Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
iYom Biz + Inspiration
•
ติดตาม
29 ม.ค. 2022 เวลา 10:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงิน 100 บาท
จัดพอร์ตลงทุนอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเอง
เข้าปีใหม่มาแล้ว เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะตั้งเป้าหมายในเรื่องการลงทุน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หลายคนอาจจะยังกล้า ๆ กลัว ๆ โดยเฉพาะมือใหม่ ที่อยากจะมาลงทุนในหุ้น
.
โพสนี้จึงอยากจะมาชวนให้ผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้น ให้หันกลับมามองการลงทุนในภาพรวม หรือนั่นก็คือ ให้มองการลงทุน ให้เป็นพอร์ตการลงทุน เพื่อที่จะเห็นถึงภาพรวมของการลงทุน และเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการ เพราะการลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการซื้อหุ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ (หรือแม้จะลงทุนในหุ้นก็มีหุ้นอยู่หลายประเภท)
.
โดยสมมุติว่า ถ้าคุณมีเงินเริ่มต้นลงทุนที่ 100 บาท จะเลือกจัดพอร์ตลงทุนอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเอง
จากไอเดียการจัดพอร์ตทั้ง 5 Level นี้ จะขึ้นอยู่กับ เป้าหมาย อายุ และการยอมรับความเสี่ยงของคุณด้วย
.
แต่ก่อนอื่น สำหรับใครที่ยังเป็นมือใหม่ ผมอยากจะอธิบาย 2 เรื่องหลัก ๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจก่อนจัดพอร์ตลงทุนกันก่อน
1. ลักษณะของสินทรัพย์แต่ละประเภท (เฉพาะที่ใช้ในโพสนี้ครับ)
2. ปัจจัยในการจัดพอร์ตการลงทุน
.
1. ลักษณะของสินทรัพย์แต่ละประเภท
1.1 หุ้น
.
หุ้น หรือ ตราสารทุน เป็นสิ่งที่บริษัทออกมาเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อคุณซื้อหุ้นในบริษัทที่คุณกำลังลงทุน สิ่งที่คุณจะได้รับตอบแทนมีสองอย่าง คือ ส่วนต่างของราคาหุ้น (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend Yield) แต่โดยทั่วไป เป้าหมายของเราส่วนใหญ่ คือ การได้ส่วนต่างของราคา หรือ “ซื้อต่ำและขายสูง”
.
นอกจากนี้ คุณยังสามารถซื้อกองทุนรวม กองทุนดัชนีหรือกองทุน ETF ทั้งในและต่างประเทศ โดยทั้งหุ้นรายตัว กองทุนรวม กองทุนดัชนีและกองทุน ETF มีโอกาสได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง แต่ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน
.
1.2 พันธบัตร หรือหุ้นกู้ (Bond)
.
เมื่อคุณซื้อหุ้นคุณจะกลายเป็นเจ้าของบางส่วนตามจำนวนหุ้นที่ซื้อ ในทางตรงกันข้ามกับพันธบัตร เมื่อคุณซื้อพันธบัตรคุณกำลังเป็นผู้ให้กู้ (เจ้าหนี้) แทนที่จะเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งพันธบัตรโดยหลัก ๆ แล้วจะออกโดยรัฐบาลและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ทำให้โดยทั่วไปจะมีความเสี่ยงที่ต่ำ โดยเฉพาะพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มั่นคง เพราะแทบไม่มีความเสี่ยงที่คุณจะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือสูญเสียเงินต้นเลย
.
ซึ่งพันธบัตรจะมีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกพันธบัตร (ลูกหนี้) สัญญาว่าจะจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตร (เจ้าหนี้) เป็นงวด ๆ ตลอดจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดอายุ และก็เช่นเดียวกับหุ้น คุณสามารถที่จะซื้อพันธบัตรจากผู้ออกโดยตรง (ใช้เงินเริ่มต้นสูง) หรือสามารถซื้อผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรก็ได้ (ใช้เงินเริ่มต้นต่ำ)
.
1.3 เงินสด
.
การมีเงินสดไว้ในพอร์ต จะช่วยให้คุณมีความยืดหยุ่นและสภาพคล่องในการลงทุนเพิ่มขึ้น หรือเรียกง่าย ๆ มีกระสุนพอที่จะเอาไว้ลงทุน เมื่อโอกาสมาถึง แต่การลงทุนที่เรียกว่า เงินสด ไม่ใช่หมายถึง การเก็บไว้ในไหหรือซุกไว้ใต้เตียงหรอกนะครับ แต่การเก็บเงินสด หมายถึงการเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือพันธบัตรระยะสั้น (ซื้อผ่านกองทุนได้เช่นกัน) ที่เน้นในเรื่องการมีสภาพคล่องสูง
.
แต่อย่าปล่อยให้มีเงินสดในพอร์ตคุณมากเกินไป เพราะนั่นหมายถึง เงินของคุณจะลดค่าลง เพราะถูกอัตราเงินเฟ้อกัดกินมูลค่า ในทางกลับกันหากคุณไม่มี เงินสด หรือมีน้อยมาก ๆ อาจจะทำให้คุณ ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ ในกรณีที่ต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน (ทำให้คุณต้องขายการลงทุนสินทรัพย์ตัวอื่น และเสียโอกาสในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ)
.
2. ปัจจัยในการจัดพอร์ตการลงทุน
.
2.1 เป้าหมายของคุณ
หากเป้าหมายของคุณ คือ การเน้นสภาพคล่อง เพื่อสะดวกต่อการใช้เงินในยามจำเป็น การมีเงินสดไว้ในพอร์ตในส่วนที่สูง ดูท่าจะเหมาะมากกว่า แต่ในทางกลับกันหากเป้าหมายของคุณคือ การเกษียณอายุก่อนกำหนด (หรือที่เรียกว่า อิสรภาพทางการเงิน) การลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่มาก เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ดูจะตอบโจทย์คุณมากกว่า
.
แต่ก็อีกนั่นแหละ เราก็มักจะมีเป้าหมายในการลงทุนหลากหลายในเวลาเดียวกัน ทั้งอยากมีอิสรภาพทางการเงิน และก็อยากได้บ้านสักหลัง หรืออยากมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณที่เพียงพอ แต่เราก็อยากให้เงิน ให้มรดก กับลูกหลานของเราด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงต้องคอยจัดสรรเงินในพอร์ตของเราเพื่อปรับให้มันเข้ากับเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ ๆ
.
2.2 อายุของคุณ
สมมติว่า คุณต้องการเกษียณตอนอายุ 57 ปี คุณจะทำอย่างไร ถ้าพอร์ตการลงทุนของคุณลดลงไป 30% เมื่ออายุ 55 ปี ? คุณจะมีเงินจากส่วนอื่น ๆ ที่เพียงพอที่จะสามารถดำเนินตามแผนเดิมของคุณและเกษียณตามที่ตั้งใจตอนอายุ 57 ? หรือคุณจะต้องยืดระยะเวลาการทำงานต่อไปอีก ? ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับเรา ๆ ที่ไม่ได้เป็นนักลงทุนมืออาชีพ เป็นเรื่องไม่ดีแน่ ถ้าพอร์ตการลงทุนของเราผันผวนเมื่อวันที่ใกล้เกษียณ
.
นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงแนะนำให้คุณจัดสรรลงทุนในพันธบัตรให้มากขึ้น เมื่อใกล้เกษียณอายุ หากคุณลงทุนในหุ้นถึง 90% และเหลือเงินสด 5% พันธบัตร 5% เมื่ออายุ 60 ปีพอร์ตหุ้นของคุณก็มีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งในวัยนั้นคุณคงไม่ต้องการความเร้าใจขนาดนั้น
.
แต่หากคุณมีการจัดสรรพอร์ต โดยลงทุนหุ้น 45% ความเสี่ยงของคุณก็จะลดลง และแม้ผลตอบแทนจะลดลงไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้คุณมีชีวิตชีวาในการลงทุนอยู่ แต่การไม่มีการลงทุนในหุ้นเลย ไม่ได้แปลว่า คุณจะไม่เสี่ยงนะครับ เพราะความเสี่ยงของมันคือ การที่คุณอาจจะไม่มีรายได้จากผลตอบแทนเพียงพอให้คุณได้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ
.
2.3 การยอมรับความเสี่ยงของคุณ
กุญแจสำคัญในการคิดเกี่ยวกับการยอมรับความเสี่ยง คือ การสร้างสมดุลระหว่าง นิสัยของตัวคุณเอง (ชอบเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน) กับอีกสองปัจจัยที่กล่าวมาไว้ข้างต้น ทั้งเป้าหมายและอายุของคุณ เช่น หากคุณอายุ 65 ปีและคุณยังรักความตื่นเต้นท้าทาย แต่สิ่งที่คุณต้องให้น้ำหนักมากขึ้น คือ อายุและเป้าหมายของคุณ สำหรับการเกษียนในการปรับกลยุทธ์การลงทุนของคุณด้วย
.
แต่ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้นทำงานในวัย 22 ปี ซึ่งแน่ละคุณอาจจะมีนิสัยที่ยังรักความปลอดภัย เพราะตลาดหุ้นดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณ แต่คุณควรจะแบ่งใจกับการลงทุนในหุ้น เพิ่มสีสันพอร์ตของคุณให้มีชีวิต ชีวามากขึ้น เพื่อให้คุณมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จนกระทั่งถึงวัยเกษียณ
.
2.4 ตรวจสอบและปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุน
สิ่งสำคัญสุดท้าย ในการจัดสรรเงินลงทุนของคุณ เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลและไม่ใช่การตัดสินใจเพียงครั้งเดียวแล้วปล่อยลืม เพราะทั้งอายุที่มากขึ้น และเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คุณต้องทบทวนสัดส่วนพอร์ตการลงทุน
.
และอย่าลืมอีกว่า มูลค่าของพอร์ตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คุณรักความรักตื่นเต้น
ท้าทาย แต่คุณก็ไม่ถึงกับรักความเร้าใจสุด ๆ ทำให้ต้นปีกำหนดพอร์ตไว้ว่ามีหุ้น 80 พันธบัตร 15 และเงินสด 5 แต่ในระหว่างปีคุณมีการนำเงินปันผลที่ได้มาลงทุนในหุ้นต่อ ปิดสิ้นปีอาจจะทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นของคุณเพิ่มมากกว่า 80% หรืออาจเกือบถึง 90% ซึ่งถ้าคุณไม่ตรวจสอบและปรับสัดส่วนการลงทุนอีกครั้ง ก็อาจทำให้คุณไปอยู่ในกลุ่มรักความเร้าใจสุด ๆ โดยไม่ตั้งใจก็ได้ครับ
.
เอาล่ะครับ น่าจะพอเข้าใจในเรื่องแนวคิดของการจัดพอร์ตการลงทุนไปบ้างแล้ว คราวนี้ลองมาดูไอเดียการจัดพอร์ตการลงทุนของคุณ จากเงิน 100 บาท จะเลือกแบบไหน ถามใจเธอดู
.
จัดพอร์ตลงทุนอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเอง
💰 แบบที่ 1 รักความปลอดภัย
สัดส่วนลงทุน : หุ้น 20* : พันธบัตร 50 : เงินสด 30
(*หุ้นขนาดใหญ่ 10, กลาง 5, หุ้นต่างประเทศ 5)
▪ มือใหม่ที่เพิ่งลงทุน
▪ เน้นความมั่นคง รักษาเงินทุนเป็นหลัก
▪ มีความจำเป็นใช้เงินทุนภายในห้าปี
▪ เน้นผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากบ้าง
.
💰 แบบที่ 2 รักความมีชีวิตชีวา
สัดส่วนลงทุน : หุ้น 45* : พันธบัตร 40 : เงินสด 15
(*หุ้นขนาดใหญ่ 15, กลาง 10, เล็ก 10, หุ้นต่างประเทศ 5)
▪ พร้อมรับความเสี่ยงและความผันผวนระดับเริ่มต้น
▪ ลุ้นผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ
.
💰 แบบที่ 3 รักความเติบโต
สัดส่วนลงทุน : หุ้น 65* : พันธบัตร 30 : เงินสด 5
(*หุ้นขนาดใหญ่ 20, กลาง 20, เล็ก 10, หุ้นต่างประเทศ 15)
▪ พร้อมรับความเสี่ยงและความผันผวนระดับที่สูงขึ้นได้
▪ เน้นการเติบโต และมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่สมดุลมากขึ้น
.
💰 แบบที่ 4 รักความตื่นเต้นท้าทาย
สัดส่วนลงทุน : หุ้น 80* : พันธบัตร 15 : เงินสด 5
(*หุ้นขนาดใหญ่ 25, กลาง 20, เล็ก 15, หุ้นต่างประเทศ 20)
▪ นักลงทุนหุ้นที่มีประสบการณ์
▪ ทนทานต่อความตกต่ำของตลาดได้
▪ ไม่ต้องการเงินจากการลงทุน 5 ปีขึ้นไป
.
💰 แบบที่ 5 รักความเร้าใจสุด ๆ
สัดส่วนลงทุน : หุ้น 90* : พันธบัตร 5 : เงินสด 5
(*หุ้นขนาดใหญ่ 20, กลาง 20, เล็ก 20, หุ้นต่างประเทศ 30)
▪ นักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนสูง (เอาชนะตลาด)
▪ ทนทานต่อความผันผวนได้สุด ๆ
▪ ไม่ต้องการเงินจากการลงทุน 10 ปีขึ้นไป
.
❗ หมายเหตุ
1. โพสนี้จะให้ไอเดียการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากสุด คือ หุ้น เพราะเห็นว่าใกล้ตัวเพื่อน ๆ มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน จะมีสินทรัพย์หลายประเภทที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงหรือสูงกว่าหุ้นมาก เช่น น้ำมัน ทองคำ หรือแม้กระทั่งคริปโตเคอเรนซี่ เป็นต้น
2. โพสนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรเงินลงทุนเท่านั้น ผู้สนใจควรต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุนเสมอนะครับ
.
#บริหารการเงินส่วนบุคคล #จัดสรรเงินลงทุน #การลงทุน #iYomBizInspiration
.
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website :
http://iyom-bizinspiration.com
facebook :
https://www.facebook.com/iYomBizInspiration
youtube :
https://www.youtube.com/c/iYomBizInspiration
การเงินส่วนบุคคล
การลงทุน
ตลาดหุ้น
6 บันทึก
7
9
6
7
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย