30 ม.ค. 2022 เวลา 06:50 • ข่าว
ผลกระทบของเด็กเกิดน้อย และวิธีแก้ไข (ฉบับไม่โลกสวย)
ไม่นานมานี้มีการเผยกราฟสถิติว่าเด็กไทยเกิดต่ำลงเรื่อยๆ ปี 2539 เกิด ประมาณ 1 ล้านคน ในปัจจุบันเหลือเพียง 5 แสนคนเท่านั้น
สถิตินี้จะบอกว่าเป็นปกติก็ได้ เพราะหลายประเทศก็มีกราฟรูปแบบนี้ (ไม่ว่าจะอเมริกา แคนาดา จีน อินเดีย เนปาล ซีเรีย เมียนมาร์ กัมพูชา จีนเป็นประเทศที่น่าห่วงน้อยที่สุด แม้จะอัตราเกิดต่ำลง เพราะเหตุใดผมจะกล่าวภายหลัง) หรือจะสะท้อนสิ่งที่น่ากังวลก็ได้ และหลายคนก็แสดงความกังวลออกมาข้อเสนอที่หลายคนพูดถึงคือรัฐสวัสดิการ นำเข้าแรงงานต่างชาติ ยืดวัยทำงานออกไปเพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เป็นต้น
ผมเองก็กังวลกับปัญหานี้เช่นกัน แต่ที่กังวลพอๆกัน คือข้อเสนอที่บรรดา influencer และนักวิชาการพูดกัน อ่านแล้วเห็นว่าจะหลงทางไปกันใหญ่ จึงอยากให้กลับมาดูสิ่งพื้นฐานบางประการ ก่อนที่จะหลงทางไปมากกว่านี้
- ประการแรก มนุษย์ทุกคน สัตว์ทุกชนิด มีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา และมนุษย์อยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
ในอดีตไม่กี่ร้อยปีมานี้ มนุษย์ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนด้วยเงินก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง แต่มนุษย์ก็หาปัจจัยต่างๆ ด้วยตนเอง มนุษย์อยู่มาได้ตลอด
มนุษย์ในอดีตรู้จักที่จะปรับตัวในสภาพแวดล้อม พึ่งพาตนเองและหมู่ชนที่อาศัยอยู่ด้วย ซึ่งอาจเป็นครอบครัว หรือหมู่บ้าน เพื่อความอยู่รอดของตนเองและส่วนรวม ไม่มีรัฐที่จะมาแจกเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือถ้ามีก็ในระดับต่ำ เผ่าพันธุ์ที่อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ล้วนได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายพันหลายหมื่นปี ประชาชาติใดๆ จะมีพลวัตโดยธรรมชาติของมัน หากไม่ถูกแทนที่หรือแทรกแทรงโดยพลังกดดันอื่นที่ผิดธรรมชาติ
- ประการที่สอง ปัญหาเด็กเกิดน้อย จะไม่ใช่ปัญหา หากไม่ใช่เพราะความกดดันจากระบบทุนนิยมสากล บวกกับการผูกรวมหนี้โดยรัฐ
ระบบทุนนิยมมีระบบที่เรียกว่าเงินกู้ ซึ่งบอกว่าใครที่ไม่มีเงิน ก็เอาเงินไปแล้วใช้คืนในจำนวนมากกว่า หรือเรียกกันว่าดอกเบี้ยนั่นเอง ระบบทุนเชื่อว่าเงินจะต้องขยายไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เงินที่ให้กู้จะต้องเพิ่มขึ้น ไม่มีลดลง (หลายความเชื่อศาสนาจึงห้ามการคิดดอกเบี้ย แต่ในโลกสากลทุกวันนี้ยากจะหลีกเลี่ยงได้)
ในกรณีของบุคคล หนี้อาจสิ้นสุดเมื่อตาย หรือล้มละลาย แต่ทุกวันนี้ยังมีหนี้อีกอันหนึ่ง ซึ่งตายเกิดใหม่ก็ไม่พ้น คือหนี้สาธารณะ ที่เกิดโดยรัฐบาลซึ่งปกครองคนในดินแดนหนึ่งๆ โดยอนุมานว่ารัฐบาลนั้นจะต้องเอาไปทำอะไรบางอย่างที่เกิดผลมากกว่า และเอากลับมาคืนภายหลัง แต่ผลที่มากกว่าจะมาจากไหน?
