28 ม.ค. 2022 เวลา 14:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
CYBER CRIME: ทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ แก๊งคอลเซ็นเตอร์
รวมคำแนะนำเพื่อป้องกันตนเอง
เรื่องราวของผู้ที่ถูกหลอกจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ หรือทางไลน์ เป็นสิ่งที่ได้ยินผ่านสื่อมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากคิดว่าเป็น “เรื่องไกลตัว” หรือ “เราไม่โดนหลอก” แน่ๆ นั้น คุณอาจคิดผิดก็ได้ เพราะเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ได้มีเพียงผู้สูงอายุ เด็ก พ่อบ้านแม่บ้าน หรือบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่นักธุรกิจ นักการตลาด แพทย์ พยาบาล ไม่เว้นแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ก็เคยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้มาแล้ว!
ดอกเตอร์นักฟิสิกส์ท่านหนึ่ง ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เล่าว่า
วิธีการของคนเหล่านี้ “ดูสมจริง” มาก การโทรติดต่อเข้ามา และการพูดคุยที่มีการส่งต่อเป็นขั้นเป็นตอนดูน่าเชื่อถือ และใช้จิตวิทยาในการแยกตัวเหยื่อออกจากคนรอบข้าง รวมถึงมีการนำไปเป็นขั้นตอนจนนำไปสู่การโอนเงินไปได้อย่างง่ายดาย และกว่าจะรู้ตัวหรือฉุกคิดก็คือเมื่อวางสายไปแล้วเท่านั้น
1
เหยื่อรายนี้ถูกหลอกว่ามีการส่งของผิดกฎหมายออกนอกประเทศ ภายในมีสมุดบัญชี หนังสือเดินทางที่ระบุชื่อของเหยื่อ จึงต้องทำการตรวจสอบบัญชี และตัวตนการเป็นเจ้าของบัญชีว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย การพูดคุยเป็นไปด้วยความสุภาพ มีการส่งต่อกันเป็นทอดๆ ทั้งกระบวนการตั้งแต่พูดคุยจนหลอกให้โอนเงินสำเร็จภายในการโทรครั้งเดียวและใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง หลังจากวางสายเหยื่อจึงฉุกคิด และโทรสอบถามที่สถานีตำรวจแหลมฉบัง (ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการให้) ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รับทราบทันทีและแจ้งว่าถูกหลอกแล้ว พร้อมแนะนำให้แจ้งความเพื่ออายัดบัญชีต่อไป
1
กลโกงทางโทรศัพท์ มีการพูดถึงหนาหูมากในช่วงนี้ มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ โดยเส้นเรื่องหลักๆ แบ่งเป็น
1. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะ DSI เจ้าหน้าที่ตำรวจเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่แหลมฉบัง ที่มาตรวจสอบผู้ต้องสงสัยในคดีฟอกเงิน
2. เป็นบริษัทขนส่ง โดยเฉพาะ DHL และ ไปรษณีย์ไทย ที่มาแจ้งว่ามีการส่งพัสดุผิดกฎหมายในนามของเหยื่อ หรือ มีบัตรประชาชนหรือเอกสารราชการปลอม หรือแม้แต่การให้โอนเงินเพื่อเคลียร์ของออกจากศุลกากร
ทั้ง 2 จะมีลักษณะที่คล้ายกัน คือหลอกให้ตกใจ ว้าวุ่นใจว่าจะตกเป็นผู้ต้องสงสัย และปลอมเป็นเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการให้ โดยให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยการโอนเงินจากบัญชีต่างๆ ไปไม่เช่นนั้นจะถูกอายัดบัญชีอื่นๆ ทั้งหมด
พิรุธใหญ่ที่สุด และข้อสังเกตเพื่อการระมัดระวังสำหรับกรณีนี้ คือ
1
DSI หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่รับดำเนินคดี หรือดำเนินการให้ทางโทรศัพท์ หรือทางไลน์อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตามคิดไว้ก่อนเลยว่า “ปลอม” เจ้าหน้าที่มีงานเยอะเกินกว่าจะมาทำงานให้เคสเราทางโทรศัพท์แบบนี้! รวมถึงการให้โอนเงินเป็นหลักประกัน และจะคืนให้ในภายในไม่กี่ชั่วโมง ก็เป็นกระบวนการที่ไม่มีอยู่จริงในระบบราชการไทย
การติดต่อจากหน่วยงานราชการ จะต้องมีหนังสือตราครุฑอย่างเป็นทางการส่งมาถึงเรา มีเบอร์ติดต่อหน่วยงานชัดเจน มีชื่อเจ้าหน้าที่ชัดเจน และเราต้องยืนยันตัวตนในช่องทางปกติ ไม่มีช่องทางโทรศัพท์ในทุกกรณี หากมีการนำบัตรประชาชนของเราไปเปิดเบอร์ หรือกระทำการทุจริต/อาชญากรรมจริง เมื่อเป็นคดีจะมีหนังสือแจ้ง เรียกเชิญเพื่อพบเจ้าหน้าที่ที่หน่วยงาน แต่จะไม่มีการดำเนินคดีโทรศัพท์แน่นอน หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามกลับทางช่องทางอย่างเป็นทางการของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น
เช่น DSI โทร 0-2831-9888 เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/DSI2002
ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร 1599 เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/PCTPOLICE
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี - บก.ปอท. 02-142-2556 หรือ 02-143-8078 เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/jahooktcsd/
1
DHL โทร 02-029-0999 (แผนก e-commerce) เว็บไซต์ https://www.dhl.com/th-th/home/customer-service.html
Line หรือเบอร์โทรที่ให้ติดต่อประสานงานเป็นไลน์บุคคล ไม่ใช่ Official Account ไม่ว่าจะตั้งชื่อไลน์ หรือภาพโปรไฟล์เป็นภาพนายตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่อะไรก็เชื่อถือไม่ได้ทั้งนั้น ขอให้สังเกตให้ดี เพราะหากเป็นบริษัทจริง ปกติจะให้ติดต่อผ่านไลน์หลักของบริษัท หรือ Official Social Media เช่น Facebook, Twitter ทางหลังไมค์ (Inbox)
บัญชีที่ให้โอนไป เป็นบัญชีชื่อบุคคล (ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีม้า) ไม่ใช่ชื่อองค์กร หรือหน่วยงาน ซึ่งจุดนี้เวลาที่มิจฉาชีพแจ้งวิธีโอนเงินจะบอกอย่างรวดเร็ว และเร่งให้เราทำตามไปโดยไม่ทันได้คิด และไม่ได้ตรวจสอบ ขอให้ตั้งสติให้ดีก่อนกดโอนใดๆ ทั้งสิ้น
คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงการถูกหลอกจากมิจฉาชีพ
- ไม่รับโทรศัพท์เบอร์แปลก หรือดูเป็นลักษณะของรหัสโทรจากต่างประเทศ หรือการโทรผ่าน VoIP ให้เดาไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และหากสงสัยให้โทรหา Call Center อย่างเป็นทางการของบริษัท/ หน่วยงานนั้นๆ เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
1
- หากมีใครโทรถาม เลขบัตรประชาชน ให้ยืนยันตัวตน อย่าหลงเชื่อบอกข้อมูลส่วนตัวในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีอ้างว่าเป็นผู้ต้องสงสัยฟอกเงิน หรือกรณีเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลจากกิจกรรมต่างๆ
1
- หากมีเจ้าหน้าที่ให้แอดไลน์ส่วนตัว (หลักๆ มักจะบอกว่าให้แอดด้วยเบอร์โทรที่โทรหาได้เลย) ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ควรให้แจ้งผ่านช่องทางปกติของบริษัท
1
- หากมีโทรศัพท์ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งว่ามาจาก DHL หรือหน่วยงานอื่นๆ ให้กด 1 ติดต่อเจ้าหน้าที่ หรือให้ดำเนินการอื่นใด ให้ตัดสายทิ้งได้ทันที ถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการติดต่อเราจะไม่ให้เราเลือก
1
- หากมี link ใดๆ ส่งมาทางข้อความ ห้ามกดเด็ดขาดเพราะอาจเป็น phishing หรือเป็นการนำไปยังเว็บไซต์อื่นๆ เพื่อหลอกลวง หรือการกดยินยอมบอกรับเป็นสมาชิกรายเดือนได้
1
แนะนำให้กดยกเลิกการยินยอมรับ SMS โฆษณาทุกประเภทด้วยการกด *137 แล้วโทรออก (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ทำได้ทุกค่ายมือถือ แต่หากยังได้รับข้อความโฆษณาอยู่ น่าจะมาจากการเปิดระบบ iMessage ที่ยังคงแก้ไขด้วยการกดยกเลิกรับ SMS โฆษณาไม่ได้
1
โดนหลอกแล้วต้องทำยังไงต่อ
หากท่านได้รับความเสียหายจากมิจฉาชีพ ให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดทั้งหมด และนำไปแจ้งความยังสถานีตำรวจในพื้นที่ได้ทุกพื้นที่ (ตรวจสอบ และหาเบอร์สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศได้จาก แอปพลิเคชั่น PolicePhoneBook ที่ดาวน์โหลดได้ทั้งบน iOS และแอนดรอยด์) และให้ติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่ออายัดบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตทันที หากมีการให้เลขบัตรเครดิตไประหว่างการถูกมิจฉาชีพหลอก
ข้อสำคัญคือต้องตั้งสติไม่หลงกลมิจฉาชีพเหล่านี้ และติดตามข้อมูลข่าวสารเสมอว่ารูปแบบการหลอกลวงทางโทรศัพท์มีการพัฒนาไปในทิศทางใด โดยอย่าลืมว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้เล่นกับความกลัว และความรู้สึกของเรา รวมถึงบีบสถานการณ์ทุกอย่างให้จบอย่างรวดเร็วไม่เปิดโอกาสให้เราคิด
1
โฆษณา