29 ม.ค. 2022 เวลา 15:53 • ประวัติศาสตร์
สงครามกลางเมืองอังกฤษ (ep 2)
ยุทธการเอ็ดฮิลล์
เพื่อสร้างกองกำลังฝ่ายตน รัฐสภาจึงได้ออกกฏหมายระดมทหารอาสา โดยให้กองกำลังส่วนตัว ที่ตั้งขึ้นโดยพวกพ่อค้ากับเจ้าของที่ดินมาเข้าร่วมกับกองกำลังของขุนนางฝ่ายรัฐสภาเพื่อจัดตั้งเป็นกองทัพของรัฐสภา
ทางด้านกษัตริย์ชาร์ลที่ 1 เมื่อพระองค์ทรงพบว่าในลอนดอนและพื้นที่ใกล้เคียงมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนมาก จึงเสด็จไปประทับที่เมืองยอร์ค เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน โดยทรงออกพระราชบัญญัติให้ข้าหลวงประจำท้องที่ต่างๆนำกองทหารมาร่วมกองทัพของกษัตริย์
1
กษัตริย์ชาร์ล ที่ 1
กองทัพของฝ่ายกษัตริย์ตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองยอร์คและควบคุมพื้นที่ทางภาคตะวันตกและภาคเหนือของอังกฤษ โดยได้รับการสนับสนุนจากเหล่าขุนนางที่เป็นคาธอลิคและแองกลิกัน(Anglican) ขณะที่ฝ่ายรัฐสภาได้รับการสนับสนุนจากพวกผู้ดีและพ่อค้ารวมทั้งบรรดาช่างฝีมือในลอนดอน, นอร์วิช, ฮัล, พลีมัท และกลูเชสเตอร์ โดยกองทัพฝ่ายรัฐสภามีฐานที่มั่นอยู่ทางภาคใต้ของอังกฤษและยังควบคุมกองทัพเรือไว้อีกด้วย
เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1642 กษัตริย์ชาร์ลทรงให้โรเบิร์ต เบอร์ธี เอิร์ลแห่งลินด์ซี นำทหารม้า 1,000 นาย ทหารราบ 3,000 นาย เข้าตีเมืองท่าคิงสตันบนฝั่งแม่น้ำฮัลล์เพื่อยึดคลังอาวุธของฝ่ายรัฐสภา ที่มีเซอร์จอห์น ฮอตแธม และเซอร์จอห์น เมลดรัมพร้อมทหาร 1,500 นายป้องกันอยู่
กองทัพฝ่ายกษัตริย์เข้าล้อมโจมตีเมืองตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม จนถึง 27 กรกฎาคม ทว่าการที่เมืองแห่งนี้มีแม่น้ำไหลผ่าน ทั้งอยู่ใกล้ทะเล และฝ่ายรัฐสภายังคุมทัพเรือไว้ด้วย จึงทำให้การล้อมเมืองต้องล้มเหลว โดยกองทัพฝ่ายรัฐสภาได้ยกพลออกโจมตี และขับไล่กอง ทัพฝ่ายกษัตริย์ จนล่าถอยกลับไป
หลังกองทัพของพระองค์ล้มเหลวในการเข้ายึดคิงสตันฮัลล์ กษัตริย์ชาร์ลจึงตัดสินพระทัยเคลื่อนทัพใหญ่บุกลงใต้ในเดือนสิงหาคม
ทางฝ่ายรัฐสภาได้ส่งทหารสองหมื่นนายใต้การนำของเอิร์ลแห่งเอสเส็ก บุกขึ้นเหนือ เพื่อเผชิญหน้ากับกอง ทัพกษัตริย์ และเมื่อทราบว่า กษัตริย์ชาร์ลกำลังเคลื่อนทัพไปทางเมืองวอร์เชสเตอร์ เอิร์ลแห่งเอสเส็กจึงได้นำทัพมุ่งหน้าไปทางนั้น
ในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ.1642 ทหารม้าฝ่ายกษัตริย์ 1,000 นาย ใต้การนำของ เจ้าชายรูเพิร์ตแห่งไรน์ พระนัดดาของกษัตริย์ชาร์ล ก็ปะทะกับทัพม้า 1,000 นายที่เป็นกองหน้าของเอสเส็ก ในการรบที่สะพานโพวิค โดยทัพของเจ้าชายรูเพิร์ตได้รับชัยชนะและเข้ายึดวอร์เชสเตอร์ไว้ได้ ทว่าเพราะขาดทหารราบ เนื่องจากทัพใหญ่ตามมาไม่ทัน ทำให้เจ้าชายต้องทิ้งเมือง
หลังการรบที่สะพานโพวิค ทั้งสองฝ่ายพยายามหาทาง ทำให้อีกฝ่าย เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ฝ่ายตนจะได้เปรียบ จนในที่สุด ทั้งสองทัพก็พบว่าตนได้เข้ามาใกล้กองทัพของอีกฝ่ายโดยไม่ได้คาดหมายในวันที่ 22 ตุลาคม
กองทัพฝ่ายกษัตริย์และฝ่ายรัฐสภา จึงได้เปิดศึกกันในวันที่ 23 ตุลาคม ปี ค.ศ.1642 บริเวณพื้นที่ระหว่างเนินเอ็ดฮิลล์(Edgehill) กับหมู่บ้านไคน์ตัน(kineton) ซึ่ง อยู่ในภาคใต้ของวอร์วิคไชร์ในเวสต์มิดแลนด์ทางตะวันตกของอังกฤษ
2
ทัพของกษัตริย์ชาร์ล มีทหารม้าดรากูน800 นาย ทหารม้า 2,500 นาย ทหารราบ 9,100 นาย พร้อมปืนใหญ่ อีก 16 กระบอก ส่วนทัพของเอสเส็ก มีทหารม้าดรากูน 700 นาย ทหารม้า 2,300 นาย ทหารราบ 12,000 นายกับปืนใหญ่อีก 7 กระบอก
สมรภูมิเอ็ดจ์ฮิลล์
แม้ฝ่ายกษัตริย์จะมีปืนใหญ่มากกว่า แต่เนื่องจากที่ตั้งปืนใหญ่เป็นที่ลาดชัน ทำให้ไม่อาจใช้ปืนใหญ่โจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นในตอนบ่าย เจ้าชายรูเพิร์ตได้นำกองทหารม้าเข้าโจมตีและปะทะกับทหารม้าของฝ่ายรัฐสภา ก่อนจะตีอีกฝ่ายถอนร่นไปได้ แต่ทหารม้าของเจ้าชายรูเพิร์ตก็ไม่อาจบุกทำลายแนวรับของทหารราบฝ่ายรัฐสภาได้ กษัตริย์ชาร์ลจึงทรงให้ส่งทหารราบของพระองค์บุกตามไป แต่ก็ไม่เป็นผล
ทั้งนี้ แม้ทหารม้าฝ่ายกษัตริย์จะเหนือกว่าฝ่ายรัฐสภาแต่ทหารราบของรัฐสภาก็มีเสื้อเกราะและอาวุธที่ดีกว่ากองทหารราบของฝ่ายกษัตริย์ จึงทำให้การรบดำเนินไปโดยไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบชัดเจน จนเมื่อใกล้พลบค่ำ ทั้งสองทัพก็ถอยกลับแนวรบ โดยต่างก็ปักหลักอยู่ในแนวรบตลอดคืนกระทั่งถึงตอนเช้า และมีเรื่องเล่ากันว่า เพราะอากาศที่หนาวจัดในคืนนั้น จึงทำให้เลือดจากบาดแผลของทหารที่บาดเจ็บแข็งตัว จนหยุดไหลและทำให้พวกเขารอดชีวิต
2
รุ่งเช้า กองทัพสองฝ่ายก็ถอยออกจากสนามรบ โดยฝ่ายกษัตริย์ถอยกลับที่มั่นบนเนินเอ็ดฮิลล์ ส่วนฝ่ายรัฐ สภาถอยกลับหมู่บ้านไคน์ตัน
ยุทธการเอ็ดฮิลล์ ถือเป็นการรบใหญ่เต็มรูปแบบ ครั้งแรกของสงครามกลางเมืองอังกฤษ การรบครั้งนี้ จบลงโดยไม่มีฝ่ายใดชนะหรือพ่ายแพ้ กองทัพฝ่ายรัฐสภา มีทหารตาย 500 นาย และบาดเจ็บ 1,500 นาย ส่วนฝ่ายกษัตริย์ก็มีทหารตายและบาดเจ็บจำนวนใกล้เคียงกัน
เอิร์ลแห่งเอสเส็กเห็นว่า การรบในสมรภูมิเปิดโล่งจะไม่เป็นผลดีในระยะยาว เนื่องจากฝ่ายตรงข้าม มีทหารม้าที่แข็งแกร่งกว่ามาก จึงตัดสินใจถอยทัพไปยังปราสาทวอร์วิคในเย็นวันต่อมา โดยทิ้งปืนใหญ่ทั้ง 7กระบอกไว้
เมื่อทราบว่าข้าศึกกำลังถอยทัพ เจ้าชายรูเพิร์ตก็ได้นำกองทหารม้าเข้าโจมตีและสังหารทหารที่บาดเจ็บของฝ่ายรัฐสภา ซึ่งตกค้างอยู่ในหมู่บ้านไคน์ตันจนหมด ทั้งยังเข้าโจมตีขบวนขนสัมภาระของฝ่ายรัฐสภา ที่อยู่รั้งท้ายจนเสียหายเป็นอันมาก
อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ชาร์ลไม่ได้เคลื่อนทัพไปวอร์วิค
แต่ให้เคลื่อนพลไปทางลอนดอน ซึ่งเมื่อเอิร์ลแห่งเอสเส็กทราบ ก็รีบเคลื่อนพลไปป้องกันลอนดอนโดยระดมกำลังเสริมจากพวกอาสาสมัครเพื่อป้องกันเมือง
1
เมื่อกษัตริย์ชาร์ลทรงเห็นว่า ลอนดอนแข็งแกร่งเกินจะบุกยึด จึงเคลื่อนพลไปตั้งทัพที่ออกซ์ฟอร์ดและใช้เป็นศูนย์บัญชาการใหม่ของพระองค์
โฆษณา