รายได้หลักของรัฐก็คือเก็บภาษีจาก
1. การทำงานโดยคนที่ควรจะมากขึ้นทุกปี (หรืออย่างน้อยก็ไม่ลดลงมากนัก) ถึงจะไปเก็บภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีที่ดิน แต่นั่นคือต้องอนุมานว่า ที่ดินนั้นมีผลิตภาพ คือต้องมีคนไปทำงานหรือใช้งานอะไรสักอย่างในที่ดิน แล้วเกิดมูลค่าขึ้นมาอยู่ดี
2. ถ้าจำนวนคนไม่เพิ่ม รัฐบาลอาจยกอัตราภาษีที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้น แต่นั่นก็จะไปบีบให้คนทำงานอยู่แล้วมีเงินเหลือน้อยลง การบริโภคโดยธรรมชาติลดลง จึงต้องลำบากเอาเงินภาษีนั้นมาทำมาตรการกระตุ้นอีกที วนซ้ำเรื่อยไป เป็นอันว่าไม่ได้ใช้หนี้สาธารณะ และภาษีที่สูงยังลดแรงจูงใจของแรงงานที่จะเข้ามาไทยอย่างถูกต้อง และคนรายได้สูงก็จะย้ายไปรัฐที่ให้สิ่งจูงใจดีกว่า บริษัทต่างๆ ก็ชั่งใจที่จะลงทุนในประเทศเพราะมีต้นทุนสูงกว่า แหล่งงานก็ยิ่งหายไปอีก ทำให้ประเทศเหลือแต่กลุ่มรายไม่สูงนักและคนซึ่งรอรับการช่วยเหลือจากรัฐ ข้อนี้จึงเป็นเสมือนการฆ่าตัวเอง
3. ถ้าจำนวนคนไม่เพิ่ม การบริโภคต่อหัวจะต้องเพิ่มขึ้น หมายความว่า ค่าข้าวของกินใช้จำเป็นเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำให้ข้อ 2 นี้เพิ่ม รายได้ต่อหัวจะต้องเพิ่มขึ้นด้วยอย่างสัมพันธ์กันไป แต่มันมักจะไม่เป็นอย่างนั้นเนื่องจากฝีมือคนทั้งหมดไม่สามารถพัฒนาให้สมกับค่าแรงที่จะเพิ่มได้โดยเด็ดขาด ดังนั้นก็มี 2 วิธีคือ ประชาชนก่อหนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบมาซื้อของ หรือรัฐบาลกู้เงินมาแจกผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่มีวันจบสิ้น(อย่างที่เกิดแล้วในหลายประเทศ) และมอบภาระหนี้สินให้คนรุ่นต่อไป ไม่ว่าทางไหนก็คือการก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งจะเกิดปัญหาในระยะยาวทั้งสิ้น
เป็นอันว่าจะต้องมีคนทำงานมากขึ้น เพื่อเสียภาษีเท่านั้น จึงจะหนีพ้นความล่มสลายในอนาคต
นอกจากจะมีปัญหาจากการพอกพูนของหนี้สินแล้ว องค์กรการเงินที่มีอิทธิพลในโลก ยังสามารถสั่ง "ขึ้นอัตราดอกเบี้ย" ทำให้ประเทศที่มีเงินกู้ยืมอยู่เดิม มีหนี้เพิ่มเป็นเท่าๆ ตัวได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกกระอัก และถึงกาลล่มสลายได้ ในขณะที่กลุ่มทุนสากลร่ำรวยขึ้น
วันนี้จึงต้องถามว่า เราหลุดพ้นระบบทุนนิยมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ คำตอบของปัญหานี้มีทางเดียวคือ "ต้องเพิ่มจำนวนเด็กให้ได้ ไม่เช่นนั้นฉิบหายแน่นอน"
ย้ำนะครับ "ถ้าจำนวนเด็กเกิดใหม่ไม่เพิ่ม ฉิบหายแน่นอน"
- ประการที่สาม การมีลูกเป็นเรื่องการสร้างครอบครัวของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลจะสั่งได้
จากข้อที่แล้วจะเห็นได้ว่าการมีประชากรเกิดใหม่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของรัฐในระบอบทุนนิยมอย่างมาก แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐที่จะไปจี้ให้ประชาชนมีลูก
แต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีใครถามเหตุผลกับมนุษย์ว่าจะมีลูกทำไม แต่ก็มีเรื่อยมาเป็นพันๆ ปี ถ้าไปย้อนในอดีตว่า คนที่มีลูก 1 คน 3 คน 10 คน เขาตัดสินใจอย่างไร แต่ละคนจะมีเหตุผลของตัวเอง แต่จะไม่มีใครตอบว่าเพื่อชาติ หรือเพื่อผลประโยชน์ที่รัฐจูงใจเลย ปรากฎการณ์ Baby Boomer หลังสงครามโลก ก็เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศที่รัฐบาลจูงใจให้มีลูก
หากวันนี้จะมีคนยกเหตุผลมาพูดกับคู่รักว่า ควรมีลูกเพื่อส่วนรวม คำตอบที่จะได้กลับมาคือ "อยากมีก็มีเองสิ" ความจริงประชาชนในส่วนที่ประสงค์จะมีลูกนั้น หาจังหวะที่จะมีอยู่แล้ว แต่หากสภาพแวดล้อมไม่อำนวย หรือภาระขณะนั้นจะสูงขึ้นจนไม่อาจแบกรับได้ ก็จะชะลอการมีลูกออกไป
เมื่อรู้เช่นนี้ สิ่งที่รัฐต้องทำคือการย้อนกลับไปคิดว่า ภาระอะไรที่ไม่มีในธรรมชาติ ที่รัฐหรือระบบทุนนิยมผลักให้ประชาชนแบกรับ จนเกิดปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
- ประการที่สี่ วัยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงาน
ความคิดที่จะยืดอายุการทำงานให้คนสูงอายุยังทำงานได้ เพื่อหวังช่วยยอดแรงงานในตลาด แม้ว่าจะมีประโยชน์กับบางภาคธุรกิจ ตัวเลขนั้นก็แทนแรงงานวัยฉกรรจ์ได้ยาก ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ในวัยฉกรรจ์มีคือความคาดหวังในอนาคต ด้วยความที่ยังไม่มีจึงต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ทำในหลายสิ่ง และเกิดผลิตภาพมาก อีกทั้งมีเวลาจะพัฒนาทักษะและความชำนาญได้ยาวนาน ตัวอย่างเช่นในประเทศที่เติบโตเช่นจีน และเวียดนาม แรงงานฝีมือที่เอกชนต้องการล้วนสร้างจากเด็กหนุ่มสาวที่เข้าเรียนในสายอาชีพที่สร้างขึ้นมาเฉพาะ ไม่สามารถรับแรงงานที่ไม่มีฝีมือเฉพาะได้
สำหรับวัยสูงอายุ อาจความคาดหวังเช่นนั้นบ้างเป็นรายบุคคลไป แต่รัฐบาลและนายจ้างจะคาดหวังให้มีในภาพรวมไม่ได้ เพราะผ่านช่วงต่างๆ ของชีวิตมาแล้ว อีกทั้งความไม่แน่นอนของอายุและร่างกายทำให้ยากที่จะคาดหวังเช่นนั้น หากรัฐบาลและนายจ้างจะคาดหวังให้ผู้สูงอายุทำงานให้ได้ ก็ต้องมีปัจจัยอื่นๆ เสริม ซึ่งก็ต้องถามว่า จะเป็นการกดดันมากเกินไปหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะมีปัจจัยอื่นเสริมอย่างไร ก็ไม่สามารถทดแทนวัยฉกรรจ์ได้
- ประการที่ห้า สิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้คือ "บริโภค" และ "แบกหนี้สิน"
หลายคนเชื่อว่าเมื่อหุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานที่ลดลง เราจะไม่ต้องการแรงงานมนุษย์อีกต่อไป ในความเป็นจริงแล้วเอกชนอาจพูดเช่นนี้ได้ แต่ไม่ใช่กับรัฐบาล เพราะหุ่นยนต์อยู่ในสถานะของทรัพย์สินของเอกชน และการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะไปอยู่กับเอกชนนั้น(ในฐานะนิติบุคคล)และลูกจ้างที่เป็นคนจริงๆ เท่านั้น
การใช้หุ่นยนต์อาจมีความสำคัญต่อการผลิตในยุคต่อไปเพื่อความแม่นยำและความรวดเร็วหรือลดต้นทุนในบางกรณี แต่สำหรับรัฐแล้ว มันทดแทนพลเมืองจริงๆ ไม่ได้ ตรงนี้ต้องแยกให้ออก
⏺ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากอัตราการเกิดที่ต่ำลงทั่วโลกคืออะไร?
หากมองโลกทั้งใบอย่างองค์รวม กราฟดิ่งลงของการเกิดของประชากร ในขณะที่อัตราหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นแทบทุกประเทศ จะรอวันระเบิดในอีก 10-15 ปีข้างหน้า
การแย่งชิงทรัพยากรจะหนักขึ้น โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติจำเป็น และสัมปทาน ซึ่งเป็นตัวผลิตเงินให้กับบริษัท และรวมถึงทรัพยากรบุคคล หรือแรงงาน จะมีการแย่งกันมากขึ้นเรื่อยๆ
พูดถึงทรัพยากรบุคคล ผมคิดว่าการดึงดูดแรงงานต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในไทย เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่จะไปคาดหวังให้มาทดแทนคนในประเทศไม่ได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าในอนาคตคนในประเทศเกิดปีละ 3 แสนคน แต่เราต้องการคนเกิด 7 แสนคน การที่เราจะนำเข้าแรงงานที่มีฝีมือดีปีละขั้นต่ำๆ 3-4 แสนคนอย่างถาวร (ไม่ใช่เข้าแล้วออก แต่ต้องเข้ามาแล้วอยู่เลย และเพิ่มขึ้นทุกๆปี เพื่อทดแทนเด็กที่เกิดน้อยลงต่อปี และต้องค่าจ้างสูงด้วย มีคุณภาพด้วย) นั้นยากรากเลือด!
ยังไม่นับว่า ถ้าเราจะเก็บภาษีกับแรงงานใหม่เหล่านี้ ก็จะขาดแรงจูงใจให้พวกเขาย้ายประเทศเข้ามา เป็นอันว่าภาษีก็ไม่ได้เต็มอีก แล้วถ้าเขาจะส่งเงินออกนอกประเทศ ก็ห้ามยากอีก
และอย่าลืมว่า ที่เราว่าจะเอาแรงงานเข้า ประเทศอื่นก็คิดเหมือนกัน ทั้งประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่า หรือมีข้อได้เปรียบกว่าไทยก็จะลดแลกแจกแถมเต็มที่ แม้แต่ประเทศที่ไม่พัฒนามากนัก หรือมีสงครามภายใน ก็ยังต้องการคนวัยฉกรรจ์เข้าไปเป็นทหาร และแรงงานทั่วไป ดังนั้นพวกเขาจะพยายามยื้อการยึดครองผู้คนให้มากที่สุด (และดังที่พูดตอนต้นว่าแม้แต่ อินเดีย เมียนมาร์ และกัมพูชา ก็มีปัญหาอัตราการเกิดลดลง แล้วคิดหรือว่าถึงจุดหนึ่งเขาจะไม่หวงผู้คน?) เป็นอันว่า แม้แต่แรงงานชั้นธรรมดาๆ เรายังไม่รู้เลยจะได้พอหรือเปล่า!
ในอนาคตจะมีความพยายามแทรกแทรงและสูบทรัพยากรจากประเทศที่อ่อนแอ และควบคุมคนในดินแดนให้เป็นทาสผ่านหนี้สินภาครัฐและเกมการเงิน การคอรัปชั่นของนักการเมืองจะสูงขึ้นในทุกประเทศที่มีช่องว่างให้ทำ GDP ของทุกประเทศจะถูกปั่นด้วยสินค้าที่ราคาแพงขึ้นๆ แบบไม่มีเหตุผล รัฐทั่วโลกจำเป็นต้องทำเช่นนี้เพื่อหวังให้ราคาที่แพงไปเสริม GDP ต้านกับอัตราส่วนหนี้สินที่เผลอกู้มาแล้ว ทำให้ Debt to GDP ดูเหมือนปกติ ทั้งที่จริงๆ นอนพะงาบแล้ว จะเกิดการผลักดันภาษีทรัพย์สินส่วนครอบครัวต่างๆ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก (ทั้งที่ไม่มีประเทศใดที่เคยใช้แล้วได้รายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลย) เพื่อบีบให้ประชาชนเอาทรัพย์สินออกมาขายเป็นเงิน แล้วหวังจะไปเพิ่ม GDP
เงินออมของประชาชนจะถูกทำลายและการกู้หนี้เพื่อเอามาบริโภคจะถูกส่งเสริม ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กขาดเงินทุนต้องปิดไป คนจะตกงานมากมายและเรียกร้อง Universal Basic Income การผลิตโดยหุ่นยนต์ของบริษัทที่มีทุนหนาจะทำให้ปัจจัยยังชีพเหลือเฟือ แต่คนจะไม่มีเงินซื้อ รัฐสวัสดิการประเภท Universal basic income ระบบเครดิตของรัฐ และการอุดหนุนของประเทศร่ำรวยเหลือเฟือไปสู่ประเทศที่ยากจนกว่า จะเป็นตัวควบคุมให้อำนาจถูกรวมศูนย์ รวมถึงหนี้สินสาธราณะก็จะหนักขึ้นทั้งที่แก้ไขไม่ได้ ความกดดันเรื่องหนี้สินของรัฐ และการแก่งแย่งทรัพยากร (มาสร้างกำไร แล้วเอาไปใช้หนี้ มิใช่มาเลี้ยงมนุษย์) จะทำให้มีสงครามเกิดขึ้นทั่วโลก
แม้ประเทศมหาอำนาจไม่มีประชากรวัยฉกรรจ์ไปรบ แต่ก็จะใช้เทคโนโลยี และใช้สงครามตัวแทนในประเทศที่ตกเป็นเบี้ยล่าง ซึ่งเบี้ยล่างเหล่านั้น คือประเทศที่พลาดไปติดกับดักทางการเงิน จนไม่สามารถหลุดพ้นได้ ต้องยอมสละพลเมืองและทรัพยากรในประเทศทำงานให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของประเทศ หรือองค์กรสากล ความเป็นอิสระของทุกชาติจะถูกทำลายลง แม้แต่สิทธิในการพึ่งพาตนเองของประชาชนก็จะถูกริบไป ทุกอย่างมาจากรัฐ และต้องแลกด้วยหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เจ้าหนี้สะสมอาวุธมากขึ้น เพื่อข่มประเทศที่ด้อยกว่า และประเทศที่ด้อยกว่าก็ใช้กำลังในประเทศควบคุมประชาชนของตัวเองเป็นทอดๆ ไป
ปัจจุบันแม้ทุนนิยมทำให้การผลิตทำได้ดีมาก ผลผลิตเยอะพอจะเลี้ยงทั้งโลกและยังเหลือเก็บอีกมาก แต่เป็นการผลิตเพื่อขาย ไม่ใช่เพื่อเลี้ยงผู้คน ถ้าไม่ได้กำไรก็ทำลายทิ้ง และของที่ละเมิดหลักทุนนิยมก็จะถูกทำลายทิ้ง ดีกว่าปล่อยออกมาแล้วราคาในตลาดตก นั่นคือแนวคิดของการผลิตแบบใช้ทุนนิยมนำ (ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย) และหนี้ที่รัฐกู้กันไปกู้กันมา ก็จะไม่มีการยกให้ฟรีๆ แน่นอน ถ้าเทียบเป็นลูกหนี้ก็คือถ้าใช้คืนไม่ได้ก็ต้องเข้าไปปล้นประเทศ ทำให้ล้มละลาย หรือเป็นทาส เพียงแต่จะหนักเบาขึ้นอยู่กับความกดดันว่ามากระดับไหน หากมองถึงตรงนี้สิ่งที่ผมพูดก็ไม่ได้เกินความจริงเลย
ประเทศที่จะเผชิญหายนะมากที่สุด คือประเทศที่ไม่รู้จักระบบทุนนิยม หรือรู้จักเพียงด้านดี แล้วเข้าไปติดโซ่ตรวนของระบบทุนนิยม วิธีที่เราจะไม่หายนะ คือปลดประเทศจากภาระของระบอบทุนนิยมให้มากที่สุด ในขณะที่ใช้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมให้สูงที่สุด
⏺ แล้วไทยจะแก้อย่างไร? (ในส่วนของเราเอง)
ผมเสนอว่า ให้กลับไปดูที่ปัจจัยสี่
ถ้าเรามีปัจจัยสี่เพียงพอกับคนในประเทศ และควบคุมไม่ให้ราคาสูงเกินไป อัตราการเกิดจะเพิ่มขึ้น เหมือนในอดีต
เขาว่าในอดีตประเทศไทยในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เราต้องทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง แม้ในปัจจุบันเราไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่ต้องดูว่าอะไรทำให้ต้นทุนสูงเกินควร
ผมได้แนบกราฟที่เกี่ยวข้อง 2 อัน เป็นตัวอย่างของแพงจากการเก็บข้อมูลของสหรัฐอเมริกา อันหนึ่งแสดงความสัมพันธ์ของรายได้ หนี้ และค่าใช้จ่ายของประชาชนสหรัฐ เส้นสีแดงคือหนี้ เส้นสีน้ำเงินคือรายได้ลบด้วยค่าใช้จ่ายต่อคน (เหนือเส้นคือมีเงินเก็บ ใต้เส้นคือติดลบ) และสีเขียวคือการนับเอาหนี้เป็นรายรับด้วย จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับมานาน ตั้งแต่ คศ. 1991 แล้ว และปัจจุบันกู้หนี้ก็ยังไม่พอ จากกราฟนี้ส่งสัญญาณที่น่ากลัวมาก
อีกกราฟหนึ่งที่มีเส้นหลายๆสี แสดงค่าใช้จ่ายในครอบครัวตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสิ่งที่ถูกลงคือสินค้าใช้ซ้ำได้ เช่นของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ด้านอื่นๆ ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย ค่าไฟฟ้า ค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลเด็ก ค่าการศึกษาเด็ก และค่าเรียนพิเศษ ต่างสูงขึ้น โดยเฉพาะ 4 อย่างหลัง สูงขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวใน คศ. 2017 เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่แปลกที่ประชาชนจะมีลูกน้อยลง เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเด็กสูงขึ้นโดยไร้การควบคุม (ผมยกสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอิงกับสหรัฐอยู่พอสมควร ในประเทศไทยก็น่าจะมีการเก็บข้อมูลอยู่ ใครสามารถทำกราฟลักษณะนี้มาเผยแพร่ได้จะเป็นประโยชน์ยิ่ง)
ดังนั้นปัญหาของแพงจะมีผลกระทบต่ออัตราการเกิด ผมไม่ได้หมายถึงของแพงเฉพาะคราว เช่น ตรุษจีนแล้วขึ้นราคา แต่หมายถึงการที่ของแพงขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่รู้ตัว สะสมหลายสิบปี หากจะดึงอัตราการเกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องทำให้ค่าครองชีพเหล่านี้กลับมาถูกให้ได้ เริ่มต้นแต่เรื่องอาหาร รัฐบาลอาจจะต้องใช้ประโยชน์จากการเกษตรของประเทศ และพัฒนามันให้เลี้ยงคนจำนวนมาก โดยมีต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ไม่ใช่ขาดทุนแล้วเอาเงินไปอุดหนุน ในระยะสั้นทำได้ แต่ระยะยาวจะลำบาก)
แม้แต่การเกษตรจากนอกประเทศก็ต้องเอามาเสริม ปัจจุบันมีผักจากจีนเข้ามาตีตลาดประเทศเรา ล้วนแต่ราคาถูก รัฐบาลไทยน่าจะไปสำรวจในจีนว่าเขา "ผลิตได้เยอะจนอ้วกแตก" หรือยัง และใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้เอกชนไทยไปชกมวยวัดสู้ แต่รัฐต้องเป็นคนจัดการและต่อรองเอง โดยเป้าหมายคือ ให้คนไทยได้มีอาหารที่ถูกที่สุด (ส่วนของที่ต้นทุนแพง ก็ต้องยกระดับแล้วส่งขายนอกประเทศ มีหลายประเทศที่ไม่ได้ผลิตอาหารได้แบบเรา และพร้อมจะรับซื้อ) อาหารบางชนิด เช่น เนื้อหมู ของไทยต้นทุนสูงกว่าจีน ยุโรป และอเมริกา รัฐบาลจะต้องคิดว่าทำไมราคาของไทยจึงแพง และทำอย่างไรจึงจะดึงต้นทุนออกจากราคาให้มากที่สุด หรือพิจารณานำเข้าบางอย่างที่ใช้แทนกันได้หรือไม่
ผมคาดเดาว่าจีนมีความพร้อมในการ "พอเพียงภายในประเทศ" อย่างมาก และพร้อมจะเผชิญความกดดันทางเศรษฐกิจของคนอื่นๆ ได้ดี ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนก็มีการยุบตัวเองก่อนจะสร้างความเสียหายมากเกินไป ราคาบ้านและที่ดินนั้นหากปล่อยให้แพงเกินความสามารถของประชาชนส่วนใหญ่จะเกิดผลเสียต่อส่วนรวม และจีนยังมีการปราบขบวนการหากินกับการศึกษาอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะหากปล่อยให้การศึกษากลายเป็นการปั่นราคา ขายวุฒิบัตร สร้างความร่ำรวยให้ข้าราชการและเอกชน แทนที่จะเป็นการสร้างบุคคลากรให้ออกไปทำงานสร้างผลผลิตได้ ก็จะกลายเป็นตัวถ่วงชาติและซ้ำเติมความลำบากของประชาชนในอนาคต ประเทศไทยก็ควรทบทวนเรื่องนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการควบคุมราคาน้ำมันของจีน ซึ่งโหดพอควรแต่ให้ผลดีในประเทศมาก
ส่วนยารักษาโรคนั้น เราน่าจะหันมาเพิ่มสัดส่วนภูมิปัญญาไทยให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าแผนตะวันตกไม่ดี เรายังต้องใช้แผนตะวันตกอยู่ แต่ถ้าพูดโดยภาพรวม เป็นการยากที่จะทำให้ทุกคนได้รับการรักษาที่ดีที่สุดโดยไม่ใช้งบประมาณและบุคลากรมหาศาล (ในกรณีสหรัฐอเมริกาก็ได้แสดงในกราฟแล้ว ต่างกันที่สหรัฐอเมริกาใช้ระบบประกันสังคมที่ประชาชนใส่เงินเข้ากองทุนเอง แต่ประเทศไทยเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐบาลออกให้และยังมีระบบบำนาญของข้าราชการจำนวนมาก ซึ่งภาระในอนาคตจะต้องหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้วประเทศเรายังจะเดินตามระบบการแพทย์แบบตะวันตกทั้งหมดได้อยู่หรือ? เดินตามได้แล้วจ่ายไหวไหม? ผมไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่ฝากให้คิด) หรือไม่ก็ต้องลดความละเอียดในการรักษาลงไป ในขณะที่การแพทย์แผนไทยเราใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไม่มีหนี้สาธารณะแม้แต่บาทเดียว
เมื่อข้าวของปัจจัยพื้นฐานถูกแล้ว ไม่ว่ารัฐจะออกมาตรการกระตุ้นให้คนมีลูกหรือไม่ จะชวนชาวต่างชาติมาเป็นพลเมืองหรือไม่ ก็จะมีการลงทุนที่สร้างงานจำนวนมากๆ แห่เข้ามาเอง คนที่อยู่ในประเทศก็จะกล้ามีลูกเอง
นอกจากนี้ ค่าครองชีพถูกยังดีต่อสังคมผู้สูงอายุ จากรูปที่มีแถบกราฟสีเหลืองและสีน้ำเงินแสดงให้เห็นว่า อัตราของผู้สูงอายุในประเทศที่พัฒนาสูงมากๆ(แถบสีน้ำเงิน) น้อยกว่าประเทศทั่วไปอย่างมาก(แถบสีเหลือง) ประเทศที่พัฒนาสูงมากนั้นอาจมีเงิน(อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน)แจกสวัสดิการพอต่อจำนวนผู้สูงอายุในประเทศ แต่ประเทศอื่นๆ หากทำแบบเดียวกันก็จะ "จมธรณี" อย่างแน่นอน นอกจากจะไม่สามารถจัดสวัสดิการที่มีคุณภาพได้แล้ว ก็ไม่พ้นที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มและเพิ่มภาษีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านี้ล้มละลายในที่สุด ประเทศอื่นจะล้มละลายผมก็คงไม่ไปยุ่ง แต่ในฐานะคนไทยอยากเตือนประเทศไทยว่าอย่าได้คิดฆ่าตัวเองแบบเขา หันมาดูแลเรื่องค่าครองชีพดีกว่า ประโยชน์เยอะกว่ากันมาก
สรุปก็คือ หากจะให้ประชากรเกิดมีมากขึ้น รัฐและภาคประชาสังคมต้องหันมาดูว่า จะทำอย่างไรให้ต้นทุนพื้นฐานในชีวิตของประชาชนถูกลง ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง โดยลดจากต้นทุนที่แท้จริง (ไม่ใช่การอุดหนุนเงิน แจกเงิน แจกสวัสดิการ ซึ่งแก้ได้แค่บางจุด แต่สร้างภาระระยะยาว) แล้วจำนวนคนจะเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติตามความพร้อมของครอบครัว โดยไม่ต้องกระตุ้นให้มีลูก หรืออุดหนุนให้พร้อมเร็วขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ เพราะประชาชาติจะมีพลวัตโดยธรรมชาติของมันเอง จงวางใจในมนุษย์
ก่อนจบก็ขอพูดถึงภาคธุรกิจ เป็นที่รู้กันว่าแรงงานฝีมือเป็นสิ่งหายากยิ่งในปัจจุบัน และทั่วโลกต้องการ แน่นอนว่าในบางวงการ เราสามารถดึงตัวคนเก่งๆ จากต่างชาติมาทำงานให้องค์กรของไทยได้ เช่น จ้างโค้ชกีฬามาให้ทีมกีฬาไทย แต่ในเรื่องจำนวนของแรงงานฝีมือนั้นอย่าหวังว่าจะดึงคนประเทศอื่นมา เพราะประเทศที่พัฒนาแรงงานมากับมือ เช่น จีน เวียดนาม เขารู้ว่านี่คือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเขา มีหรือจะปล่อยให้ชาติอื่นชิงไปจำนวนมากๆ ง่ายๆ ถ้าไทยอยากได้ ก็ต้องสร้างเอง และมันจะไม่ทันแน่ ถ้าไม่มีอัตราการเกิดที่เพียงพอมารองรับ ไม่สามารถลัดขั้นตอนได้ ชาติเราควรหันมาจริงจังกับการสร้างทรัพยากรบุคคลทั้งระบบ และหยุดการหากินบนระบบการศึกษาที่ไม่เกิดผลิตผลที่แท้จริงได้แล้ว!
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ไทยจำเป็นต้องแก้เรื่องนี้ เพียงแต่ถ้าไม่แก้ ไทยก็จะไปรวมกับประเทศที่มีปัญหา และรอวันพังเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ผมเพียงไม่อยากให้ไทยไปเสี่ยงอันตรายอยู่ตรงนั้นตราบที่ยังมีเวลาเหลือ หวังว่าข้อเขียนของผมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม เพื่อทราบถึงข้อควรระวังและแนวทางการแก้ไขปัญหาได้โดยไม่หลงทิศทาง
โฆษณา