือ การปกป้องรายได้ในอนาคตที่เขาจะหาได้ หากเกิดเหตุเขาจากไปแบบไม่คาดฝัน
​บุคคลวัยทำงานในระดับที่เป็นหัวหน้าครอบครัว มีภาระเลี้ยงดูคนในครอบครัวแบบ Sandwich Generation คือ ต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา และเลี้ยงลูกเล็กๆไปอีกหลายปีกว่าจะเรียนจบ ก็มีความจำเป็นที่ต้องมีทุนประกันที่สูงเพียงพอ คุ้มครองความเสียหายหากจากไปกระทันได้ แบบตลอดชีพจึงเหมาะที่สุดเพราะ เบี้ยประกันถูกถ้าเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ
2️⃣ ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คาดหวังทั้งความคุ้มครองและผลตอบแทน
ถึงแม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าผลตอบแทนแบบประกันออมทรัพย์ที่การันตีผลตอบแทนในเวลานี้ไม่ได้สูงมากนัก เพราะเงินส่วนที่บริษัทประกันนำไปลงทุน อยู่ในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดโครงการ 10 หรือ 20 ปี อยู่ที่ประมาณ 1-2.5% แต่แบบประกันออมทรัพย์มีความน่าสนใจคือ เงินคืนระหว่างสัญญาและเงินครบสัญญาของกรมธรรม์ไม่ถูกหักภาษี เหมือนดอกเบี้ยธนาคารหรือดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทำให้อย่างไรก็ตามแบบประกันออมทรัพย์ก็มีผลตอบแทนสูงกว่าการออมในรูปแบบอื่นที่มีระดับความเสี่ยงเท่ากัน
ประโยชน์ของการทำประกันรูปแบบนี้คือ การบังคับให้ออมอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีโอกาสสะสมเงินก้อนในระยะยาวได้อย่างแน่นอน เนื่องจากในสัญญากำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนว่า ต้องออมกี่งวด และ คืนเงินเมื่อไหร่ ที่ผลตอบแทนเท่าไหร่ เป็นการจัดพอร์ตความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ให้วางเงินไว้ในส่วนที่ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกเพิ่มเติมอีก คือ ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Link) ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าแบบออมทรัพย์ แต่ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา ต้องอาศัยความรู้ทางการลงทุนทั้งฝั่งตัวแทนผู้ให้คำแนะนำ และผู้เอาประกันเองด้วยที่ต้องมีความเข้าใจในตัวสินค้าดีพอ
ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์จึงเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองด้วย และต้องการเป้าหมายในการออมพร้อมกันไปด้วย
🌟คนที่เหมาะกับแบบนี้ คือ วัยเริ่มต้นทำงานเริ่มออมในประกันออมทรัพย์ ไปพร้อมกับศึกษาการวางแผนการออมเพื่อลงทุนในรูปแบบต่างๆ อย่างน้อยในระยะ 20 ปี ต่อจากนี้ หากผิดพลาดจากการลงทุน ยังมีเงินอีกก้อนหนึ่งที่ออมคู่ขนานกันมาเป็นเงินก้อนที่มีแน่ๆ รวมถึงระหว่างลงทุนสร้างผลตอบแทน ยังมีประกันเป็นตัวคุ้มครองมูลค่าความสามารถ หากจากไปก่อนวัยอันควร ยังมีเงินเป็นหลักประกันให้คนข้างหลัง
คนอีกกลุ่มที่เหมาะกับแบบออมทรัพย์ แต่เป็นออมทรัพย์ระยะสั้น เช่น 5 ปี 10 ปี คือ คนสูงอายุที่ต้องการบริหารเงินก้อนแบบไม่มีความเสี่ยง แต่ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการออมเงินในธนาคาร ซึ่งแบบออมทรัพย์ระยะสั้นของบริษัทประกันจะมีออกมาในรูปแบบที่ไม่มีทุนประกันคุ้มครอง เน้นผลตอบแทนการออมแบบการันตี คล้ายกับการซื้อพันธบัตร เป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุนำเงินมาหาผลตอบแทนผ่านบริษัทประกัน
3️⃣ ประกันแบบประกันบำนาญ เพื่อวางแผนเกษียณ
เป็นแบบประกันที่เริ่มจ่ายเงินคืนตั้งแต่วัยเกษียณคือ อายุ 55 หรือ 60 ปี ปัจจุบันเริ่มมีแบบประกันที่มีการเริ่มจ่ายบำนาญ ที่อายุ 65 ปี เพราะคาดว่าอายุการทำงานของคนจะต้องยืดออกไปอีก เพราะสุขภาพยังแข็งแรง ยังมีความสามารถ หรือ ยังเตรียมเงินเกษียณไว้ไม่เพียงพอ
แบบประกันบำนาญจะมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะกับการเกษียณโดยตรง คือ มีเงินคืนเป็นรายงวด เป็นกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องตลอดสัญญาช่วงการจ่ายบำนาญ เช่นถึงอายุ 80,85 หรือ 90 ปี ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องบริหารจัดการเงินเหล่านี้ วางแผนการใช้จ่ายได้อย่างแน่นอนว่าจะมีเงินจ่ายเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ และนานกี่ปี
แต่น่าเสียดายที่ประกันบำนาญ ยังได้รับความสนใจน้อย หากไม่ใช้ลดหย่อนภาษี ก็ไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญกับการซื้อประกันแบบนี้มากนัก เพราะคิดว่าเป็นการออมระยะยาวเกินไป ยังจับต้องไม่ได้ ทั้งที่ค่าสถิติทั่วโลกก็ยืนยันแล้วว่าหากเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และไม่มีการทำประกันบำนาญ หรือ มีแหล่งรายได้ประจำหลังเกษียณรองรับ เราต้องลำบากแน่ เพราะไม่สามารถพึ่งพารัฐ หรือ พึ่งพาลูกหลานได้เหมือนคนสูงอายุในปัจจุบัน เนื่องจากโครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนไปแล้ว
4️⃣ ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง
เป็นหมวดที่คนให้ความสนใจทำประกันมากที่สุด อาจมากกว่าการทำประกันชีวิตที่เป็นแก่นหลักของธุรกิจด้วยซ้ำ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว รู้สึกจับต้องได้ เป็นเหตุที่อาจเกิดขึ้นและกระทบการเงิน การใช้ชีวิตของตัวเองทันที ไม่เหมือนประกันชีวิตที่กระทบคนอื่น กระทบคนที่อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่ตัวเองโดยตรง
แต่การเลือกซื้อประกันสุขภาพ ก็เป็นเรื่องที่คนยังลังเลใจว่า ควรซื้อเมื่อไหร่ ซื้อเท่าไหร่ดี มีสวัสดิการอยู่บ้างแล้วควรซื้อเพิ่มไหม เพราะเบี้ยประกันสุขภาพ เป็นเบี้ยที่จ่ายทิ้งไป หากไม่เกิดอะไรขึ้น บางคนก็เกิดความเสียดายเงิน อยากเอาเงินไปทำอย่างอื่น แต่ประกันสุขภาพไม่ใช่เรามีเงินพร้อมหรือเริ่มเห็นความสำคัญแล้วจะสมัครได้ทันที ขึ้นอยู่กับสุขภาพของเราด้วยว่ามีโรคประจำตัวแล้วหรือไม่ บริษัทประกันอาจจะไม่รับในวันที่เราอยากสมัครก็ได้
👉ความคิดที่ว่า ความเจ็บป่วยเกิดกับคนสูงอายุ ไม่ได้ถูกเสมอไป หากเราลองเดินเข้าไปในโรงพยาบาล จะพบว่า มีคนทุกอายุตั้งแต่เด็ก คนวัยทำงาน จนถึงคนสูงอายุ ที่มาพบแพทย์รักษาตัว ดังนั้นความเสี่ยงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องตรวจสอบ และคาดการณ์เอาเอง จัดสรรการชำระเบี้ยในสัดส่วนที่เราคิดว่าเหมาะสมกับรายได้ และความเสี่ยงของเรา และคำนวณถึงเบี้ยประกันที่จะปรับเพิ่มสูงตามอายุด้วย ว่าระยะยาวหากเบี้ยปรับขึ้นเรายังจ่ายได้อยู่หรือเปล่า บางคนประสบปัญหาการเงินฝืดเคืองเมื่ออายุมากขึ้น และไม่สามารถชำระเบี้ยประกันสุขภาพที่ปรับสูงขึ้นตามอายุได้ ทำให้ต้องปล่อยกรมธรรม์ขาดอายุ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมหนักขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม น้อยคนนักที่จะสามารถจ่ายเบี้ยประกันสูงพอที่จะคุ้มครองความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดของตัวเองได้ การซื้อประกันสุขภาพ ทำเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งได้เท่านั้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วย คือ ศึกษาสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐให้มา จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) (https://www.nhso.go.th/) ตรวจสอบว่าเรามีสิทธิ์รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลไหน หากเจ็บป่วยเราสะดวกเดินทางไปไหม ลองเข้าไปรับการรักษาดูก่อนเมื่อเกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อย เราจะได้คาดการณ์ได้ว่า เราควรวางแผนซื้อประกันสุขภาพอย่างไร ควบคู่ไปกับสวัสดิการที่รัฐให้
5️⃣ ประกันการสูญเสียรายได้กรณีเกิด ทุพพลภาพและชดเชยรายได้
ประกันส่วนชดเชยรายได้นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคคลที่ทำงานอาชีพอิสระ หรือเจ้าของกิจการ เพราะหากไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ก็จะขาดรายได้ ไม่เหมือนกับพนักงานประจำที่ยังพอมีเงินเดือนเป็นรายได้ประจำอยู่ ผลกระทบระยะสั้นจึงไม่มากนัก อย่างเช่น หากติดเชื้อโควิด-19 ต้องพักรักษาตัวอย่างน้อย 14 วัน หากไม่มีประกันชดเชยรายได้จากการเจ็บป่วย ครอบครัวที่ต้องพึ่งพารายได้จากเราก็อาจจะลำบากได้
กรณีเกิดทุพพลภาพถาวร เป็นกรณีที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึง เพราะคิดว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่กรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีส่วนยกเว้นการชำระเบี้ยหากเกิดทุพพลภาพ (Waver Premium, WP) แถมให้ในกรมธรรม์ด้วย หรือ ต้องชำระเบี้ยซื้อกรณีอยู่ในขั้นอาชีพเสี่ยง หรือ เป็นผู้ไม่มีรายได้ เช่น นักเรียนนักศึกษา หรือ แม่บ้าน
สัญญาที่มีเงินชดเชยอีกตัวหนึ่งคือ ประกันอุบัติเหตุ ที่พ่วงกับสัญญาหลัก จะมีการชดเชยให้ 10% ของทุนประกันเป็นเวลา 10 ปี หากตกเป็นผู้ทุพพลภาพถาวรตามเงื่อนไขในกรมธรรม์
เหตุแห่งการเกิดทุพพลภาพเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากจะสูญเสียโอกาสในการหารายได้ให้กับตนเองและครอบครัวแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในระยะยาวที่เกิดขึ้นเป็นค่าเลี้ยงดูอีกด้วย
⏰ การเลือกซื้อประกันชีวิตเพื่อโอนย้ายความเสี่ยงตามช่วงวัยจึงต้องพิจารณา ดังนี้
• ทำประกันน้อยเกินไป ความคุ้มครองไม่เพียงพอ เมื่อเกิดเหตุไม่สามารถครอบคลุมความเสียหายได้
• จ่ายเบี้ยประกันในสัดส่วนที่เทียบกับรายได้มากเกินไป ทำให้เสียโอกาสที่นำเงินไปลงทุนในส่วนทีมีโอกาสงอกเงย
• เลือกประเภทแบบประกันไม่เหมาะสมกับความต้องการเพราะขาดความเข้าใจว่า แบบประกันที่ซื้อมีคุณลักษณะที่แท้จริงอย่างไร และ มีแบบไหนอีกบ้างที่เหมาะกับ Lifestyle ของเรามากกว่า
• รออายุมากขึ้นค่อยซื้อประกันเพิ่ม แต่อาจจะสมัครไม่ได้
🎀 การตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาด้วยตัวผู้เอาประกันเอง เพราะจะรู้ดีที่สุดว่าความเสี่ยงของตนเองมีมากน้อยแค่ไหน ส่วนไหนจะรับไว้เอง ส่วนไหนจะโอนออก ไม่มีใครสามารถวิเคราะห์ให้เราได้ดีเท่าตัวเราเอง เพราะแต่ละช่วงของชีวิต เรามีเงินที่จำกัด เงินที่จัดสรรมาในส่วนของการซื้อประกัน ควรใช้ไปกับด้านไหน ความคุ้มครองชีวิต สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล การชดเชยรายได้ หรือวางแผนออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ แบบไหนเหมาะสมที่สุด ไม่มีถูกมีผิด มีแต่ทำด้วยการไตร่ตรองอย่างรอบคอบแค่นั้นเอง
พิชญาภัฐฐ์ AFPT
#ประกันชีวิต #ประกันสุขภาพ #วางแผนการเงิน
#ปิรามิดทางการเงิน #FinancialPyramid
โฆษณา