1 ก.พ. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
​ กระแสดิจิทัลเขย่าระบบการเงินโลก ใครปรับตัวอย่างไร?
1
​ระบบการเงินโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา พอมาช่วงโควิด-19 มาตรการล็อคดาวน์และมาตรการป้องกันโควิดทำให้ชีวิตประจำวันของคนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจแทบทุกอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ภาคการเงินเท่านั้น ต้องหันมาเร่งทำ digital transformation ครั้งใหญ่ นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับกระบวนการภายใน ปรับกระบวนการทางธุรกิจ ลองใช้ข้อมูลรูปแบบใหม่ ๆ มาวางกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อปรับเข้าหาวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงได้ทันการณ์ บทความนี้อยากชวนผู้อ่านมาเกาะติดเทรนด์ระบบการเงินในกระแสดิจิทัลของโลกและการปรับตัวสู่อนาคตกันค่ะ พอจะยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด 4 เรื่องด้วยกัน
2
1. กระแสดิจิทัลแบงก์กิ้ง (digital banking) มาแรง
อันที่จริงธนาคารปรับรูปแบบการบริการลูกค้าให้สามารถทำธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้โดยไม่ต้องไปสาขามานานแล้ว พร้อม ๆ กับทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐแต่ละประเทศ พอมาเจอการแพร่ระบาดของโควิด ธนาคารจึงมีความพร้อมมากพอรองรับผู้บริโภคที่หันมาใช้ธุรกรรม digital banking ในอัตราเร่งสูงขึ้นมาก จากรายงานการสำรวจของบริษัท McKinsey ปี 2564 ชี้ว่า ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้ digital banking เพิ่มขึ้นมากจาก 55% ในปี 2560 เป็น 88% ของกลุ่มผู้ตอบในปี 2564 ที่น่าสนใจคือสัดส่วนนี้เข้าใกล้พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ค่อนข้างอยู่ตัวราว 90%
1
หากมองไปข้างหน้าเทรนด์นี้น่าจะเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย เพราะราว 80% ของผู้บริโภคกลุ่มนี้มองว่า แม้โควิดจบลงไปแล้วก็จะยังคงใช้ digital banking สูงเช่นนี้อยู่ นอกจากนี้ ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บริการทางการเงินของบริษัท Accenture ในปี 2564 พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกที่จัดว่าเป็นกลุ่ม pioneers สนใจติดตามพร้อมที่จะทดลองใช้บริการทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลและอุปกรณ์มือถือเพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2561 เป็น 24% โดยเฉพาะในจีน ไทย อินโดนีเซียที่มีกลุ่ม tech savvy เกินครึ่งหนึ่งของผู้ตอบ
1
2. ผู้เล่นที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) เข้ามาแบ่งเค้กในระบบการเงินโลก
ผู้เล่นที่มีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินโลกนำโดยกลุ่มผู้เล่น non-bank หน้าเดิมที่พอคุ้นชื่อกัน เช่น บริษัทประกัน กองทุนรวม กองทุนบำนาญ ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในโลก (Financial Stability Board) ในปี 2564 พบว่า มูลค่าสินทรัพย์ของ non-bank กลุ่มนี้มีสัดส่วนในสินทรัพย์รวมของระบบการเงินโลกสูงขึ้นเรื่อยมาจนเกือบเป็นครึ่งหนึ่งแล้ว
1
ขณะที่สัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคารผู้เล่นดั้งเดิมลดลงมาเหลือราว 40% ที่เหลืออีก 10% เป็นขนาดสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคารกลาง สำหรับอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ non-bank กลุ่มนี้ พบว่าเติบโตเฉลี่ยสูงกว่า 6% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แซงหน้าอัตราการเติบโตของสินทรัพย์กลุ่มธนาคารที่ไม่ถึง 5% ยกเว้นในช่วงโควิดที่มูลค่าสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคารกลับมาเติบโตสูงกว่า เพราะต้องเร่งสนองมาตรการการเงินของภาครัฐที่ทำผ่านกลไกธนาคารเพื่อให้ภาคการเงินช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
1
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้เล่น non-bank หน้าใหม่เข้ามาเพิ่มอีก จากรายงานวิเคราะห์ของบริษัท Accenture ชี้ว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมภาคการเงินโลกเปลี่ยนไปมากในรอบทศวรรษ เพราะมีธนาคารผู้เล่นดั้งเดิมออกจากตลาดไปถึง 1 ใน 3 ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ เช่น ผู้ให้บริการชำระเงิน บริษัทฟินเทค เดินหน้าเข้าตลาดเพิ่มมาราว 1 ใน 5
ที่น่าสังเกตคือแม้ในช่วงโควิดระบาดรุนแรง แต่จำนวนบริษัทฟินเทคที่กลายเป็น unicorn ได้ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า (จาก 61 ราย ณ เม.ย. 63 เป็น 108 รายในปี 2564) แม้แต่กลุ่มผู้เล่นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (big tech) ระดับโลก เช่น Apple Google Amazon Uber ก็สนใจขยายขอบเขตมาให้บริการทางการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน ให้กู้ยืม ทำประกัน หรือลงทุนทางการเงิน โดยอาศัยจุดแข็งที่มีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ที่เข้าถึงพฤติกรรมเชิงลึกหลากหลาย ถนัดใช้ปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อมุ่งนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ เฉพาะคนได้สะดวกในแพลตฟอร์มของตนเอง
3
ในระยะหลังจึงเห็นกลุ่มธนาคารผู้เล่นดั้งเดิมเร่งปรับตัวในยุคดิจิทัล disruption หันมาสร้างพันธมิตรกับผู้เล่นหน้าใหม่ มองหาจุดแข็งระหว่างกัน เพราะธนาคารเองมีต้นทุนความน่าเชื่อถือที่สะสมมานานและมีฐานลูกค้าเดิม
ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่เก่งในการพัฒนาเทคโนโลยีการเงินหาโซลูชั่นตอบโจทย์ลูกค้าได้ไว ใช้งานง่าย สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าที่อาจยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคารมาก่อน รวมถึงบางรายมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในโลกโซเชียล เพื่อสุดท้ายจะได้เข้าใกล้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลมากขึ้น
1
มองไปข้างหน้ากูรูการเงินระดับโลกต่างเห็นว่า อุตสาหกรรมการเงินในอนาคตจะเป็นการร่วมมือกันและการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างผู้เล่นหน้าเก่าและใหม่ คือ กลุ่มธนาคาร บริษัทฟินเทค และบริษัท big tech ชูจุดขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างกัน มีโอกาสขยายตลาดจากภายในประเทศ สู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ภายใต้โลกการเงินดิจิทัลที่เชื่อมโยงธุรกรรมระหว่างประเทศให้สะดวกขึ้น
1
3. สินทรัพย์ดิจิทัลและระบบการเงินไร้ตัวกลางเติบโตยกกำลัง
ระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตแบบยกกำลังโดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) เป็น game changer เบื้องหลังที่เปิดทางให้ภาคเอกชนสามารถสร้าง “คริปโทเคอร์เรนซี” ขึ้นเองได้ ซึ่งจัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นทั้งสกุลเงินดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัลในตัวเอง ใช้แลกเปลี่ยน โอน ลงทุน หรือซื้อขายระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงินแบบเดิม การทำธุรกรรมการเงินการลงทุนจึงสะดวกรวดเร็วขึ้นลดต้นทุน ช่วยลด pain point ของบริการการชำระเงินในปัจจุบัน โดยเฉพาะการโอนเงินข้ามประเทศ
2
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา “สเตเบิ้ลคอยน์” ด้วยกลไกตรึงราคาคริปโทเคอร์เรนซีให้คงที่และหนุนหลังด้วยสินทรัพย์ที่น่าเชื่อถือ/คริปโทฯ เองเพื่อลดความผันผวนของราคาให้มีมูลค่าคงที่ใช้งานคล้ายเงินได้ดีขึ้น ทำให้ในปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลที่ภาคเอกชนสร้างขึ้นมากว่า 15,000 สกุล ซื้อขายกันได้ในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและเชื่อมโยงสู่ “ระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance: DeFi)” ที่มีบริการทางการเงินและการลงทุนดิจิทัลหลากหลาย เข้าผ่านแอพพลิเคชั่นการเงินที่ไร้พรมแดนประเทศและไม่มีการกำกับดูแลจากภาครัฐ จัดว่าเป็นผู้เล่น non-bank หน้าใหม่ไร้ตัวตนที่เพิ่มมาในระบบการเงินโลก และกลายเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงสูงได้
4
สำหรับภาคธุรกิจก็สนใจออก “โทเคนดิจิทัล” มาใช้ในระบบนิเวศทางธุรกิจของตัวเองภายใต้เงื่อนไขที่หน่วยงานกำกับดูแลแต่ละประเทศวางไว้ ซึ่งจัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภทที่บริษัทสามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ถือว่าให้เป็น “โทเคนเพื่อการลงทุน (investment token)” คล้ายการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือ “โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token)” เพื่อให้ผู้ถือเอาไว้ใช้บริการหรือแลกสินค้าของบริษัทตามที่ตกลงไว้
มูลค่าตามราคาตลาดของคริปโทเคอร์เรนซีเติบโตมากเกือบ 3 เท่าในช่วงโควิด ทำ all-time high เข้าใกล้ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2564 ก่อนปรับตัวลงรุนแรงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเร่งลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินและหลายประเทศเริ่มออกกฎระเบียบคริปโทเคอร์เรนซีที่เข้มงวดขึ้น เช่นเดียวกับ DeFi ที่เติบโตเกิน 10 เท่าภายในปี 2564 มูลค่าราคาสินทรัพย์รวมที่เก็บไว้ใน DeFi ทำ all-time high จาก 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2563 มาเป็นกว่า 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2564 ก่อนจะปรับตัวลงมาตามทิศทางตลาดคริปโทเคอร์เรนซี
2
4. ความสนใจออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (central bank digital currency: CBDC) เพิ่มขึ้นมาก
1
ล่าสุดธนาคารกลางในโลกสนใจศึกษาและพัฒนาการออกใช้ CBDC สำหรับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale) และรายย่อย (retail) มากถึง 86% เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนหรือเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชำระเงินของประเทศ เพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินดิจิทัลของประชาชนที่อาจยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารหรือผู้ให้บริการชำระเงินอื่น รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินสดดิจิทัลของธนาคารกลางได้อย่างปลอดภัยและไม่มีความเสี่ยงเท่าการถือสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชนที่มีจำนวนมากในโลกการเงินยุคดิจิทัล
น่าสังเกตว่าจำนวนธนาคารกลางที่สนใจ CBDC เพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ภายในเวลาไม่กี่ปี ธนาคารกลางส่วนใหญ่เริ่มศึกษาทำความเข้าใจการใช้ DLT สำหรับ wholesale CBDC เพื่อชำระธุรกรรมการเงินระหว่างสถาบันการเงินในประเทศก่อน บางแห่งเริ่มขยายขอบเขตทดลองใช้ wholesale CBDC ระหว่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ไทย ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้
สำหรับ retail CBDC บางประเทศออกใช้จริงแล้ว เช่น บาฮามาส (Sand Dollar) อิสเทิร์นแคริบเบียน (DCash) ขณะที่หลายประเทศกำลังทำ pilot project เช่น จีน เกาหลีใต้ สวีเดน นอกจากนี้ ยังมีธนาคารกลางจำนวนมากที่ออกรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะออกใช้ retail CBDC เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนและธุรกิจก่อน เช่น สหราชอาณาจักร ไทย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ เพราะนอกจาก retail CBDC จะเป็นโอกาสใช้นวัตกรรมการเงินให้เกิดประโยชน์ แต่ก็อาจมีความเสี่ยงที่ต้องชั่งน้ำหนักหรือออกแบบปิดความเสี่ยง เช่น การจัดการความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ผลกระทบต่อระบบธนาคาร การเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเงินของประเทศ ความเชื่อมโยงกับระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการมองหาทางเลือกอื่นที่ตอบโจทย์ได้เหมือนกันแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า
4
จะเห็นได้ว่าการปรับตัวรับกระแสดิจิทัลในระบบการเงินโลกเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ธุรกิจผู้เล่นหน้าเดิม-ผู้เล่นหน้าใหม่-ผู้เล่นไร้ตัวตนในภาคการเงิน ธนาคารกลาง รวมถึงภาครัฐ เพื่อหาทางนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ประโยชน์เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต ในรอบทศวรรษหน้าเชื่อว่าโลกการเงินดิจิทัลจะยิ่งเปลี่ยนไวขึ้นอีก ถึงเวลาเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจ เปิดรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่จะเกิดขึ้นกันค่ะ
2
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
1
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
โฆษณา