30 ม.ค. 2022 เวลา 12:46 • ธุรกิจ
LVD149: 20 ข้อคิดจากหนังสือแปดสิ่งที่คนเก่งมากๆมีร่วมกัน ตอนที่ 1 (10 ข้อคิดแรก) #แปดสิ่ง
สวัสดีครับทุกท่าน แล้วก็ขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่จีนทุกท่านไปพร้อมกัน ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจครับ สำหรับวันนี้ ผมอยากจะมาชวนทุกท่านมาคุยถึงหนังสือตัวจี๊ดเล่มหนึ่งที่ผมเลือกอ่านเป็นเล่มแรกของปีนี้ และไม่ผิดหวังเลย ผมกำลังพูดถึงหนังสือชื่อยาวเล่มหนาแต่เนื้อหากระชับกระแทกแก่นชื่อ “แปดสิ่งที่คนเก่งมากๆมีร่วมกัน” หนังสือคนไทยที่ขึ้นเป็น Best Seller ในแผงชั้นนำอย่างรวดเร็วนั้น จะจี๊ดยังไงต้องตามมาดูครับ
คือมันอย่างนี้ครับ…
ก่อนที่จะเข้าเนื้อหา ผมอยากจะพูดถึงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ซักหน่อย นั่นก็คือ คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา หรือคุณอ๋อง ส่วนตัวผมเองผมมีความคุ้นเคยกับพี่อ๋องอยู่แล้ว เพราะเราเรียน MBA ธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกัน ตั้งแต่สมัยเรียนพี่อ๋องแสดงความโดดเด่นจากความฟิตเหนือมนุษย์อยู่แล้ว เพราะแกมาเต็มมากโดยเฉพาะตอนทำสไลด์มาที 40-50 หน้า หลังจากนั้น พี่อ๋องได้สร้างชื่อผ่านการทำ Hardware Startup ที่ชื่อว่า Nasket และได้สร้างชื่อเสียงมากมายทั้งระดับประเทศและภูมิภาค
สิ่งหนึ่งที่ผมกล้ายืนยันในฐานะที่เป็นคนที่เคยรู้จักกับผู้เขียนมาตั้งแต่สมัยไม่ดังละกัน คือ พี่อ๋องเป็นคนที่มีพลังเกินมากๆ และลงมือทำจริงๆ ล้มจริงๆเจ็บจริงๆและสำเร็จจริงๆ ประสบการณ์ที่ถูกกลั่นมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ควรค่าอย่างยิ่งในการอ่าน คุณจะไม่รู้สึกเสียเวลาเลย ด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์จัดๆ ตรง สั้น แรง คมกริบ ที่สำคัญมันมาจากการตกผลึกจริงๆ
ผมคิดว่านี่เป็นหนังสือ The Hard Things about Hard Thing ของคนไทยได้เลย ในการรีวิวหนังสือเล่มนี้ผมอยากสรุปข้อคิดที่ผมได้ออกมา 20 ข้อและแน่นอนว่าผมผสมความเห็นส่วนตัวผมลงไปด้วยแต่บางข้อก็อาจจะลอกมาเลยทั้งดุ้นเพื่อไม่ให้เสียความหมายและรสชาติ โดยผมจะแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนละ 10 ข้อ วันนี้จะเป็นตอนแรก มาเริ่มกันเลยครับ
20 ข้อคิดจาก #แปดสิ่ง ตอนที่ 1 (10 ข้อ)
1. ว่าด้วยเรื่อง "กึ๋น" มันคือ ความต่างระหว่างผู้มีประสบการณ์กับคนที่ไม่มีประสบการณ์ "กึ๋น" ช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องที่ไม่ได้บอก มันคือคลังแสงที่อยู่ในหัวที่พร้อมจะเอามาประติดประต่อเรื่องตรงหน้า และเราสามารถสร้าง "กึ๋น" ได้ 3 วิธี
วิธีที่ 1 ทำงานเยอะๆซ้ำๆหลายๆปี ซึ่งต้องรอเวลา
วิธีที่ 2 ให้คนเก่งมาเป็นนาย เป็นพี่เลี้ยงช่วยสอน ซึ่งต้องพึ่งโชค หลายครั้งเราก็เลือกนายไม่ได้
วิธีที่ 3 รับฟีดแบกจากคนรอบตัว แล้วนำมาพัฒนาตนเอง ซึ่งข้อนี้แหละที่อยู่ที่ตัวเราเองและหาได้เลยตอนนี้
2. ทำไมต้องรับฟัดแบก ลองสมมติให้เหมือนเกมส์
"ฟีดแบกดีๆ เหมือนไอเทมที่ดรอปมาจากมอนสเตอร์ ดาบที่ดรอปไอเทมนี้มีชื่อว่า “อ่อนน้อมถ่อมตน” ใช้ไปเรื่อยๆจะอัพเกรดตัวเองสู้ระดับ “ไร้อัตตา” ก็ยิ่งได้ไอเทนแรร์ขึ้นเรื่อยๆ อย่าเสียเวลาเถียงฟังแล้วเก็บไอเทมไว้ก่อน"
ปกติเวลาเล่นเกมส์เราก็เก็บไอเทมไว้ก่อนแล้วเลือกทีหลังใช่ไหมครับ ฟีดแบกก็เช่นกัน รับมาก่อนอย่าพึ่งกันด้วย ego รับมาแล้วค่อยเลือกว่าจะรับมาปฎิบัติหรือไม่ อันนั้นเป็นสิทธิของเรา
1
3. อย่าเอาไม้บรรทัดวัด “เด็กสมัยเรา” มาวัด “เด็กสมัยนี้” เราให้คำแนะนำได้แต่อย่าไปดูถูกเขา ตอนเด็กเราก็คิดว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจใช่ไหม เราก็เบื่อเวลาที่ผู้ใหญ่พูดเรื่องเก่าที่เปลี่ยนไปแล้วใช่หรือป่าว อย่าไปด่าสิ่งที่เราเองก็โดนด่ามาก่อน ถ้าเรื่องไหนเขาเก่งกว่าเราก็รับคำแนะนำได้เช่นกัน ไม่อย่างนั้นอาาจะติดหล่มอายุเยอะ หนังเหนียว ก้าวตามโลกไม่ทัน
4. "ลูกค้าไม่รู้แต่ลูกค้าไม่เคยผิด" ลูกค้าที่ไม่รู้และมักจะถามจนน่ารำคาญ เราอาจจะไม่ชอบในตอนต้นแต่เชื่อเถอะว่าดีกว่าลูกค้าที่ไม่รู้แต่เดินจากไปเลยเป็นไหนๆ หน้าที่ของเรามีแค่สองอย่าง คือ ตอบให้เร็ว ตอบซ้ำ ตอบสุภาพ และปรับวิธีสื่อสาร วิธีเขียน วิธีเน้น เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องลำบากถาม ลูกค้าไม่มีหน้าที่ทำความเข้าใจถ้ามันไม่ง่ายพอ และที่สำคัญความง่ายมันเป็นตัวแปรกำหนดยอดขายอีกตัวด้วยครับ
5. เลิกนำเสนอแบบ FAB แล้วมานำเสนอแบบ BAF จะดีกว่า ถ้าคิดจากมุมเจ้าของสินค้า เราก็มักจะเคยชินและเรียงลำดับความคิดนำเสนอแบบ FAB คือ Features-Advantages-Benefits นั่นคือ เสนอก่อนว่าเราขายอะไร แล้วมันทำอะไรได้ แล้วลูกค้าจะได้อะไร ซึ่งจริงๆแล้วลูกค้าไม่ได้อยากฟังสองอย่างแรกหรอก เขาแค่อยากรู้ว่าเขาได้อะไร ต้องเปลี่ยนใหม่เป็น BAF คือ Benefits-Advantages-Features บอกลูกค้าไปเลยว่าลูกค้าได้อะไร แล้วค่อยบอกว่าเราทำอะไรได้และมีคุณลักษณะยังไงเพื่อเป็นหลักฐษนยืนยัน จะทำให้ Benefits ที่เรานำเสนอหนักแน่นกว่า ผมคิดว่าไม่ได้ใช้ได้กับการนำเสนอลูกค้าเท่านั้นนะครับ การนำเสนอทั่วไปในออฟฟิสก็เป็นเช่นนี้เช่นกัน
6. “จุดขาย” ช่วยให้ลูกค้าอยากซื้อ แต่ ”จุดซื้อ” ต่างหากที่ช่วยให้ลูกค้า “ซื้อ” ปิดการขายแค่มี “จุดขาย” ไม่พอ แต่ต้องมี “จุดซื้อ” ด้วย คือ มี Trigger ที่ทำงานต่อจากจุดขาย จุดขายทำให้ลูกค้าอยากซื้อ แต่จุดซื้อจะทำให้ลูกค้าดำเนินการต่อ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ลดข้อสงสัย ปิดเหตุผลในการไม่ซื้อ เช่น ราคาเท่าไร มีประกันไหม จัดส่งหรือป่าว บริการหลังการขายเป็นยังไง ไม่ต้องกระตุ้นความอยากซื้อ ไม่ต้องเยิ่นเยื้อ ลูกค้าเขาอยากซื้อแล้วแค่บอกว่าต้องทำยังไงต่อ
7. บริหารอัตตาผ่านเปลือกกับแก่น ถ้าถามว่าต้องเลือกเปลือกหรือแก่น คงตอบไม่ยากว่าทุกสินค้าและบริการต้องมีแก่นของมันก่อน แต่ถ้าถามว่าเปลือกหรือแก่นอะไรสำคัญกว่ากัน อันนี้น่าจะต้องคิดนานหน่อยโดยเฉพาะในยุคนี้ ทำไมนักร้องเสียงดีมากถึงไม่ได้เกิดเพราะหน้าตาธรรมดา เพราะมันไม่บันเทิงพอ คนฟินกับหน้าตากับเสียงที่ดีแต่ไม่ต้องดีที่สุด ไม่เกี่ยวกับแก่นหรือเปลือกแต่เกี่ยวกับว่าลูกค้าสนอะไร มัวแต่หลงไหลในแก่นตัวเอง แล้วก็คิดว่าที่ขายไม่ได้ เพราะลูกค้าผิดเพราะเข้าไม่ถึงแก่นก็คงไม่มีทางเข้าถึงลูกค้าตลอดกาล ข้อนี้เขียนไว้เตือนและเขกหัวคนบ้าแก่นอย่างตัวผมเองครับ
8. “ดื้อกับยืนกราน ต่างกันที่ว่า “ใครทำ”” ทั้งดื้อและยืนกรานเหมือนกันเพราะอยากได้เป้าหมายเป็นหลัก แต่ยืนกราน เราต้องมาลงรายละเอียดเอง ไม่เหมือนดื้อที่อยากได้แต่อาจจะไม่ลงมือทำ ครั้งต่อไปถ้ามีเป้าหมายชัด ก็จงยืนกรานแต่อย่าดื้อ ดื้อไม่สร้างความร่วมมือและงานอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ยืนกรานเราเองจะควบคุมให้เข้าหาเป้าหมายได้ทีละนิด และการทำให้ดูก็มักสร้างความร่วมมือได้ดีกว่าดื้อสั่งเฉยๆ
9. “ไม่มีหรอกที่ทำไม่ได้… มีแต่วืธีทำได้ที่เราไม่รู้ต่างหาก” และ “คิดว่ามันทำได้เอาไว้ก่อน” ถ้าเรามีความเชื่อแบบนี้ ความเป็นไปไม่ได้ในหัวเราจะหายไปเยอะ mindset เราจะยืนหยุ่นขึ้นเอง
10. “เราเดือดร้อน เรานั้นรับผิดชอบ” ความเกรงใจเป็นคุณสมบัติของผู้แพ้ ถ้าผลลัพธ์เป็นคุณที่ต้องรับผิดชอบ ความเกรงใจก็เป็นแค่การโยนผลลัพธ์ไปให้ผู้อื่นดูแลทั้งๆที่บางทีตัวผู้อื่นอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราต้องการให้เขาทำอะไรให้ และการทำแบบนั้นเท่ากับคุณไม่รับผิดชอบเพราะคุณไม่ยอมควบคุมผลลัพธ์เอง จำไว้ว่า สิ่งที่คุณต้องทำจริงๆ มีเพียงแค่อย่างเดียวคือ สิ่งที่ถ้าคุณไม่ทำมันจะทำให้คุณเดือดร้อน
เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ผมขอจบ 10 ข้อคิดแรกที่ผมได้จากหนังสือ #แปดสิ่ง เอาไว้เท่านี้ก่อน ถ้าชอบก็อยากให้ติดตามตอนต่อไปในอาทิตย์หน้า แต่ถ้าชอบมากๆ ผมคิดว่าท่านควรไปซื้อหนังสือมาอ่านเลยดีกว่า รายละเอียดมีมากกว่านี้มากครับ
หวังว่าจะชอบ และติดตามต่อไปครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา