31 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บทเรียน "บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่" ของอเมริกา ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
2
มีหลายคนกล่าวไว้ว่า “เมื่อชีวิตต้องเจอเข้ากับวิกฤติ ถ้าเรามีประกันภัยไว้ก็คงจะอุ่นใจไปได้ในระดับหนึ่ง” แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากตอนเกิดวิกฤติขึ้นมา บริษัทประกันที่เราถือไว้ มีท่าทีไม่สามารถจ่ายเงินสินไหมให้เราได้ และดัน(เกือบ)ล้มละลายไปเสียก่อน...
1
เรื่องราวแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงหลังเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เมื่อในตอนนั้นบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของอเมริกาและของโลกด้วย อย่างบริษัท American International Group (AIG) ที่ประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก จนถึงขั้นที่ว่า ในตอนนั้นถ้ารัฐบาลอเมริกาไม่ยื่นเข้ามาช่วย ก็คงจะล้มละลายไปแล้ว
2
ในบทความนี้ทาง Bnomics จะมาเล่าให้ทุกคนฟังว่า ในตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นกับ AIG
📌 AIG ไม่อยากตกขบวนตลาดบ้านที่เฟื่องฟูตั้งแต่ยุค 90
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1990 เรื่อยมาจนถึงปี 2000 ต้นๆ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดบ้านของอเมริกาเติบโตได้ดีอย่างมาก ทางสถาบันการเงินต่างๆ ก็ได้พยายามสร้างสินทรัพย์ ที่จะสร้างเงินหมุนเวียนและรายได้ให้กับพวกเขามากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ Mortgage-backed securities (MBS) หรือสินทรัพย์ที่มีพวกหนี้อสังหาริมทรัพย์อย่างบ้าน ที่ดิน คอยหนุนหลังมูลค่าของมันอยู่
2
นอกจากนั้น เจ้า MBS ก็ถูกแปลงร่างเพิ่มเติมไปสร้างสินทรัพย์ต่อไปอีกเป็นทอดๆ เรียกกันว่า Collateralized debt obligation (CDO) โดยสรุปกันง่ายๆ สินทรัพย์พวกนี้ ก็จะไปได้ดีหากตลาดบ้านในอเมริกายังไปได้ดีอยู่ และหากลูกหนี้ที่กู้ซื้อบ้านยังใช้หนี้คืนอย่างดี ตรงต่อเวลาเสมอ ทุกคนก็มีความสุข ซึ่งในช่วงแรกที่สินทรัพย์เหล่านี้ออกมา ทุกอย่างก็ไปได้ดีแบบนั้นเลยครับ
ทาง AIG ก็เล็งเห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากสินทรัพย์พวกนี้เช่นกัน โดยส่วนงานหนึ่งของบริษัทอย่าง AIG Financial Products (AIGFP) ที่ปกติรับประกันความเสี่ยงในสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ อยู่แล้ว ก็ไปนั่งระดมความคิดจนออกมาเป็นประกันภัยตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า “credit default swap หรือ CDS”
1
CDS มันก็คือประกันที่ออกมาบอกว่า ถ้า CDO ที่ผูกกับ CDS หนึ่งๆ มันล้มขึ้นมา (ลูกหนี้บ้านเบี้ยวหนี้เยอะๆ) ทางบริษัทเจ้าของประกันก็จะจ่ายเงินสินไหมทดแทนให้
ซึ่งตอนนั้น ทาง AIG ก็ไม่คิดหรอกว่า จะมี CDO จำนวนมากที่ล้มจนพวกเขาต้องจ่ายเงินสินไหมมหาศาล เพราะบริษัทผู้จัดความน่าเชื่อถือ (rating company) รายใหญ่ๆ ก็จัดให้ CDO มีความน่าเชื่อถือสูงและมีความเสี่ยงต่ำกันทั้งนั้น (CDO จำนวนมากได้เกรดดีมากถึงขั้น AAA ในขณะนั้น)
2
โดย CDS ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงแรก พวกสถาบันการเงินต่างๆ ก็แห่กันเข้ามาทำสัญญาประกันกับ AIGFP จนทำให้รายได้ของ AIGFP ส่วนเดียวพุ่งทะยานจาก 737 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปเป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 17.5% ของทั้งบริษัท ภายในเวลาแค่ 5 ปี
3
📌 ฟองสบู่แตกในตลาดบ้าน ที่ทำให้ AIG เกือบล้มละลาย
1
แต่อย่างที่เราทราบกัน ตลาดบ้านของอเมริกาก็ถึงคราวฟองสบู่แตกในปี 2008 เนื่องจากความหละหลวมในการปล่อยกู้กับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (subprime lending) จนทำให้สินทรัพย์ต่างๆ ที่อิงอยู่กับตลาดบ้านก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบลามไปสู่ภาคต่างๆ ของเศรษฐกิจอเมริกา จนเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
1
ในภาคการเงินที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ต้องล้มหายตายจากไป กรณีที่โด่งดังก็คือ Lehman Brothers ซึ่งในตอนนั้นเป็นวาณิชยากร (investment bank) อันดับ 4 ของอเมริกา ที่ประกาศล้มละลาย หลังจาก Henry Paulson รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในขณะนั้น บอกว่า “จะไม่มีการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือบริษัทในวอลสตรีทอีกแล้ว”
1
แต่หลังจากการประกาศครั้งนี้เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ก็ได้ยื่นมือเข้าไปช่วย AIG ด้วยวงเงินเริ่มต้นกว่า 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก่อนที่ต่อมาจะอัดฉีดเพิ่มอีกกว่าหลายหมื่นล้าน) โดยสิ่งที่ AIG ต้องแลกคืนเพื่อให้ได้เงินก้อนนี้ ก็คือ หุ้นกว่า 79.9% ที่ให้เฟดเข้าไปถือครอง
โดยสาเหตุที่ AIG ไปต่อไม่ได้จนต้องขอความช่วยเหลือถูกวิเคราะห์จาก Kellogg School of Management ไว้ด้วยกัน 2 ประการ คือ
1) จำนวนเงินสินไหมมหาศาลถึง 25,000 ล้านดอลลาร์จากสัญญา CDS ที่ AIG ต้องจ่ายออกไป แต่เงินสินไหมส่วนนี้พึ่งจะเป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะในสัญญารับประกันจำนวนมากของ AIG มีสิ่งที่เรียกว่า “เงินค้ำประกัน (Collateral)” ด้วย ซึ่งปกติเงินส่วนนี้ ก็จะไม่เยอะมากหากความเสี่ยงของสินทรัพย์ยังไม่สูง
แต่ตอนเกิดวิกฤตินั้น ผู้คนเริ่มไม่เชื่อมั่นในตัวของ AIG อีกต่อไป หลังจากต้องจ่ายเงินสินไหมจากสัญญา CDS จำนวนมหาศาล ทางบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็ลดเกรดของ AIG ลง จนทำให้พวกเขาต้องวางเงินค้ำประกัน ในสัญญาประกันที่ยังไม่สิ้นสุดมากขึ้นด้วย เพื่อรับการันตีว่า พวกเขายังจะมีความสามารถในการจ่ายเงินสินไหมให้บริษัทเหล่านั้นได้ หากเกิดเหตุการณ์การล้มของสินทรัพย์อีก
2
2) เงินที่ต้องหามาคืนจากการปล่อยให้คนอื่นยืมสินทรัพย์ (Securities Lending) อธิบายก็คือ ทาง AIG จะมีการทำธุรกรรมส่วนหนึ่ง คือ การให้คนอื่นมายืมสินทรัพย์ที่ทาง AIG เป็นเจ้าของอยู่ไปใช้ โดยทางคนยืมก็จะวางเงินส่วนหนึ่งไว้กับ AIG เพื่อการันตีว่า พวกเขาจะนำสินทรัพย์มาคืน ซึ่ง AIG ก็จะได้ค่าธรรมเนียมจากการที่บริษัทอื่นขอยืมเป็นการตอบแทน
แต่ในตอนที่เกิดวิกฤติก็มีปัญหาขึ้นมา เพราะทุกคนที่เคยยืมสิ่งของของ AIG ไป ก็เริ่มกังวลว่า AIG จะไม่สามารถคืนเงินประกันที่วางไว้ได้ จึงยกเลิกสัญญายืมพร้อมๆ กัน โดยที่ยิ่งแย่ ก็คือ AIG ดันนำเงินส่วนนั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวที่มีความผันผวน ทำให้พอจะต้องการเงินจริงๆ ก็จะยากลำบากขึ้น
2
เมื่อรวมสองข้อเข้าด้วยกัน ทาง AIG จึงต้องการสภาพคล่องและเงินสดจำนวนมาก มาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อ จนนำมาซึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างที่กล่าวข้างบน
📌 ความไม่พอใจของประชาชนและบทเรียนที่รัฐบาลอเมริกาได้รับ
การช่วยเหลือครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย เพราะพวกเขามองว่า การเข้ามาช่วยนี้เป็นการนำเงินภาษีของพี่น้องประชาชน มาช่วยเหลือนายทุนที่ทำผิดพลาดจากการลงทุนของตัวเอง
1
ซึ่งเรื่องนี้ อดีตผู้ว่าการเฟด ในสมัยนั้นอย่าง Ben Bernanke ก็เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกันว่า การเข้าไปช่วยเหลือ AIG เป็นสิ่งที่ทำให้เขาโกรธมากที่สุดอย่างหนึ่งในวิกฤติครั้งนั้นเลย แต่เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกใดนอกเสียจากต้องเข้าไปช่วยเหลือ
เพราะทาง AIG มีขนาดใหญ่มาก และมีความสัมพันธ์กับกองทุนรวมและกองทุนเกษียณทั่วโลก การปล่อยให้ AIG ล้มไป จะสามารถสร้างคลื่นของวิกฤติระลอกใหม่ได้
1
ซึ่งบริษัทที่ใหญ่จนไม่อาจล้มได้แบบนี้ หลายคนก็จะเรียกกันว่า “Too Big to Fail” ซึ่งมีการนำชื่อนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2011 ด้วย
1
แต่การลงทุนใน AIG ก็อาจจะไม่ได้แย่นักสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ หากพิจารณาแค่ในแง่ผลตอบแทน เพราะ หลังจากพวกเขาขายคืนหุ้นของ AIG จนหมดในปี 2013 รวมเงินที่ได้คืนทั้งหมดเท่ากับพวกเขาได้ดอกเบี้ยมากกว่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2
อย่างไรก็ดี ทางอเมริกาก็ได้รับบทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้ไม่น้อย และถ้าเลือกได้พวกเขาก็คงไม่อยากที่จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือบริษัททางการเงินพวกนี้อีกแล้ว
1
จนทำให้หลังวิกฤติครั้งนี้ มีมาตรการการป้องกันและตรวจสอบสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น บทบาทของธนาคารกลางเดิมที่พิจารณาแค่ภาพเศรษฐกิจใหญ่ๆ ก็เพิ่มส่วนความเสี่ยงย่อยๆ ที่เกิดขึ้นเข้ามาด้วย บริษัทมหาอำนาจทางการเงินในวอลสตรีทที่เคยมีอิสระเสรีมากกว่านี้ ก็ต้องถูกผูกด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างความรับผิดชอบที่มากขึ้น เหมือนดังประโยคชื่อดังจากหนังสไปเดอร์แมนอยู่ไม่น้อยที่ว่า “พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”
3
#อาคเนย์ประกันภัย #AIG #ประกันภัย #Subprimecrisis #วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
2
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา