6 มี.ค. 2022 เวลา 13:02 • การศึกษา
ประชาชนอย่างเราๆ เสียภาษีอย่างไร
ให้ประหยัดและถูกต้อง ✔
ถึงแม้หลายท่านจะไม่ค่อยอยากรับรู้ หรือเรียนรู้เรื่องภาษี เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก
แต่ที่จริงแล้วเราต้องรู้ว่าเรามีหน้าที่พื้นฐานอย่างไรในรัฐธรรมนูญ เราผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ต้องรู้ว่ามีรายได้เท่าไรที่ต้องเสียภาษี เสียเท่าไร และสุดท้ายจะสามารถประหยัดภาษีได้อย่างไร
โดยทางภาษี แบ่งรายได้ออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่
1) เงินเดือน
2) คอมมิชชั่น
3) ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา
4) ดอกเบี้ย เงินปันผล
5) ค่าเช่าต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน เช่ารถ เป็นต้น
6) วิชาชีพอิสระ เช่น นักบัญชี วิศวกร แพทย์ นักกฎหมาย ที่มีใบประกอบวิชาชีพจากสมาคมนักวิชาชีพต่าง ๆ
7) ค่ารับเหมาก่อสร้าง
8) รายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น เช่น ขายของออนไลน์ ทำร้านอาหาร เป็นต้น
ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า โครงสร้างรายได้ของเราเป็นประเภทไหน เพื่อจะรู้ว่าขั้นต่อไปคือการหักค่าใช้จ่ายจะเป็นอัตราเท่าไร
เช่น สำหรับผู้รับเงินเดือน สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา โดยทางสรรพากรจะกำหนดอัตราว่าสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
หรือสำหรับผู้ที่ทำการค้าขายแบบพาณิชยกรรม สามารถเลือกว่าจะหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือแบบเหมาได้ โดยการหักตามจริงนั้น ต้องทำบัญชีรับจ่ายและแสดงให้สรรพากรพิจารณา แต่หากรายละเอียดในการค้าไม่แน่ชัด สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้
หรือหากมีรายได้สองทาง เช่น เงินเดือนพนักงาน และรายได้จากการรับทำบัญชีอิสระ ก็ต้องนำรายได้จากทำบัญชีอิสระไปรวมกับรายได้เงินเดือนประจำ แล้วยื่นภาษีรวมกัน
ส่วนค่าลดหย่อนทางภาษี ก็มีหลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1. ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัว
2. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
3. ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุน
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มคนรักพรรคการเมือง
5. ค่าลดหย่อนกลุ่มเงินบริจาคตอบแทนสังคม เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น
เพื่อประโยชน์สูงสุดของเรา ควรศึกษาเงื่อนไขค่าลดหย่อนทางภาษีที่เรามีสิทธิได้ลดหย่อนตามกฎหมาย อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับค่าลดหย่อนเพิ่มเติมได้ที่นี่ 👇
และเมื่อเราเริ่มมีรายได้มากขึ้นหรือมีรายได้หลายทาง เราต้องรู้จักวางแผนภาษีล่วงหน้า ว่าต้องจ่ายภาษีแบบไหน ซึ่งวิธีที่ง่ายและเร็วที่สุด คือ การกรอกแบบฟอร์มภาษีรายได้บุคคลธรรมดาทางออนไลน์ด้วนตนเอง สามารถขอรหัสพาสเวิร์ดง่ายๆ ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางเข้าไปที่สรรพากร หากผิดตรงไหน โปรแกรมจะแจ้งเตือน และสามารถสอบถามสรรพากรได้โดยตรงเช่นกันค่ะ
ผู้มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่
📌 บุคคลธรรมดา ที่มีเงินได้ทั้งปี มากกว่า 120,000 บาท (กรณีโสด) และมากกว่า 220,000 บาท (กรณีสมรส) มีหน้าที่ยื่นภาษีตามกฎหมาย แต่เงินที่จะนำมาคำนวณภาษีคือเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ถ้าไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกิน 150,000 บาท นั้นต้องเสียตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด
📌 ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในปีภาษีนั้น โดยทายาทหรือผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบภาษี ตามเงินได้ทั้งปีภาษี
📌 กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และต้องมีเงินได้ทั้งปี ตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยทายาทหรือผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีจากเงินได้ทั้งปี
1
📌 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้ทั้งปีเกิน 60,000 บาท
⛳ วิธีคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ
ขั้นที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อหาเงินได้สุทธิ
สูตรคำนวณ >> รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ขั้นที่ 2 นำเงินได้สุทธิมาเทียบกับอัตราภาษีแบบขั้นบันได แล้วนำเงินได้สุทธิคูณกับอัตราภาษีแต่ละขั้นบันได เพื่อหาว่าเราต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่
สูตรคำนวณ >> เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามขั้นบันได) = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
ยกตัวอย่าง สมมุติเรามีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว 500,000 บาท
150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้น
150,000 บาทต่อมา คำนวณอัตราภาษี 5% เป็นเงิน 7,500 บาท
เราจะเหลืออีก 200,000 บาทสุดท้าย คำนวณอัตราภาษี 10% เป็นเงิน 20,000 บาท
รวมแล้วเป็นภาษีที่เราต้องชำระสุทธิ 27,500 บาท
สำหรับคนที่โดนหักภาษีระหว่างปีไปแล้ว ต้องนำเงินก้อนนั้นมาหักออกจากเงินภาษีที่ต้องจ่าย จะเหลือเฉพาะภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมเท่านั้น
หรือถ้าใครที่มียอดภาษีชำระเกินไปก็จะได้เงินภาษีคืน เราสามารถตรวจสอบยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วระหว่างปีภาษีในเอกสาร 50 ทวิ ซึ่งทางบริษัทหรือนายจ้างจะเป็นผู้ออกเอกสารนี้ให้เราค่ะ
 
เรื่องกำหนดเวลาการยื่นภาษีของบุคคลธรรมดา ถ้าลืมก็สามารถเช็คจากปฏิทินภาษีของเว็บสรรพากรได้นี่ค่ะ 👇
นอกจากนี้ ผู้มีรายได้ประเภท 40(5)-(8) ต้องเสียภาษีครึ่งปีด้วย ซึ่งหมดเขตยื่นเดือน ก.ย. หลายคนมักจะลืม และถูกปรับกันไปตามระเบียบ
 
อย่าลืมนะคะ ภาษีไม่ใช่เรื่องยาก เบื้องต้นเราต้องทราบหน้าที่พื้นฐานในการเสียภาษีของเราก่อน เพื่อทราบวิธีวางแผน และสามารถจัดการการเงินส่วนบุคคลของเราให้ดีที่สุดค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา