30 ม.ค. 2022 เวลา 10:30 • อาหาร
“แยมโทงเทง (Cape Gooseberry Jam): ชื่อบ้านนอก หน้าตาประหลาด รสชาติตรงไปตรงมา”
แยม (Jam) หรือผลไม้กวนน่าจะเป็นทางออกในการจัดการผลไม้สุกงอมที่มีจพนวนมากจนกินไม่ทัน เป็นการถนอมอาหารไว้กินยามขาดแคลน รวมทั้งเป็นการแปรรูปผลไม้เพื่อการขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลซึ่งต้องใช้เวลายาวนานในอดีต ปัจจุบันผลไม้สดจากอีกซีกโลกหาซื้อง่ายพอๆ กับแยม แต่การทำแยมก็เป็นสีสันของอาหารโฮมเมด แทนที่จะปล่อยให้เสื่อมคุณภาพคาตู้เย็น แต่การสร้างและบันทึกเรื่องเล่าผลลัพธ์ของมันบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นมากกว่าการถนอมอาหาร เพราะมันคือนิคมอาหารเสมือนจริงที่มีอัตลักษณ์ซึ่งเราสร้างมันด้วยตัวของเราเอง
โทงเทงเป็นผลไม้รสเปรี้ยวอมหวาน ในผลมีน้ำเยอะ กินสดๆให้ความสดขื่น แก้กระหาย พอนำมาทำแยมรสชาติยังคงอมเปรี้ยวอมหวาน เหมาะกับการกินเล่น ทาขนมปัง บิสกิต หรือกินกับข้าวหลาม ข้าวพอง ข้าวเกรียบ ข้าวตัง และข้าวแต๋นก็เข้ากัน
ชื่อ “โทงเทง” กันเลย ซึ่งก็น่ารักดี เชื่อได้เลยว่าต้องเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก เรียกอย่างที่เห็น เรียกอย่างที่มันเป็น เพราะหากชื่อที่มาจากสำนักราชบัณฑิต ส่วนราชการ หรือพ่อค้าต้นไม้มงคลคงไม่พ้นชื่อทำนอง ทองระยิบระยับฟ้า แสงส้มสนธยา ไม่ก็ คลี่ม่านมาศมายาอเมริกาใต้
1
ดีแล้วที่มันได้ขื่อว่า “โทงเทงฝรั่ง” เพราะบ้านเรามีสมุนไพรที่หน้าตาคล้ายกันนี้และชื่อว่า “โทงเทง” อยู่ก่อน คงด้วยการติดดอก ผล รวมทั้งกลีบเลี้ยงที่เรียวแหลมปลายมนในลักษณะห้อยลง ดูๆ ไปก็เหมือนเด็กผู้ชายเวลาไม่นุ่งกางเกง ที่น่าจะเป็นที่มาของ “โทงเทง” แต่ไม่เท่านั้น มันยังมีอีกชื่อเรียกจนได้ คือ “ระฆังทอง” (Cape Gooseberry)
2
ในส่วนของโทงเทงสายพันธุ์ไทยก็มีประโยชน์ไม่น้อย คนโบราณใช้เป็นยาแก้ไข้ ตัวร้อน ขับเสมหะ ร้อนใน แก้เจ็บคอ แก้ไอ และช่วยลดอาการอักเสบในลำคอ
โทงเทงฝรั่งจัดเป็นพืชวงศ์ Solanaceae วงศ์เดียวกับมะเขือและมันฝรั่ง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Berry ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก ออกดอกและติดผลตามซอกใบ ลักษณะห้อยลง ผลทรงกลม เกลี้ยง มันวาว ตอนอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลืองส้ม ลักษณะต่างจากผลไม้ทั่วไปคือ กลีบเลี้ยงสีเขียวติดทนรอบผล โดยจะเปลี่ยนเป็นสีใบไม้แห้งเมื่อผลสุก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก
โทงเทงฝรั่งเป็นพืชท้องถิ่นพื้นที่สูงเขตร้อน เป็นพืชพื้นเมืองแถบประเทศโคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู ชิลี และบราซิล
ลำพังดูหน้าตาของมันใครๆ ก็ต้องคิดว่าเป็นผลไม้ป่า เหมือนๆ กระทกรก คงมีแต่คนบ้านนอกกินกันในพื้นที่เพราะสภาพรวมๆ ไม่ชวนกินนัก การขนส่งหรือเก็บรักษาก็ดูจะไม่ง่ายเลย แต่ที่ไหนได้ เป็นผลไม้มีชาติตระกูลจากต่างประเทศซะงั้น มันคงมาตามหาญาติของมัน พวกมะเขือเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง ข้าวโพด ถั่วลิสง พริกขี้หนู และมะละกอ ที่เดินทางมาจากอเมริกาใต้เข้ายุโรปพร้อมโคลัมบัสเมื่อสี่ห้าร้อยปีที่แล้ว
กลีบเลี้ยงของโทงเทงฝรั่งแม้แห้งเหี่ยวแล้วยังติดขั้วห่อหุ้มคลุมรอบผลของมันแน่น เห็นแล้วนึกถึงผลไม้ป่า พวกกระทกรก ลูกหูกวาง ลูกหว้า ลูกไข่เน่า และ ชำมะเลียง
โดยทั่วไปคนนิยมนำผลสุกไปกินสดหรือทำสลัดผลไม้ ไม่ก็นำไปต้ม เชื่อม หรืออบใส่ในพายหรือพุดดิ้ง รวมทั้งแปรรูปเป็นแยมหรือเยลลี่ ส่วนในเม็กซิโกพบว่ามีการใช้เป็นสมุนไพร โดยนำกลีบเลี้ยงมาต้มเอาน้ำรักษาโรคเบาหวาน
ผลโทงเทงฝรั่งต้มสุกง่าย มียางน้อย รสเปรี้ยวอมหวานเหมาะกับการทำสลัดผลไม้ พาย น้ำผลไม้ สมูทตี้ แยม และเยลลี่
มีแยมโทงเทงฝรั่งไว้กินกับขนมปัง บิสกิต หรือขนมทำจากแป้งหรือข้าวเหนียวตระกูลหลาม ย่าง ปิ้ง ทอด กินคู่น้ำชาหรือกาแฟมื้อเช้าก็รอดตายแล้ว
สิ่งที่ดีที่สุดในความเป็นโทงเทงฝรั่งในสายตาผมก็น่าจะเป็น รสชาติ ถึงแม้มันจะมีกลิ่นเฉพาะซึ่งรบกวนจมูกนิดหน่อยเมื่อกินครั้งแรกๆ แต่รสเปรี้ยวอมหวานในแบบของมันให้ความสดชื่น นึกจินตนาการไปว่า ถ้าเดินไปเรื่อยๆ อารมณ์หลงป่าหน่อยๆ แล้วจู่ๆ ก็เจอเข้ากับต้นโทงเทงฝรั่งที่มีผลสีเหลืองส้มสุกพราวเต็มต้น ความรู้สึกก็คงจะไม่ต่างจากเดินอยู่ท่ามกลางทะเลทรายและพบโอเอซีสตรงหน้า
โฆษณา