28 ม.ค. 2022 เวลา 10:25 • คริปโทเคอร์เรนซี
ด่วน “กรมสรรพากร ผ่อนปรนภาษีคริปโท” นำขาดทุนมาหักได้, ผู้ขายไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย
ก่อนหน้านี้ สรรพากรได้ออกมาเสนอแนวทางการเก็บภาษีคริปโท โดยให้คิดจากกำไรเท่านั้น และผลขาดทุนไม่สามารถนำมาหักออกได้
มาวันนี้ สรรพากรได้ออกหนังสือเรื่อง “ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายกำหนด พร้อมผ่อนปรนภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ยึดผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย”
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ก็คือ ให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไร ในปีภาษีเดียวกันได้แล้ว
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก
แล้วมันมีอะไรอีกบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
กรมสรรพากร ได้แบ่งแนวทางการคิดภาษีคริปโท ออกเป็น 3 ข้อ แบ่งออกเป็น
1. ทำให้ชัด
- จัดประเภทเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมทั้งกำไร, รายได้จากการโอน และผลประโยชน์อื่นใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล
- วิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ 2 วิธี
แบ่งออกเป็น
วิธีเข้าก่อนออกก่อน หรือ First In First Out
วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average Cost
โดยเราสามารถเปลี่ยนวิธีการคำนวณได้ แต่ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนในปีถัดไป
- การวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ตามเวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา
โดยสรรพากรก็ได้แจ้งว่าคู่มือสำหรับการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะมีการเผยแพร่ ภายในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
2. ผ่อนปรน
- สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรได้ ในปีภาษีเดียวกัน
แต่ก็มีเพิ่มเติมด้วยว่าจะต้องเป็นการซื้อขายผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้ ก.ล.ต. เท่านั้น
- ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกา ให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรม ที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
3. มองอนาคต
- ศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกหรือแก้ไขกฎหมาย
เช่น ให้ Exchange เป็นผู้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วนำส่งสรรพากร หรือการเปลี่ยนประเภทจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์
โฆษณา