31 ม.ค. 2022 เวลา 05:50 • ประวัติศาสตร์
Happy Chinese New Year.
新正如意 新年发财 (ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้) สวัสดีรับวันตรุษจีน
"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้"
คิดหวังสิ่งใด ขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี สุขภาพดี ร่ำรวยเงินทอง เฮง เฮง
“เทศกาลตรุษจีน” หรือ “วันตรุษจีน” ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ จากการค้นคว้าของ กิตติธัช นําพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่นที่ ๓ เจ้าของกิจการปฏิทินน่ำเอี้ยง ซึ่งเป็นปฏิทินจีนฉบับภาษาไทยที่ได้รับความนิยมมากในไทย ได้พบข้อมูลว่าเทศกาลตรุษจีนอาจเริ่มต้นในราชวงศ์โจว 周朝 (๑๐๔๖-๒๕๖ ปีก่อนคริสตศักราช) เริ่มใช้คำว่า “Nián (年)” ซึ่งมีความหมายว่า “ปี” ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ ๑ เดือน ๑ และชาวจีนเริ่มนิยมสักการะเทพเจ้า และบรรพบุรุษ เพื่อขอพรจากฟ้าดิน ให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม มีกิน มีใช้ ตลอดทั้งปี
ดังนั้น เทศกาลปีใหม่จีนจึงไม่ตรงกันในแต่ละปี และไม่ตรงกับปฏิทินสากล โดย “วันตรุษจีน” จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของฤดูหนาว (大寒 ) และเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ (立春) ที่แสงอาทิตย์มีอิทธิพลสร้างความอบอุ่น บรรเทาความหนาวจนสิ้นสุดลง และดอกไม้ต่างๆ เริ่มผลิบาน จึงตั้งเป็นวันแรกของฤดูทั้ง ๒๔ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน
คนไทยรับประเพณีวัฒนธรรมจีนเข้ามาในสังคมไทยมาช้านาน ผสมกลมกลืนจนคนไทยไม่รู้สึกว่าประเพณีจีนเป็นสิ่งแปลกในวิถีชีวิต แม้ไม่สามารถจะระบุได้ว่าวัฒนธรรมจีนมามีอิทธิพลในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่ในทางประวัติศาสตร์พอจะอนุมานได้ว่าธรรมเนียมประเพณีแบบจีนเป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างช้า
เคยสงสัยกันไหม...ทำไมคนไทยเรียกไชนีส (Chinese) ว่า "จีน"
รากเดิมของจีนมาจากภาษาบาลีสันสกฤต จีน (อ่านว่า จีนะ) ปรากฏในพระไตรปิฎกและวรรณกรรมโบราณของอินเดียก่อนคริสตกาลหลายชิ้น เช่น คัมภีร์อรรถศาสตร์ คัมภีร์มนูศาสตร์ มหาภารตะ จึงอนุมานได้ว่าชื่อนี้ถูกใช้เรียกขานมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลแล้ว
นอกจากนี้ก็พบในภาษาเปอร์เซียคือ จีนี (Chīnī چین) หรือ จีน (Chīn) ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาลีสันสกฤตอีกต่อหนึ่ง คำนี้ถูกส่งต่อให้ชาติตะวันตกโดยคำว่า China ปรากฏครั้งแรกว่าใช้งานโดยนักเดินเรือชาวโปรตุเกสสมัยต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๖ นอกจากนี้ก็ยังมีการแผลงเรียกแตกต่างกันไปในหลายประเทศ
สำหรับไทย เข้าใจว่ารับมาจากภาษาบาลีสันสกฤต เพราะภูมิภาคอุษาคเนย์มีการติดต่อกับอินเดียมาตั้งแต่โบราณครับ
มีการตั้งสมมติฐานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรษที่ ๑๗ ว่าคำว่า จีนะ มารากศัพท์มาจาก ฉิน (秦) ซึ่งเป็นชื่อรัฐทางตะวันตกของจีนในสมัยโบราณตั้งแต่ ๙๐๐ ปีคริสตกาล ก่อนที่ขยายอำนาจรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวแล้วสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้นเมื่อ ๒๒๑ ปีก่อนคริสตกาล
แต่ในปัจจุบันก็มีนักภาษาศาสตร์บางคนเช่น เจฟ เวด (Geoff Wade) เสนอว่า จีนะ น่าจะมาจากอาณาจักรเย่หลาง (夜郎) ในมณฑลกุ้ยโจวปัจจุบัน ซึ่งประชากรเรียกตนเองว่า Zina
แม้ว่าชาวจีนในสมัยหลังจะไม่ได้เรียกขานตนเองเช่นนั้น แต่ต่างชาติก็เรียกขานต่อไปตามที่ตนเองได้ยินและรับรู้มาในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศที่คนต่างประเทศจะเรียกชื่อประเทศไม่ตรงกับเจ้าของประเทศครับ
รฤก รัก
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
โฆษณา